เอเยนซี - สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำกรุงปักกิ่ง เปิดเผยผ่านเวบไซต์ยางพาราจีนว่า สมาคมอุตสาหกรรมยางพาราแห่งประเทศจีน เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง และบริษัทหรวน ข่ง (Ruan Kong) จำกัดมหาชน กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเมืองชิงเต่า ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในการสร้างเมืองชิงเต่าให้เป็นศูนย์กลางยางพาราจีน ก่อนก้าวสู่ระดับโลกเทียบเคียง Akron Rubber City ของสหรัฐฯ
ปัจจุบันนี้ เมืองชิงเต่าได้มีโครงการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนายางพาราประสิทธิภาพสูง โดยบริษัท LANXESS ประเทศเยอรมัน และศูนย์วิจัยพัฒนาโพลียูรีเทน Polyurethane บริษัท China North Industries Group Corporation(CNGC) ซึ่งเมื่อปี 2553 ศูนย์ฯ แห่งนี้ยังได้รับการจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการจีน ให้เป็น“ศูนย์เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ” ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเมืองชิงเต่า 5 ปี ฉบับที่ 12
รายงานของสำนักงานฯ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอย่างเป็นระบบ อาทิ สร้างรูปแบบการพัฒนากิจการยางพาราเชิงนิเวศน์ สร้างพื้นที่การค้ายางพาราเสรี เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา และมีบทบาทสำคัญ 6 ด้านคือ “การศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างงาน จัดงานแสดงสินค้าและพาณิชย์ จัดนิทรรศการและวัฒนธรรมเป็นเวทีนำเสนอข้อมูล และเป็นศูนย์กลางการระดมทุน”
นาย หม่า เหลียนเสียง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่า กล่าวว่า ในอนาคต ศูนย์กลางยางพาราจีน จะเป็นศูนย์กลางการสั่งซื้อสินค้ายางพาราระดับโลก และเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมยางพาราต่างๆ ตั้งแต่การรับซื้อและแสดงสินค้านานาชาติ การซื้อขายโดยระบบดิจิตอล ฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนบุคลากรนานาชาติ ไปจนถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมระดับโลก มีการบริหารจัดการองค์กรรูปแบบใหม่ ที่มีโครงสร้างการบริหารโดยใช้นิติบุคคล เพื่อสร้างศูนย์ฯ ระดับโลกเทียบเคียง Akron Rubber City ของสหรัฐฯ
นายฟาน เหรินเตอ นายกสมาคมยางพาราจีน กล่าวว่า ช่วงเวลาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 11 (2549 - 2553) นับเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมยางพาราจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยางพาราจีน โดยเทียบระหว่างปี 2548 กับ 2553 ผลิตผลมวลรวมของอุตสากรรมยางพาราของประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 175.82% ดังนั้น ช่วงแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของจีน ในการก้าวขึ้นไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมยางพาราสำคัญของโลก
ข้อมูลระบุว่าชิงเต่า ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลซานตง ชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศจีน และเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำหวงเหอที่ไหลลงสู่ทะเลป๋อไห่ เป็นเมืองชายทะเลที่สะอาด สวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นักท่องเที่ยวที่มาเยือนต่างประทับใจและเปรียบเมืองว่าเป็น "สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชียตะวันออก"
ประชากรเมืองชิงเต่าได้ชื่อว่ามีความขยันและทำงานหนัก ซึ่งเป็นจุดสำคัญทำให้เมืองชิงเต่าได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญด้านการค้ากับต่างประเทศ ของภาคกลางและภาคตะวันออกของจีน มีท่าเรือเฉพาะกิจหลายแห่ง เปิดเส้นทางเดินเรือนับร้อยสาย เชื่อมโยงกับท่าเรือกว่า 450 แห่งทั่วโลก มีเที่ยวบินไปสู่ต่างประเทศ มากกว่า 400 เที่ยว การพัฒนาชิงเต่า ที่ผ่านมา อาศัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยความร่วมมือกับเยอรมนี และบุคคลากรด้านต่างๆ ของหน่วยงานจีนเป็นหลัก มีองค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล องค์กรการศึกษาและองค์กรบริหาร ชั้นสูงกว่า 20 แห่ง เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหาสมุทรและทะเลแห่งประเทศจีน
ล่าสุด ชิงเต่าเพิ่งจะเปิดสะพานไห่วาน ทีทอดผ่านอ่าวเจี่ยวโจวทางชายฝั่งตอนใต้ของคาบสมุทรซานตง เชื่อมกับเขตหวงเต่าเข้าไว้ด้วยกัน โดยส่วนหลักๆ ของสะพานได้เชื่อมต่อกันเมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา และกำลังติดตั้งระบบในระยะสุดท้าย ก่อนจะเปิดใช้ภายในกลางปีนี้ 2554