xs
xsm
sm
md
lg

ป๋อ ซีไหล ผู้นำรุ่นต่อไปของแดนมังกร และเสน่ห์ดึงดูดมวลชนที่แตกต่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป๋อ ซีไหล ในการประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนที่มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง วันที่ 6 มี.ค. 2553-ภาพเอเอฟพี
“ป๋อ ซีไหล เป็นผู้นำที่ไม่กลัวใคร และไม่เห็นตัว ขณะนี้พวกเราต้องการผู้นำรัฐอย่างป๋อ เขาต่อสู้เพื่อนำความยุติธรรมมาให้แก่ประชาชนทั่วไป” นาย หลี่ เหลย คนทำธุกิจชาวจีนคนหนึ่ง วัย 48 ปี กล่าวชื่นชม ป๋อ ซีไหล ผู้นำขวัญใจชาวจีนในขณะนี้

ป๋อ ซีไหล เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขานครฉงชิ่ง ได้สร้างผลงานเป็นที่กล่าวขวัญทั่วประเทศ เป็นนักการเมืองยอดนิยมจากปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มมาเฟียในมหานครที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่เพียงแต่สยบนักธุรกิจมาเฟียที่ฉ้อฉล ยังได้กวาดล้างมาเฟียอดีตผู้บัญชาการผู้ทรงอิทธิพลในหน่วยงานตำรวจ

จากการสำรวจทางออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ประชาชน หรือพีเพิล เดลี่ ชาวเน็ตได้เทคะแนนนิยมให้ ป๋อ ซีไหล เป็น “บุคคลแห่งปี”

และเมื่อป๋อ ซีไหล ย่างกายมายังมหาศาลาประชาคมแห่งกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (เอ็นพีซี) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 -14 มี.ค.) กลุ่มผู้สื่อข่าวทั้งต่างกรูเข้าไปรุมล้อมป๋อ ซีไหล จนกลายเป็นผู้นำเนื้อหอมที่สุดในการประชุมผู้แทนทั่วประเทศจีนปีนี้

แม้การประชุมประจำปีของสภาเอ็นพีซี หรือรัฐสภา ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทบทวนนโยบายและรับรองกฎหมาย ที่ได้รับไฟเขียวจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มาแล้ว อันเป็นหน้าที่ของสภาตรายางอย่างที่รู้ๆกัน แต่ก็เป็นโอกาสให้ผู้นำจากทั่วประเทศถกเถียงกันหลังฉากเกี่ยวกับการคัดสรรตัวผู้นำรุ่นต่อไป ที่จะมาสืบทอดบัลลังก์อำนาจแทน

ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ซึ่งจะหมดวาระตำแหน่งในอีกสองปีข้างหน้า (2555)

เป็นที่คาดว่า ในช่วงสองปีนี้ จะมีสมาชิกขององค์กรอำนาจสูงสุดที่กุมอำนาจแท้จริงคือคณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตปูโร จำนวนมากกว่าครึ่งต้องลงจากสังเวียนไปเนื่องจากหมดวาระตำแหน่งหรือด้วยวัยชรา เคลียร์เวทีการนำให้แก่กลุ่มผู้นำหน้าใหม่ ที่จะรับผิดชอบกิจการบ้านเมือง ทั้งด้านอุดมการณ์ การเมือง เศรษฐกิจ และการเงิน ไปถึงนโยบายระหว่างประเทศ และปฏิบัติการทหาร

สำหรับตัวเก็งทายาทตำแหน่งประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ที่มีการเปิดเผยกันไปมากแล้ว ได้แก่ หลี่ เค่อเฉียง วัย 55 ปี อดีตเกษตรกร ผู้ไต่เต้ามาจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงปักกิ่ง และขณะนี้นั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯ และตัวเก็งที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดอีกคนคือ สี จิ้นผิง วัย 57 ปี บุตรชายของผู้นำใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์ และขณะนี้นั่งตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งใครๆต่างเก็งว่า สี จะขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้ประมุขแห่งรัฐมังกร แทนหู จิ่นเทา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มนักวิจัยจีน ได้เขียนบทความ ชี้ว่า “อาจมีม้ามืดปรากฎกายขึ้นบนเวทีการเมืองจีน แบบเดียวกับในสหรัฐอเมริกา” โดยยังมีตัวเก็งที่มีศักยภาพโดยเฉพาะดาวรุ่งจากต่างมณฑล และ ป๋อ ซีไหล ก็เป็นหนึ่งในนั้น
กลุ่มสื่อกำลังรุมสัมภาษณ์ป๋อ ซีไหล ขณะที่เขามาถึงที่ประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชน ในกรุงปักกิ่ง วันที่ 6 มี.ค.-ภาพเอเอฟพี
ป๋อ ซีไหล อดีตรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ และนายกเทศมนตรีมณฑลยักษ์ใหญ่แห่งแดนอิสานจีนอย่างเหลียวหนิงมาแล้ว

ป๋อเป็นหนึ่งในกลุ่ม “ลูกท่านหลานเธอ” นอกจากมีรูปร่างสูง หน้าตาหล่อเหลา ยังเป็นผู้นำที่มีพรสวรรค์ มีเสน่ห์ที่แตกต่างจากที่ผู้นำอาวุโสท่านอื่นๆของจีนที่มักดูเคร่งขรึมและเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่แสดงตัวต่อสาธารณะและสื่อ คือการดึงดูดผู้คน เขาสามารถนำฝูงชนนับพันๆคนจับมือกันร่วมร้องเพลงแบบในยุค “วัฒนธรรมแดง” ออกรายการโทรทัศน์จับเข่าคุยกับกลุ่มคนงานที่นัดหยุดงานประท้วง ตลอดจนพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาผ่านข้อความออนไลน์

