xs
xsm
sm
md
lg

เจาซานมู่ซื่อ : เช้าสามเย็นสี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

《朝三暮四》

朝(zhāo) อ่านว่า เจา แปลว่า ยามเช้า
三(sān) อ่านว่า ซาน แปลว่า สาม
暮(mù) อ่านว่า มู่ แปลว่า ยามเย็น
四(sì) อ่านว่า ซื่อ แปลว่า สี่

ภาพจาก http://www.sc-eart.com/
ในสมัยสงครามระหว่างรัฐ(จั้นกั๋ว) ณ แคว้นซ่งมีเฒ่าชราเลี้ยงวานรผู้หนึ่ง ในบริเวณสวนหลังบ้านของเขาเต็มไปด้วยฝูงวานร เมื่อวันเวลาผ่านไปนานเข้า ผู้เฒ่าผู้นี้ก็เริ่มเข้าใจอากัปกิริยาและความต้องการของเหล่าวานรที่เลี้ยงไว้ ส่วนวานรก็สะดวกสบายอยู่ในความดูแลของผู้เฒ่า

ทุกๆ วัน ผู้เฒ่าจะเลี้ยงดูวานรด้วยลูกเกาลัด โดยวานร 1 ตัวจะได้ส่วนแบ่งเกาลัด 8 ผลต่อวัน แบ่งเป็นมื้อเช้า 4 ผลและมื้อเย็น 4 ผล ต่อเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ฐานะทางการเงินของผู้เฒ่าย่ำแย่ลง แต่จำนวนประชากรวานรกลับตรงข้าม นับวันเพิ่มเป็นทวีคูณ ผู้เฒ่าจึงคิดลดจำนวนเกาลัดที่เป็นอาหารของเหล่าวานร จากวันละ 8 ผลกลายเป็น 7 ผลสำหรับวานรแต่ละตัว คิดได้ดังนั้นเขาจึงเปิดฉากเจรจากับเหล่าวานรว่า "จากวันนี้เป็นต้นไป ทุกๆ เช้าข้าจะมอบผลเกาลัดให้พวกเจ้าเพียงตัวละ 3 ผล ส่วนมื้อค่ำยังคงเป็น 4 ผลเช่นเดิม พวกเจ้าคิดว่าอย่างไร?"

"เช้า 3 เย็น 4" เมื่อฝูงวานรได้ฟัง ต่างก็ขบคิดไม่เข้าใจว่าเหตุใดส่วนแบ่งอาหารของตนในยามเช้าจึงน้อยลงไป 1 ผล จึงเริ่มต้นตะโกนโวยวาย วิ่งวุ่นไปมา แสดงอาการไม่พอใจเป็นอันมาก

เมื่อผู้เฒ่าเห็นดังนั้น จึงรีบกล่าวแก้ว่า "ถ้าเช่นนั้น เอาเป็นว่ามื้อเช้าพวกเจ้าจะได้เกาลัดตัวละ 4 ผลเหมือนเดิม ส่วนตอนเย็นค่อยลดลงไปเป็น 3 ผล อย่างนี้ใช้ได้หรือไม่?"
 
เหล่าฝูงวานร เพียงได้ยินผู้เฒ่ากลับคำพูดเป็น "เช้า 4 เย็น 3" ก็ไม่ทันขบคิดอันใด เพียงคิดว่าอาหารมื้อเช้ากลับมาเป็นจำนวนเท่าเดิมแล้ว ต่างก็พากันดีอกดีใจยิ่งนัก
 
สำนวน "เช้าสามเย็นสี่" แต่เดิมหมายถึงใช้กลวิธีเพื่อต้มตุ๋นหลอกลวงผู้อื่น ต่อมามักใช้เปรียบเปรยถึงการพูดแล้วคืนคำ หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาไม่อยู่กับร่องกับรอย


สำนวนนี้ใช้ในตำแหน่งภาคแสดง(谓语) ส่วนขยายนาม(定语) หรือส่วนขยายภาคแสดง(状语)


ที่มา http://baike.baidu.com/
กำลังโหลดความคิดเห็น