เอเยนซี--ช่วงฤดูมรสุม ที่มาพร้อมกับพายุฝน และเกิดเหตุอุทกภัยเกือบทั่วทุกภาคในจีน ทว่า กลับมีเมืองๆ หนึ่ง ที่ไม่กลัวต่อเหตุการณ์เหล่านี้
ในขณะที่ตามเมืองใหญ่ๆ เกิดพายุฝนและอุกภัย อาทิ เมืองเฉิงตู เมืองอู่ฮั่น ก่วงโจว สำหรับนครปักกิ่ง มีปริมาณน้ำฝนทั่วเมืองโดยเฉลี่ย 170 มิลลิเมตร ชาวเมืองกว่า 37 ราย ต้องสังเวยชีวิตแก่อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุด เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่บริษัทปักกิ่งการระบายน้ำ จำกัด เผยว่า ระบบระบายน้ำฝนของกรุงปักกิ่งสร้างอยู่บนพื้นราบ ทำให้มีระบายน้ำได้ช้า และการออกแบบยึดตามมาตรฐานของชาติ ที่ประสิทธิภาพไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ดี ชาวจีนหลายคนมักจะนำระบบการระบายน้ำของเมืองๆ หนึ่งมาเปรียบเทียบกับของกรุงปักกิ่ง นั่นก็คือ เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ถือว่าเป็น “เมืองที่ไม่กลัวจมน้ำในจีน” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อแม้แต่เมืองหลวงของจีน ยังได้รับผลกระทบอย่างมาก
เมื่อปี 1897 กองทัพเยอรมนีวางแผนสร้างเมืองชิงเต่าให้เป็นฐานที่มั่นกองกำลังทหารเรือหลักในมหาสมุทรแปซิฟิก ในปีต่อมา (1898) เมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองเมืองชิงเต่า กำลังทหารเรือจึงรับหน้าที่ดูแลสร้างแหล่งชุมชนและท่อระบายน้ำใต้ดิน
ท่อระบายน้ำใต้ดินถูกสร้างขึ้นบริเวณห่างออกไปจากสะพานในเขตเมืองชิงเต่า100 กว่าเมตร วัสดุที่ใช้ คือดินเหนียวและเหล็กเส้นนำเข้าจากเยอรมนี สร้างออกมามีความกว้าง 3 เมตร สูง 2.5 เมตร ซึ่งกว้างกว่าถนนเลนเดียวในเมืองอีก รถบรรทุกขนาดใหญ่ก็สามารถแล่นเข้าไปได้ ด้วยโครงสร้างที่ใหญ่โตมโหฬารจึงถูกชาวเยอรมันขนานนามว่า “สัตว์ประหลาด” สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า 100 ลูกบาศก์เมตร ในสมัยนั้นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการสร้างเช่นกัน
นายหลิว หลี่ว์เฟิง ผู้อำนวยการพื้นที่การทำงานแห่งที่ 1 สำนักงานระบายน้ำเมืองชิงเต่า เผยว่า ท่อระบายน้ำใต้ดินที่ออกแบบและสร้างโดยฝีมือชาวเยอรมันนั้น และยังใช้ได้จนถึงปัจจุบัน มีความยาวกว่า 80 กิโลเมตร ถือว่าชาวเยอรมันมองการณ์ไกล โดยมีประโยชน์ในการระบายน้ำ และฝาท่อระบายน้ำยังเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างหนึ่งในเมืองด้วย แบบท่อระบายน้ำที่เยอรมนีสร้างไว้นี้ได้กลายเป็นต้นแบบของท่อระบายน้ำในเมืองชิงเต่าในยุคต่อๆ มา
ปัจจุบัน เมืองชิงเต่ามีการพัฒนาเมืองก้าวหน้ามาก มีท่อระบายน้ำที่สร้างเอง มีความยาวถึง 2,900 กิโลเมตร หากเทียบกับที่เยอรมนีสร้างนั้น ถือว่าของเยอรมนีอยู่ในสัดส่วนราว 1/30
นอกจากนี้ นายอัน เป่าเย่ว์ หัวหน้าสำนักงานดูแลการระบายน้ำ เมืองชิงเต่า กล่าวว่า หากตอนนี้ จะสร้างเลียนแบบระบบการระบายน้ำของเยอรมนีนั้น ค่อนข้างยากมาก “เหตุผลแรกคือ พื้นที่มีจำกัด ในช่วงนั้น มีพื้นที่ใต้ดินเพียงพอต่อการสร้างท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้ พื้นที่ใต้ดินในเมืองเต็มไปด้วยน้ำเน่า น้ำฝน น้ำตามธรรมชาติ สายโทรศัพท์ สายเคเบิล ท่อส่งแก็ส ท่อทำความร้อน และสายไฟ แล้วยังมีค่าใช้จ่ายในการสร้างสูงมากอีกด้วย”
อย่างไรก็ดี ข้อได้เปรียบของเมืองชิงเต่าที่ทำให้รอดพ้นจากเหตุน้ำท่วมนั้น ยังมีปัจจัยอื่นประกอบกันด้วย ได้แก่
ข้อแรก คือ ลักษณะภูมิประเทศแบบเทือกเขา ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสูงกว่า ส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้ต่ำกว่า สามด้านของเมืองติดทะเล ท่อระบายน้ำใต้ดินสร้างโดยยึดลักษณะภูมิประเทศ เมื่อรับน้ำแล้ว สามารถระบายลงทะเลได้ค่อนข้างเร็ว บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำสามารถระบายน้ำจนแห้งได้หมดราวครึ่งชั่วโมงหลังฝนตก ทำให้ไม่มีน้ำท่วมขังในเมือง ซึ่งแตกต่างจากเมืองที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม
ข้อที่สอง คือ เมืองชิงเต่าอยู่ในระหว่างการพัฒนาเมือง ได้ซึมซับและรับเอาแนวคิดการออกแบบระบบการระบายน้ำแบบเยอรมนีมาปรับปรุงแก้ไขท่อระบายน้ำเดิม และสร้างท่อระบายน้ำใหม่เพื่อขยายระบบฯ
ข้อสุดท้าย คือ มีระบบการดูแลและป้องกันการเกิดน้ำท่วมฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพมาก โดยเมืองชิงเต่ามีแผนการป้องกันฉุกเฉิน 4 ระดับ นอกจากนี้ เมื่อถึงฤดูฝน เจ้าหน้าที่รับผิดชอบการระบายน้ำจะคอยตรวจตราจุดรับน้ำที่สำคัญ หากมีสิ่งปฎิกูลที่อาจทำให้อุดตันทางระบายน้ำ ก็จะรีบกำจัดออก