ด้วยวัย 60 ปี ป๋อ อาจแก่เกินไป และอาจโดนวิพากษ์วิจารณ์หากลงสนามท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่กลุ่มวิชาการจีนต่างเห็นพ้องกันว่าเขาน่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ที่มี 9 ที่นั่ง ซึ่งเป็นองค์กรที่กุมอำนาจตัดสินใจที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน

การที่ป๋อ ซีไหล กลายเป็นตัวเก็งที่ถูกจับตามองเช่นนี้ สะท้อนว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนไปไกลเพียงไรจากจุดยืนดั้งเดิม ทุกวันนี้รัฐธรรมนูญของพรรคฯเอียงเอนไปทางชนชั้นกลางมากขึ้นทุกที หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจและการเงิน มากกว่าเรื่องอุดมการณ์มาร์กซิส

พื้นเพของป๋อ ก็ไม่แตกไปจากพวกลูกท่านหลานเธอทั้งหลาย ที่เป็นทายาทของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคฯ เติบโตขึ้นในเขตชายฝั่งที่มั่งคั่ง มีการศึกษาสูง ภาษาอังกฤษดี เริ่มเข้าสู่สายอาชีพเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเริ่มการปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบตลาดในปลายทศวรรษที่ 1970

ตรงข้ามกับกลุ่มผู้นำรุ่นปัจจุบันจำนวนมาก ที่เติบโตในเขตตอนในของประเทศที่แร้นแค้น มาจากครอบครัวชนชั้นแรงงานทั่วไป และไต่เต้าสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานในรัฐบาลกลางหลังจากที่ผ่านประสบการณ์ประจำการในมณฑลที่ห่างไกล

ในด้านการตัดสินนโยบาย กลุ่มลูกท่านหลานเธอที่มีความโน้มเอียงเชื่อว่าอนาคตของประเทศขึ้นกับผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง ขณะที่ผู้นำคนอื่นๆให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เปราะบางในสังคมอย่างเช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงานอพยพ และชาวชนบทในเขตที่ยากจน

“ประชาชนมองว่าป๋อ เป็นผู้นำที่เที่ยงธรรม ซื่อสัตย์ และทันสมัย แต่ขณะเดียวกัน การที่ป๋อได้รับการยกย่องเชิดชูสูงเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ซึ่งอาจสร้างศัตรู” จาง หงเหลียง อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยหมินจู๋ กล่าว

ป๋อ ซีไหล เป็นบุตรชายคนที่สองของป๋อ อีปอ ซึ่งมีบุตรธิดาทั้งหมด 7 คน ป๋อ อีปอ เป็นหนึ่งในผู้นำอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีสมญาว่า “แปดเซียน” (Eight Immortals) ผู้นำในกลุ่ม “แปดเซียน” นี้ ถูกกวาดล้างในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในข้อหาสนับสนุนการค้าขายกับตะวันตกและการปฏิรูปแบบทุนนิยม ป๋อและครอบครัวถูกจำคุก ส่วนแม่ของเขาถูกทุบตีจนเสียชีวิตระหว่างการจับกุม จนกระทั่งเมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ได้กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2521 เติ้งก็ได้คืนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีให้แก่ป๋อ อีปอ และชีวิตของป๋อ ซีไหล ก็รุ่งโรจน์ขึ้น โดยได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากนั้นก็ได้เข้าทำงานในสถาบันบัณฑิตย์สถาน ซึ่งเป็นคลังสมองของรัฐบาล

ปัจจุบัน ป๋อ ซีไหล เป็นผู้ปกครองบริหารนครฉงชิ่ง เมืองใหญ่ที่สุดในกลุ่มเมือง 4 เมืองที่อยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลกลางโดยตรง มีประชากรมากถึง 32 ล้านคน อาศัยอยู่ตามฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง

ในปลายปี 2551 ชาวจีนทั่วประเทศต่างยกนิ้วให้ป๋อ ซีไหล ชื่มชมวิธีการของเขาในการคลี่คลายความขัดแย้งการสไตร์คของกลุ่มคนขับแท็กซี่ ตำรวจ และครูอาจารย์ในฉงชิ่ง ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว ขณะที่ผู้นำในเขตภาคต่างๆทั่วประเทศที่เผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกันนี้ ต่างจัดการปัญหาการสไตร์คของคนงาน ราวกับพวกเขาเป็นอาชญากร โดยนำกำลังตำรวจเข้าจับกุมตัวบรรดาผู้นำการประท้วง และส่งไปยังสถานีตำรวจ แต่ป๋อได้ใช้วิธีการที่ถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวแบบรากหญ้าในจีน โดยเชื้อเชิญตัวแทนคนขับรถแท็กซี่ มาพบปะพูดคุยกับเขาบนเวทีถ่ายทอดรายการของสถานีโทรทัศน์ และเจรจาเงื่อนไขยุติการสไตร์ค

ในปีถัดมา ปี 2553 ป๋อก็วางเดิมพันทางการเมืองอีกครั้ง โดยผลักดันโครงการรณรงค์ ที่เรียกว่า “โครงการวัฒนธรรมแดง” เชิญชวนประชาชนเข้ามาร่วมอ่านหนังสือ ศึกษา และร้องเพลงสรรเสริญงานของประธานเหมา เจ๋อตง ขณะที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งหัวเราะเยาะโครงการฯดังกล่าว แต่โครงการฯนี้ได้รับการเสียงตอบรับจากมวลชนนับแสนเข้าร่วมกิจกรรม.
กำลังโหลดความคิดเห็น