ไชน่าเดลี - บริษัทรถไฟความเร็วสูงของจีนประกาศพร้อมเติบโตเป็นผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงอันดับ 1 ของโลกภายใน 5 ปี ตามกระแสบูมของการสร้างทางรถไฟในจีนที่รัฐบาลจีนทุ่มกว่า 7 แสนล้านหยวน พร้อมขยายไปต่างประเทศ โดยเน้นตลาดเกิดใหม่ใน ตอ.กลาง อเมริกาใต้และแอฟริกา
วานนี้ (3 ม.ค.) ผู้บริหารของ ไชน่า เซาธ์ โลโคโมทีฟ แอนด์ โรลลิ่ง สต็อก คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (ซีเอสอาร์) หรือ จงกั๋วหนานเชอ (中国南车) ผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงชั้นนำของจีน ได้ออกมาประกาศว่าบริษัทตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงอันดับหนึ่งของโลกภายใน 5 ปีข้างหน้านี้
นายเจิ้ง ชางหง ประธานบริษัทซีเอสอาร์ให้สัมภาษณ์กับ นสพ. 21 เซนจูรี บิสเนส เฮรัลด์ระบุว่า ในการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลก ซีเอสอาร์ซึ่งปัจจุบันถือเป็นผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงอันดับ 3 ของโลก รองจากบริษัทบอมบาร์เดียร์ (เยอรมนี) และ อัลสตอม (ฝรั่งเศส) วางแผนที่จะให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศและเล็งขยายโอกาสทางธุรกิจในต่างแดน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป
นับตั้งแต่จีนเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงสายแรก สายปักกิ่ง - เทียนจิน ในปี 2551 ประเทศจีนก็กลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านรถไฟความเร็วสูงทั้งในเรื่องของความเร็วสูงสุดของรถไฟและเครือข่ายของทางรถไฟ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมาระหว่างการทดสอบวิ่งบนเส้นทางสายปักกิ่ง – เซี่ยงไฮ้รถไฟรุ่น CRH380A ซึ่งผลิตโดยซีเอสอาร์ได้สร้างสถิติโลกโดยการทำความเร็วได้สูงถึง 486.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือน้องๆ เครื่องบินเจ็ตที่บินด้วยความเร็วต่ำเลยทีเดียว
ปัจจุบัน ถือว่าประเทศจีนมีเครือข่ายทางรถไฟทั่วประเทศยาวที่สุดในโลกกว่า 7,531 กิโลเมตร และในปี 2555 (ค.ศ.2012) เครือข่ายดังกล่าวน่าจะขยายเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวเป็น 13,000 กิโลเมตร
“ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 12 (ระหว่างปี 2554-2558) จากการที่จีนขยายการลงทุนในเรื่องรถไฟความเร็วสูงอย่างมหาศาล ซีเอสอาร์ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมียอดรายรับถึง 150,000 ล้านหยวน (ราว 22,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งมากกว่ารายรับในปี 2553 ถึงเท่าตัว” เจิ้ง ชางหง กล่าว และว่า “ช่วง 5 ปีข้างหน้าจะเป็นห้วงเวลาที่มีการสร้างทางรถไฟมากที่สุด โดยมีเงินลงทุนในการก่อสร้างแตะ 700,000 ล้านหยวน ”
สำหรับตลาดต่างประเทศ ในปี 2552 ซีเอสอาร์เซ็นสัญญาไปแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และบริษัทก็กำลังวางแผนที่จะขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
“ทุกวันนี้รายรับจากธุรกิจในต่างประเทศคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของรายรับทั้งหมดของบริษัทเท่านั้น เราพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวให้เป็นร้อยละ 20 โดยเราจะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายใหม่ๆ อย่าง ตลาดในตะวันออกกลาง อเมริกาใต้และแอฟริกา” ประธานบริษัทซีเอสอาร์กล่าว พร้อมเปิดเผยด้วยว่า จีนพยายามที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรถไฟความเร็วสูงในตลาดโลก โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยและลาวซึ่งจีนให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างน่าจะเริ่มโครงการได้ในปี 2554 นี้
นอกจากนี้ บ.ซีเอสอาร์ยังได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก ในการก่อตั้งกิจการร่วมค้าที่ต่างฝ่ายต่างถือหุ้น 50-50 เพื่อที่จะผลิตรถไฟความเร็วสูงในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยใช้เทคโนโลยีของจีนอีกด้วย
“ซีเอสอาร์ประสบความสำเร็จในการซึมซับเทคโนโลยีจากต่างประเทศและสร้างสรรค์ของเราขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศด้วยราคาที่สามารถแข่งขันได้” หยาง เฮ่า ศาสตราจารย์ด้านการคมนาคมทางรถไฟแห่งมหาวิทยาลัยคมนาคมปักกิ่งกล่าวและว่า “รัฐบาลจีนพยายามผลักดันให้บริษัทจีนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและขายสินค้า”
นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) แบบทวิภาคีในความร่วมมือเกี่ยวกับรถไฟกับประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ รวมไปถึงสหรัฐฯ บราซิล ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี โปแลนด์ และอินเดีย
ขณะที่ในพิมพ์เขียวการพัฒนาของรัฐบาลจีน ในปี 2563 โครงข่ายรถไฟของจีนจะรองรับการเดินทางของประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 โดยมีต้นทุนในการลงทุนราว 2 ล้านล้านหยวน