xs
xsm
sm
md
lg

ร้อยดวงใจ ช่วยน้องแพนด้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของแพนด้ายักษ์นั้น อยู่ในหัวใจของผู้คนจำนวนมาก ทั้งชื่นชมหมีแพนด้าที่สามารถปรับตัวในสภาพแวดล้อมต่างๆจนมีอายุสืบมาถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาหลายล้านปี และยังรู้สึกห่วงใยในอนาคตของสัตว์โลกที่น่ารักนี้ด้วย

มาตราการเพื่ออนุรักษ์หมีแพนด้าของจีน

ในปี 1962 คณะรัฐมนตรีประกาศห้ามล่าหมีแพนด้าโดยเด็ดขาด ต่อมาใน ปี 1963 ได้กำหนดเขตอนุรักษ์หมีแพนด้าขึ้น 5 แห่ง โดย 4 ใน 5 แห่งนี้อยู่ในมณฑลซื่อชวน(เสฉวน) ได้แก่ เขตอนุรักษ์ว่อหลงในอำเภอเวิ่นชวน เขตอนุรักษ์ไป๋เหอ ในอำเภอหนันผิง เขตอนุรักษ์หวังหลังในอำเภอผิงอู่ เขตอนุรักษ์หล่าปาเหอในอำเภอเทียนเฉวียน กระทั่งถึงปี 1988 ขยายเขตอนุรักษ์ป่าที่อยู่ของแพนด้าเพิ่มขึ้นเป็น 14 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6,868 ตารางกิโลเมตร

ปัจจุบันนี้ เขตอนุรักษ์หมีแพนด้าโดยเฉพาะใน 3 มณฑลได้แก่ เสฉวน กันซู่ และส่านซี มีทั้งสิ้น 32 แห่ง ครอบคลุมเนื้อที่ทั้งสิ้น 10,550 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 81.2 % ของพื้นที่ที่มีแพนด้ายักษ์อาศัยอยู่ เขตอนุรักษ์ 25 ใน 32 แห่งนั้นตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวน ครอบคลุมพื้นที่ 81.6 % ของเขตอนุรักษ์ทั้งหมด โดยเฉพาะเขตอนุรักษ์ว่อหลง ซึ่งมีเนื้อที่ 2,000 ตารางกิโลเมตรนั้น สามารถช่วยชีวิตหมีแพนด้าจากการบุกรุกทำร้ายโดยน้ำมือมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้ตรากฎหมายเพื่ออนุรักษ์หมีแพนด้าและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆขึ้นหลายฉบับ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้ การอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในปี 1987 คณะกรรมการประจำของสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ได้ผ่านบทลงโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ละเมิดกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์หมีแพนด้า ตั้งแต่จำคุก 10 ปี ยึดทรัพย์ ไปจนถึงประหารชีวิต


โครงการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ของหมีแพนด้า

ปัจจุบันพื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของหมีแพนด้ามีคุณภาพแย่ลง รวมถึงพื้นที่ก็ลดลงด้วย และเพื่อเป็นการอนุรักษ์และปรับปรุงสภาพป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่ของแพนด้ายักษ์ ในปี 1993 ทางการจีนได้ทดลองดำเนิน ‘โครงการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์และถิ่นที่อยู่’ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 10 ปี ด้วยเงินทุนกว่า 300 ล้านหยวน ทั้งนี้ได้ดำเนินการในเขตอนุรักษ์ต่างๆไปแล้ว 13 แห่ง

นอกจากนี้ ก็มีแผนจะดำเนินการในเขตอนุรักษ์อื่นอีก 14 แห่ง สถานีดูแล 32 สถานี และถางพื้นที่เพื่อใช้เป็นทางเดินของหมีแพนด้า 17 เส้นทาง ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยา ตลอดจนการขยายพันธุ์ของแพนด้ายักษ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ครอบคลุมพื้นที่ 18,000 ตารางกิโลเมตร ในเมืองต่าง 34 เมืองของมณฑลเสฉวน ส่านซี และกันซู่

