เอเจนซี-หลังจากที่มีการทบทวนตัวเลขใหม่ ในที่สุดจีนก็ยังคงเป็นผู้ถือหนี้รายใหญ่สุดของสหรัฐอเมริกาในปีที่แล้ว หลังจากที่เพิ่งมีข่าวเมื่อไม่นานนี้ว่าญี่ปุ่นชิงแท่นเจ้าหน้าที่หนี้รายใหญ่สุดของวอชิงตัน จากจีนกลับมาได้
กระทรวงการคลังแห่งสหรัฐฯได้เผยรายงานการทบทวนตัวเลขใหม่เมื่อวันศุกร์(26 กพ.พ.) ระบุว่าแม้จีนได้ตัดลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน แต่ตัวเลขมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันที่จีนถือครองก็ยังสูงกว่าญี่ปุ่น โดยจีนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่จีนถือครอง ณ ปลายเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา เท่ากับ 894,800 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่ายอด 755,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ประเมินเมื่อต้นเดือนก.พ. อย่างไรก็ตาม การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯของจีน ก็ลดลงจากยอด 929,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ของเดือนพ.ย.ปีที่ผ่านมา
สำหรับญี่ปุ่น ถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน 765,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่ายอด 769,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการประเมินครั้งก่อน
การทบทวนตัวเลขดังกล่าวใหม่ เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงคลังแดนอินทรีได้ตรวจสอบการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันของจีนในตลาดที่สามอย่างเช่นในตลาดลอนดอน และตลาดฮ่องกง ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาคำนวนในการประเมินก่อนหน้า
ทั้งนี้ ในการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพิจารณาทบทวนด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯกับจีนของสภาคองเกรสเมื่อวันพฤหัสฯ (25 ก.พ.) นายไซมอน จอห์นสัน อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ชี้ว่าจีนอาจอยู่เบื้องหลังอังกฤษถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ในปี2553 จาก 130,900 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า
จอห์นงงกับตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากอังกฤษขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้น เป็นไปได้ว่าจีนอาจนำเงินดอลลาร์ในต่างแดนของตนซื้อตราสารหนี้ลุงแซมผ่านคนกลางคือธนาคารในกรุงลอนดอน และอาจซื้อผ่านช่องทางอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องแน่นอนเกือบทีเดียวว่า ตัวเลขการถือครองของจีนตามที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เผยในต้นเดือนนั้น ต่ำกว่าความเป็นจริง
จาก“ข้อสมมติฐาน ที่สมเหตุสมผล” ตามคำกล่าวของ จอนห์สัน ระบุว่า จีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเกือบถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของที่ผู้ถือครอง“อย่างเป็นทางการของต่างชาติ” ถืออยู่ ซึ่งมีจำนวน 2.374 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี2552
ด้านนายดีเร็ก ซิสเซอร์ส ผู้เชี่ยวชาญนโยบายเศรษฐกิจเอเชียแห่งสถาบันเฮริเทจ ฟาวน์เด่นในกรุงวอชิงตันชี้แจงว่า เป็นที่แน่นอนว่าการซื้อจำนวนหนึ่งโดยตัวแทนในอังกฤษและฮ่องกงนั้นเป็นการซื้อแทนสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐ (SAFE) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนในการซื้อตราสารหนี้ต่างชาติ
เหตุผลที่ต้องแอบซื้อนั้น ก็เพื่อปิดบังปริมาณของผลตอบแทนที่ต่ำ ซึ่งจีนได้รับจากพันธบัตรดังกล่าว และหลีกเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศ โดยจีนจำเป็นต้องระบายทุนสำรองแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่มีจำนวนมหาศาล และสหรัฐฯเป็นตลาดเงินแห่งเดียว ที่สามารถดูดซับเงินเหล่านี้ได้
ผู้เข้าร่วมชี้แจงฯในสภาคองเกรสอินทรี ยังเตือนว่าการที่จีนเป็น “นายแบงก์” ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และการแก้ไขความขัดแย้งกับปักกิ่ง ตลอดจนการช่วยเหลือผู้คนที่ถูกปราบปรามทางการเมืองในจีนย่อมทำได้ยากลำบากขึ้น