ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สวนสัตว์เชียงใหม่ จับหลินฮุ่ยผสมเทียมแล้ว หลังเป็นสัด แต่ช่วงช่วงยังไม่สน คณะทำงานลงมือผสมเทียมสองรอบ 24-25 เม.ย.ยืนยันกระบวนการสมบูรณ์กว่าครั้งได้ “หลินปิง” เชื่อ คนไทยได้ลุ้นมีแพนด้าตัวใหม่ ด้านผู้เชี่ยวชาญจีนบอกมีลุ้นเป็นฝาแฝดด้วย
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ น.สพ.วิศิษฏ์ วิชาศิลป์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณะ แถลงข่าวการดำเนินผสมเทียมให้กับหมีแพนด้าหลินฮุ่ย โดยมีสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าร่วมในการแถลงข่าว
น.สพ.วิศิษฏ์ กล่าวว่า การผสมเทียมให้แพนด้าหลินฮุ่ยในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากหลินฮุ่ยได้แสดงพฤติกรรมการเป็นสัดตามธรรมชาติ และจากการตรวจสอบฮอร์โมนจากปัสสาวะของหลินฮุ่ย โดยคณะทำงานของโครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทย ภายใต้การสังเกตการณ์ และให้คำแนะนำจากสัตวแพทย์ ถัง ฉุน เซียง ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน พบว่า หลินฮุ่ยจะมีการตกไข่ในวันที่ 24 เม.ย.จึงได้เปิดโอกาสให้ช่วง ช่วงและหลินฮุ่ยได้พบกัน เพื่อให้เกิดการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า การผสมพันธุ์ตามธรรมชาติไม่เกิดขึ้น คณะทำงานจึงได้ตัดสินใจทำการผสมเทียมในช่วงเย็นของวันที่ 24 เม.ย.โดยทำการวางยาสลบแล้วเก็บน้ำเชื้อจาก ช่วง ช่วง ก่อนจะนำน้ำเชื้อสดที่ได้มาทำการผสมเทียมให้กับหลินฮุ่ย ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์
ต่อจากนั้น ในช่วงเช้าของวันนี้ (25 เม.ย.) คณะทำงานได้นำ ช่วง ช่วง มาพบกับหลินฮุ่ยอีกครั้ง แต่ก็ยังคงไม่มีการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติเกิดขึ้น คณะทำงานจึงได้ทำการผสมเทียมครั้งที่สองให้กับหลินฮุ่ยอีกครั้ง ด้วยน้ำเชื้อแช่เย็นที่เหลือจากการผสมเทียมในครั้งแรก
ด้านน.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ วิจัย และการศึกษา องค์การสวนสัตว์ หัวหน้าคณะทำงานผสมเทียมให้กับหลินฮุ่ยกล่าวว่า การผสมเทียมในครั้งนี้คณะทำงานได้ใช้น้ำเชื้อครึ่งหนึ่งที่เก็บจากช่วง ช่วง มาทำการผสมเทียมในครั้งแรก ก่อนจะใช้น้ำเชื้อที่เหลืออยู่อีกครึ่งหนึ่งในการผสมเทียมครั้งที่สอง โดยตลอดทั้งกระบวนการถือว่า มีความสมบูรณ์มากกว่าเมื่อครั้งที่ทำการผสมเทียมในปี 2552
สำหรับการตัดสินใจทำการผสมเทียมให้กับหลินฮุ่ยในครั้งนี้ คณะทำงานได้ทำการประเมินกันโดยตลอด ตั้งแต่พบว่า หลินฮุ่ยมีอาการเป็นสัด และจากการที่ผลการตรวจฮอร์โมน บ่งชี้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการผสมพันธุ์ของหลินฮุ่ย ประกอบกับแม้แพนด้าทั้งสองจะให้ความสนใจแก่อีกฝ่ายมากขึ้น เมื่อถูกปล่อยให้ได้พบกัน แต่ก็ยังคงไม่มีการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติเกิดขึ้น ทางคณะทำงาน จึงได้ตัดสินใจทำการผสมเทียมให้กับหลินฮุ่ยแทน
ขณะที่ สัตวแพทย์ ถัง ฉุน เซียง ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน ซึ่งเดินทางมาสังเกตการณ์และให้คำแนะนำแก่ทีมงานไทยในการผสมพันธุ์ของแพนด้ากล่าว ว่า การดำเนินการในครั้งนี้ถือว่าสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยขั้นตอนต่อไปทางมทีมงานจะมีการติดตามและตรวจสอบว่าหลินฮุ่ยมีการตั้งครรภ์หรือไม่
จากกระบวนการที่เป็นไปด้วยดีนั้น ตนเห็นว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่การผสมเทียมในครั้งนี้จะทำให้ได้ลูกแพนด้าฝาแฝดขึ้น แต่ถึงแม้จะไม่ได้ฝาแฝด ก็ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะได้แพนด้าตัวใหม่เพิ่มขึ้นอีกจากการผสมเทียมในครั้งนี้ ส่วนกรณีของช่วง ช่วงนั้น คาดว่าภายใน 1-2 ปีต่อจากนี้จะมีความพร้อมเต็มที่สำหรับการผสมพันธุ์กับหลินฮุ่ยได้เองตามธรรมชาติ