โครงการอนุรักษ์การย้ายถิ่นฐานของหมีแพนด้า
         
โครงการอนุรักษ์การย้ายถิ่นฐานของหมีแพนด้านั้น ยึดหลักให้มนุษย์เป็นผู้เลี้ยงดู ประกอบกับส่งเสริมด้านการขยายพันธุ์ และโภชนาการแก่แพนด้า นอกจากนี้ก็เร่งขยายจำนวนแพนด้าด้วยขบวนการเพาะเลี้ยงทางวิศวพันธุกรรม และพัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิต ตลอดจนทดลองปล่อยแพนด้าคืนสู่ป่า

จากความสำเร็จของโครงการอนุรักษ์หมีแพนด้าในธรรมชาติ การอพยพย้ายถิ่น ตลอดจนการเพาะเลี้ยง ส่งผลให้ปัญหาการลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรแพนด้ายักษ์ได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีนแห่งห้องทดลองด้านสัตวศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กำลังศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการโคลนนิ่งแพนด้าอีกด้วย



ทั่วโลกร่วมด้วยช่วยแพนด้า

ในถิ่นกำเนิดของหมีแพนด้าเองนั้น ผู้คนค่อนข้างมีความเข้าใจและให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์หมีแพนด้าและสัตว์ป่าหายากอื่นๆ และสามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่สำหรับผู้คนในสถานที่ที่ห่างไกลจากเจ้าสัตว์โลกน่ารักนี้ ได้มีส่วนช่วยอนุรักษ์แพนด้าในด้านใดบ้าง

1980 กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เข้ามาสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ของจีน อาทิ การบริจาคสัตว์ป่าหายาก ร่วมวางแผนในการอนุรักษ์ ส่งผู้เชี่ยวชาญมายังจีนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
         

         
ในปี 1961 ซึ่งกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลก่อตั้งขึ้น ก็เลือกใช้หมีแพนด้าเป็นสัญลักษณ์ขององค์กร เพราะแพนด้ามีคุณค่าทั้งในด้านความสวยงามและด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ คนทั่วโลกล้วนมีความปรารถนาเดียวกันคือ อยากให้แพนด้าอยู่คู่กับมนุษยชาติตลอดไป

ในสวนสัตว์ต่างๆทั่วโลกต่างปรารถนาที่จะได้แพนด้ามาเลี้ยงดูและศึกษา เพราะตระหนักถึงภัยที่กำลังเกิดขึ้นกับสัตว์หายากชนิดนี้ จึงเกิดโครงการเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยงแพนด้าขึ้นในสวนสัตว์ต่างๆ

ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1936 จนถึงปี 1997 มีสวนสัตว์ทั่วโลกกว่า 12 แห่งใน 9 ประเทศที่ทำการเพาะเลี้ยงแพนด้ายักษ์รวมถึง 37 ตัว ซึ่งปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ 6 ตัว แพนด้าช่วงช่วง กับหลินฮุ่ย ที่บินมาอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ของไทย เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2003 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเพื่อต่ออายุให้แพนด้าเช่นกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสวนสัตว์เหล่านี้ได้ทำการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงแพนด้า ซึ่งทำให้ประสบการณ์ในการจัดการและการป้องกันโรคของแพนด้าในปัจจุบันทันสมัยและก้าวหน้าขึ้นทุกขณะ และเป็นความหวังที่พวกเราจะได้เห็นแพนด้าอยู่บนโลกนี้ต่อไปอีกนานๆ

รวมไปถึงโครงการต่างๆ อาทิ โครงการสมทบทุนเพื่อช่วยแพนด้ายักษ์ การบริจาคทรัพย์เพื่อการเลี้ยงดูแพนด้าทางเว็บไซต์ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกถึงความมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์สัตว์หายากชนิดนี้

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

www.pandathailand.org
www.panda.org
www.adoption.co.uk
http://nationalzoo.si.edu/default.cfm

กำลังโหลดความคิดเห็น