xs
xsm
sm
md
lg

มองชีวิต “จีนสยาม” ผ่าน “ตรุษจีน”

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพข่าวตรุษจีนที่ปรากฏบนหน้า 1 หนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกบนหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2535 (ภาพเอเยนซี)
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการฉลองตรุษจีนแต่ละปีดูยิ่งใหญ่ขึ้นทุกที กระทั่งกล่าวได้ว่าตรุษจีนได้กลายเป็นงานระดับชาติ เสียแล้ว ดังปรากฏเป็นภาพข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ทั้งยังมีบุคคลสำคัญระดับชาติเข้าร่วมงานจนกลายเป็นข่าวดัง

อย่างไรก็ตามหากเราลองพินิจเทศกาลตรุษจีน ผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์จะพบว่า ความเปลี่ยนแปลงของเทศกาลตรุษจีนเป็นเครื่องสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของ “ชีวิตจีนสยาม” ได้อย่างชัดเจน อย่างน้อยก็สำหรับชีวิตจีนสยามในช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นับแต่ปลายทศวรรษ 2490-ปัจจุบัน

ตรุษจีนยุคเผด็จการทหาร

นับแต่ทศวรรษ 2490-กลางทศวรรษ 2510 เผด็จการทหารสร้างความชอบธรรมให้กับตนโดยอ้างภาระหน้าที่ปกปักรักษา “ความเป็นไทย” ที่กำลังถูกภัยคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จีนแดง” คุกคาม ภายใต้บริบทดังกล่าว “ความเป็นจีน” ถูกทำให้กลายเป็นอื่น เป็น “ปมด้อย” ที่น่ารังเกียจ กระทั่งทำให้ลูกจีนจำนวนมากต้องเปลี่ยนจากการใช้ชื่อแซ่มาเป็นชื่อนามสกุลแบบไทย พร้อมกับถอยห่างจากวัฒนธรรมจีนในหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ภาษาจีน”

แน่นอนว่าภายใต้บริบทนี้การเฉลิมฉลองตรุษจีนไม่ได้ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ อลังการแบบปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ในช่วงทศวรรษ 2490-กลางทศวรรษ 2510 มักลงแต่ข่าวประเภท “ใกล้ตรุษจีนไฟไหม้ประจำ” หรือไม่บางครั้งก็พยายามโยงว่า “ไฟไหม้ตรุษจีนเป็นแผนของพวกคอมมิวนิสต์” จนทำให้ตรุษจีน กลายเป็นช่วงเวลาเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในยุคจอมพลสฤษดิ์ที่ไฟไหม้ทีไรยิงเป้าทุกครั้ง (และน่าสนใจที่คนถูกยิงส่วนมากเป็นจีนทั้งนั้น)

ชีวิตจีนสยามและตรุษจีนในช่วงนี้จึงส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน ตรุษจีนไม่ได้เป็นงานระดับชาติ ไม่ตกเป็นข่าวดัง (ในแง่ดี) ตามหน้าสื่อ เช่นเดียวกับชีวิตจีนสยามที่ต้องอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว

กระทั่งปลายทศวรรษ 2510 ที่จีนแผ่นดินใหญ่เริ่มผงาดขึ้นมามีสถานะเป็นมหาอำนาจในเวทีโลก ด้วยการเข้ามามีที่นั่งเป็นสมาชิกสหประชาชาติ พร้อมทั้งสถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ รัฐไทยจำต้องเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อจีน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อ “จีนสยาม” หรือ “คนไทยเชื้อสายจีน” ที่เริ่มจะมีที่ทาง กล้าแสดงตัวตนมากขึ้น เช่นในปี พ.ศ.2517 เมื่อเริ่มมีแนวโน้มว่าไทยจำต้องสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนในอีกไม่ช้า กลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่มีเชื้อสายจีนได้จัดนิทรรศการจีนแดงในช่วงเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ เย้ยกฎหมายคอมมิวนิสต์ที่ยังมีการประกาศใช้อยู่ ทว่ากลับปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการในช่วงตรุษจีนแน่นขนัดเป็นประวัติการณ์ โดยส่วนมากเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน

นอกจากปี พ.ศ. 2517 ที่ตรุษจีนกลายเป็นประเด็นข่าวครึกโครมบนหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะมีประเด็นเรื่องนิทรรศการจีนแดงมาเกี่ยวข้อง ช่วงเวลาอีกหลายปีต่อมาตรุษจีนก็ยังไม่ได้มีโอกาสขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ตราบจนกลางทศวรรษ 2530

