xs
xsm
sm
md
lg

แพนด้าในกรงทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในพงศาวดารจีน(สื่อจี้) ชาวจีนเลี้ยงหมีแพนด้ายักษ์มาตั้งแต่ 4,000 ปีที่แล้ว โดยเลี้ยงไว้เพื่อช่วยทำศึกสงคราม และล่าสัตว์ จนมาถึงสมัยจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน(บูเช็กเทียน)ราวปี ค.ศ. 685 จึงเริ่มใช้หมีแพนด้าเป็นทูตสันถวไมตรี เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยในครั้งแรกจีนได้ส่งแพนด้าไปยังประเทศญี่ปุ่น สำหรับชาติตะวันตกที่จีนได้ส่ง“ทูตแพนด้า”ไปเป็นชาติแรกคือ สหรัฐอเมริกา โดยมอบให้สวนสัตว์ชิคาโก เมื่อปี 1936

ในส่วนของประเทศจีนในยุคใกล้นี้ได้เริ่มต้นเลี้ยงหมีแพนด้าในช่วงปี 1939 ที่มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) แต่เป็นระยะเวลาสั้นๆ จนเมื่อปี 1953 จึงได้กลับมาเริ่มเลี้ยงหมีแพนด้าอีกครั้ง

แม้ว่าชาวจีนจะเลี้ยงหมีแพนด้ามาเนิ่นนานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว แต่ทว่าเพิ่งจะมาประสบความสำเร็จด้านการเพาะพันธุ์เมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง เนื่องจากการผสมพันธุ์หมีแพนด้าตามธรรมชาติมีความเป็นไปได้น้อยมาก สวนสัตว์ในจีนจึงใช้วิธีการขยายพันธุ์โดย การผสมเทียมมาโดยตลอด แพนด้าเพศเมียมีระยะตกไข่เพียง 1-3 วันเท่านั้น จึงมีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการตรวจหาระยะตกไข่ของแพนด้าและทำการผสมเทียมหลายครั้ง เพื่อรักษาอัตราการตั้งท้องของแพนด้า

โดยในปี 1963 จีนสามารถจับคู่หมีแพนด้าคู่แรกลี่ลี่และเซินเซิน และออกลูกตามธรรมชาติได้ ต่อมาปี 1978 ประสบสำเร็จในการขยายพันธุ์โดยการผสมเทียม ปี 1980 สวนสัตว์เฉิงตูสามารถผสมเทียมแพนด้าโดยใช้เชื้ออสุจิแช่แข็ง และปี 1990 สวนสัตว์เฉิงตู สามารถผสมพันธุ์ได้แพนด้าแฝด 1 คู่ เป็นครั้งแรก

ในต่างประเทศ มีการเพาะพันธุ์แพนด้าประสบความสำเร็จครั้งแรก คือสวนสัตว์ในประเทศญี่ปุ่น ปี 1979

แม่หมีเหรียญทอง‘เหมยเหม่ย’

ด้วยความอุตสาหะของทีมนักวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันงานวิจัยและเพาะเลี้ยงแพนด้าในประเทศจีน ได้รับผลสำเร็จและก้าวหน้าไปอย่างมาก ตัวอย่าง แม่หมีเหมยเหม่ย จากศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงแพนด้ายักษ์เฉิงตู ซึ่งเป็นแพนด้ายักษ์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยมนุษย์ สามารถมีชีวิตอยู่ถึง 21 ปี(ป่วยตายในปี 1992) ซึ่งนับว่าเป็นแพนด้าสุขภาพดี และอายุยืนกว่าอายุขัยเฉลี่ยของแพนด้าทั่วไป (อายุขัยเฉลี่ย 15 ปี)

แม่หมีตัวอย่างเหมยเหม่ยนี้สามารถให้กำเนิดลูกหมีที่แข็งแรงและเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์รุ่นต่อมาอีก 7 ตัว ลูกของเหมยเหม่ย ‘ชิ่งชิ่ง’ ก็นับเป็นลูกหมีตัวอย่าง ที่สามารถขยายพันธุ์ออกลูกให้ทางศูนย์วิจัยฯอีกถึง 12 ตัว

กำลังโหลดความคิดเห็น