ภาพที่ใครหลายคนต่างคุ้นเคยดีกับความน่ารัก และชีวิตความเป็นอยู่ที่แสนสบายแบบกินๆ นอนๆของแพนด้า เบื้องหลังภาพสวยงามนั้นคือภารกิจที่ยิ่งใหญ่ด้วยการเป็น ‘ทูตสันถวไมตรีระหว่างประเทศ’ ซึ่งประเทศจีน แดนบ้านเกิดของพวกพ้องแพนด้า เค้าก็ทั้งรัก ทั้งหวง ทำนองว่า ไม่รักกันจริง ไม่มีทางปล่อยให้ต้องไกลห่างจากอกเด็ดขาด เพราะแพนด้าเป็นสัตว์ที่มีความเปราะบาง ต้องการความรักและการเอาใจใส่ในการดูแลเป็นพิเศษ
นับแต่ปี ค.ศ. 1957 - 1982 ตลอดระยะเวลา 26 ปี มีญาติน้องหมี ได้ครองตำแหน่งทูตสันถวไมตรีเดินทางไปรับใช้ชาติยัง 9 ประเทศ รวมแล้ว 23 ตัวด้วยกัน ซึ่งแต่ละตัวล้วนผ่านการคัดสรร รับประกันมาแล้วว่า มีความสวยงาม แข็งแรง และยังอยู่ในวัยละอ่อนทั้งสิ้น และยังต้องไปปฏิบัติภารกิจอันทรงเกียรตินี้เป็นคู่เสียด้วย จะว่าไปเมื่อปี ค.ศ. 1958 ทางประเทศออสเตรียได้ส่งยีราฟ ม้าลาย ฮิปโปโปเตมัส แรด และอื่นมาแลกเปลี่ยนกับแพนด้า‘จีจี’ ซึ่งต่อมาได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่สวนสัตว์ลอนดอน และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทางการจีนก็เลิกทำการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขาย อะไรทำนองนี้อีก เพราะถือว่า แพนด้ายักษ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีค่าจะเอามาประเมินเป็นราคากันไม่ได้
จาก ‘สินค้า’ มาเป็น ‘ทูต’
เริ่มต้นที่ ‘ผิง ผิง’ พี่แพนด้าใจกล้ายุคบุกเบิกได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่รัสเซียในปี ค.ศ. 1957 และต่อมาในปี 1959 ก็มี ‘อัน อัน’ ตามไปอยู่เป็นเพื่อนคลายเหงา
ปี 1965-1980 ‘ตัน ตัน ’ ‘ซันซิง ’ ‘หลิน หลิน’ และญาติๆอีก 2 ตัวไปเป็นทูตประจำอยู่ที่เกาหลีเหนือ
เมษายน ค.ศ. 1972 ‘หลิง หลิง’และ ‘ซิง ซิง ’ เดินทางถึงสหรัฐอเมริกาโดยสวัสดิภาพ
ตุลาคม ค.ศ. 1972 ญี่ปุ่นได้ต้อนรับ ‘หลานล่าน’ และ ‘คัง คัง’ ซึ่งต่อมา ‘หลานล่าน’ เพศเมียได้เสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1979 ทางจีนจึงส่งเพศเมียตัวใหม่ ‘ฮวน ฮวน’ ให้ไปในปีค.ศ. 1980 แต่จนแล้วจนรอด ‘คัง คัง’เพศผู้ก็ลาโลกตามไปในปี 1980 เช่นกัน จึงต้องส่งเพศผู้อีกตัว ‘เฟย เฟย’ ไปอีกครั้งในปีค.ศ. 1982
ธันวาคม ค.ศ. 1973 ‘เยี่ยน เยี่ยน ’ และ ‘ หลี หลี’ ลัดฟ้าสู่ประเทศฝรั่งเศส แล้วทุกคนก็ต้องประหลาดใจไปตามๆกัน เมื่อพบว่าแพนด้าที่มาถึงนี้เป็นตัวผู้ทั้ง 2 ตัว แทนที่เป็นคู่เพศผู้และเพศเมีย
เมษายน ค.ศ. 1974 ‘เจีย เจีย ’ และ‘จิง จิง’ เหินฟ้าสู่อ้อมกอดของอังกฤษ
พฤศจิกายน ค.ศ.1974 ชาวเยอรมนีต่างปรีดากับการมาของ ‘เทียน เทียน’ และ ‘เป่าเป๊า’
กันยายน ค.ศ. 1975 ‘อิ๋ง อิ๋ง’ และ‘เป้ย เป้ย’ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประเทศเม็กซิโก
กันยายน ค.ศ. 1978 ชาวสเปนสมหวังหลังจากนับวันรอ‘เส้า เส้า’ และ‘เฉียง เฉียง’