ตรุษจีนยุคลอดลายมังกร

ช่วงเวลากว่า 20 ปีหลังไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในปีพ.ศ. 2518 ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ได้เอื้อให้เศรษฐกิจไทยเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วระหว่างทศวรรษ 2520-ทศวรรษ 2530 โดยมีนายทุนไทยเชื้อสายจีน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สถานภาพของจีนสยามในสังคมไทยจึงเปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดิน จากที่ต้องอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว มาเป็นการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์จีนอย่างห้าวหาญ
ภาพข่าวม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไหว้เจ้า จากหน้า 1 หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 (ภาพเอเยนซี)
ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 นักการเมืองเริ่มขึ้นป้ายอวยพรวันตรุษจีน หรือไม่ก็เริ่มแสดงให้สาธารณะชนเห็นว่ามีเชื้อสายจีน เพื่อเอาใจชนชั้นกลางในเมืองซึ่งก็คือบรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนที่ถีบตัวขึ้นมาจากสถานะ “จีนเสื่อผืนหมอนใบจนๆ” ที่ถูกเหยียดในยุคก่อน แม้แต่นักการเมืองคนดังอย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังต้องนำภาพตัวเองไหว้เจ้าในช่วงตรุษจีนมาลงหน้า 1 หนังสือพิมพ์

อัตลักษณ์จีนถูกแสดงออกอย่างฮึกเหิม ดังปรากฏละครเรื่อง “ลอดลายมังกร” ในปีพ.ศ. 2535 ที่มี “พระเอก” เป็นจีนสู้ชีวิตคือ อาเหลียง ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ ที่ตัวละครจีนในสื่อบันเทิงไทยมักถูกวาดภาพให้เป็น “เจ๊ก หรือ ผู้ร้าย”

ในปีพ.ศ.2535 “ตรุษจีน” จึงปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งพร้อมภาพประกอบ 4 สีอย่างยิ่งใหญ่บนหน้า 1 หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ต่างกับก่อนหน้าที่ไม่มีการนำเสนอข่าวเลย หรือจะมีบ้างก็เป็นเพียงข่าวกรอบเล็กๆ

ตรุษจีนยุคฟื้นฟู “ความเป็นจีน”
กิจกรรมหนึ่งในการจัดงานตรุษจีนที่หอศิลป์กรุงไทย ร่วมกันเขียนอักษร “ฝู” (ฮก) (ภาพเอเยนซี)
นับแต่กลางทศวรรษ 2530-ปัจจุบัน อัตลักษณ์จีนได้พลิกเปลี่ยนสถานะจาก “ปมด้อย” กลายเป็น “ความเก๋ไก๋” กระทั่งตี๋หมวยพากันแจ้งเกิดในหลายวงการ การเรียนภาษาจีนได้กลายมาเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม จนสถาบันสอนภาษาจีนผุดขึ้นราวดอกเห็ด ภายใต้บริบทนี้ตรุษจีนได้กลายมาเป็นงานใหญ่ระดับชาติที่เชื้อพระวงศ์ไทยยังทรงเสด็จเข้าร่วม และสถานทูตจีนก็เข้ามามีส่วนในการสนับสนุนการจัดงานไม่น้อย กระทั่งทำให้งานตรุษจีนที่เยาวราชและปากน้ำโพในช่วง 2-3 ปีนี้ยิ่งใหญ่อลังการมาก แน่นอนว่าสื่อพากันเสนอข่าวตรุษจีนกันอย่างครึกโครม

อย่างไรก็ตาม “ความเป็นจีน” ในรุ่นหลังนี้กับมีความลักลั่นบางประการ ที่ทำให้เชื่อมต่อไม่ลงตัวกับอดีตของจีนสยาม ตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ลูกหลานจีนเรียนภาษาจีนแต่สื่อกับอาก๋งอาม่าไม่ได้ เพราะอาก๋งอาม่า “ต่าเตี่ยจิวอ่วย” แต่ลูกหลานดันรู้แต่ “จีนกลาง”

ท่ามกลางความลักลั่นไม่ลงตัวนี้ บรรดาลูกหลานจีนส่วนหนึ่งได้พยายามฟื้นฟู “ความเป็นจีน” และ “ความทรงจำ” ยุคก๋ง ยุคเตี่ย ที่กำลังสูญหาย ผ่านการจัดกิจกรรมในเทศกาลตรุษจีน เพื่อต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หนึ่งในกิจกรรมตรุษจีนปีนี้ที่สะท้อนความพยายามในการรื้อฟื้นสิ่งที่กำลังสูญหายได้อย่างชัดเจนคือ กิจกรรมงานตรุษจีนที่หอศิลป์ กรุงไทย เยาวราช ซึ่งจัดโดยคนในท้องถิ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น