สำหรับในปีนี้ จีนได้ส่งทูตแพนด้าไปกระชับสัมพันธไมตรีกับต่างแดน ได้แก่ การส่งเหยียงเหยียง และหลงฮุยไปประจำที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อวันที่ 13 มีนาคม โดยทั้งสองจะพำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 10 ปี และล่าสุด ‘ช่วง ช่วง’กำลังเกี่ยวก้อย‘หลินฮุ่ย’ โผเข้าสู่อ้อมอุ่นถิ่นแดนไทยในวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2003
โดยแท้จริงแล้ว การที่ทางการจีนมอบแพนด้าผูกโบว์ให้เป็นของขวัญกระชับมิตรนี้ ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้าปี 1957 นานแล้ว นับแต่ปี 1941 ทางการจีนในนาม มาดามซ่งเหม่ยหลิงภริยานายพลเจียงไคเชค ได้มอบแพนด้าคู่หนึ่งให้เป็นของขวัญแทนใจแก่สหรัฐอเมริกา หรือย้อนหลังกลับไปไกลกว่านั้น ในศตวรรษที่ 7 เมื่อวันที่ 22 เดือนตุลาคม ปีค.ศ. 685 ซึ่งตรงกับราชวงศ์ถัง ปีฉุยก่งที่ 1 แห่งรัชสมัยจักรพรรดินีบูเช็กเทียน โดยพระนางทรงประทานสมบัติล้ำค่าอย่างแพนด้า ‘เทียนอู่’ และ‘เทียนหวง’ พร้อมกับหนังขนสัตว์อีก 70 ผืนให้แก่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธ์ไมตรี
ภายหลังเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปีค.ศ. 1949 เป็นต้นมา บทบาทของแพนด้าก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงดีกรีความเข้มของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอดีตสหภาพโซเวียต เมื่อครั้งความสัมพันธ์ยังชื่นมื่น ทางการจีนได้มีความคิดนำแพนด้า 3 ตัวจากมณฑลซื่อชวน(เสฉวน) ไปเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ปักกิ่ง เพื่อเลือกเอาตัวที่ดีที่สุดจาก 3 ตัวนั้น มอบให้กับมหามิตรโซเวียต จนต่อมาเมื่อความสัมพันธ์หมางเมินต่อกัน ความสัมพันธ์กับทางยุโรปก็ไม่ราบรื่นนัก และยังมาแตกคอกับเวียดนามอีก ก็ไม่มีรายงายการส่งแพนด้าออกปฏิบัติภารกิจในประเทศเหล่านี้เลย มีก็แต่เพื่อนบ้านที่ยังแน่นแฟ้นกันดีอย่างเกาหลีเหนือเท่านั้น ซึ่งจีนถึงกับมอบแพนด้าให้อย่างต่อเนื่องถึง 5 ตัวด้วยกัน
และนับจากการเยือนจีนของอดีตประธานาธิบดี นิกสัน แห่งสหรัฐฯ จีนได้เข้าสู่ยุคเปิดม่านไม้ไผ่ในปีค.ศ. 1972 ได้มีการมอบแพนด้าเป็นของขวัญเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศต่างๆทางตะวันตก แม้แต่แพนด้าที่ถูกคักเลือกเพื่อมอบให้แก่ไต้หวัน อย่างหลิงหลิง และ เล่อเล่อ ซึ่งจนถึงวันนี้ยังคงรอเก้อเพราะไต้หวันยังไม่ตอบรับไมตรี
ปัจจุบันแพนด้านับเป็นสัตว์ล้ำค่าใกล้สูญพันธ์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และใฝ่ฝันจะเป็นเจ้าของดูแล การส่งมอบแพนด้าเป็นของขวัญให้แก่ประเทศต่างๆ ก็นับว่าเป็นเรื่องดี ทำให้ผู้คนทั่วโลกรวมถึงในประเทศจีนเองได้หันมาให้ความสนใจ รวมถึงให้ความสำคัญในด้านการอนุรักษ์และคุ้มครอง นำไปสู่การศึกษาและวิจัยเพื่อขยายพันธุ์ โดยนับแต่การเสียชีวิตลงของแพนด้า ‘จีจี’ ในปีค.ศ. 1972 จวบจนปัจจุบันแพนด้าที่จีนได้ส่งไปกระชับมิตรยังประเทศต่างๆ ยังคงมีชีวิตอยู่ 8 ตัว ในประเทศเม็กซิโก 5 ตัว ญี่ปุ่น 2 ตัว และสเปน 1 ตัว รวมที่ได้แพร่พันธุ์ออกลูกออกหลานอยู่ตามประเทศต่างๆทั้งสิ้น 16 ตัว.