xs
xsm
sm
md
lg

จีนอาจกำลังปกปิดการซื้อพันธบัตรมะกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี.- เอเอฟพี
เอเอฟพี – ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกต พญามังกร ซึ่งฉากหน้าทำทีเป็นขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ออกไปอย่างมากเมื่อไม่นาน แท้จริงแล้วอาจกำลังซื้อกลับคืนมาอย่างลับ ๆ ในประเทศที่3 อยู่ก็เป็นได้

ตัวเลขล่าสุดของกระทรวงการคลังมะกันในเดือนก.พ. ระบุ จีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของตนได้ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลง 34.2 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 4.3 เหลือสุทธิ 755.4 พันล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นการลดการถือครองมากที่สุดในรอบราว 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพิจารณาทบทวนด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯกับจีนของสภาคองเกรสเมื่อวันพฤหัสฯ (25 ก.พ.) นายไซมอน จอห์นสัน อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ตั้งข้อสังเกตว่า จีนอาจอยู่เบื้องหลังอังกฤษถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มสูงถึง 300 พันล้านดอลลาร์ในปี2553 จาก 130.9 พันล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า

จอห์นสันงงกับตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากอังกฤษขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว โดยจีนอาจนำเงินดอลลาร์ในต่างแดนของตนซื้อตราสารหนี้ลุงแซมผ่านคนกลางคือธนาคารในกรุงลอนดอน และอาจซื้อผ่านช่องทางอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องแน่นอนเกือบทีเดียวว่า ตัวเลขการถือครองของจีนตามที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง

จาก“ข้อสมมติฐาน ที่สมเหตุสมผล” ตามคำกล่าวของ จอนห์สัน ระบุว่า จีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเกือบถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของที่ผู้ถือครอง“อย่างเป็นทางการของต่างชาติ” ถืออยู่ ซึ่งมีจำนวน 2.374 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี2552

ด้านนายดีเร็ก ซิสเซอร์ส ผู้เชี่ยวชาญนโยบายเศรษฐกิจเอเชียแห่งสถาบันเฮริเทจ ฟาวน์เด่นในกรุงวอชิงตันชี้แจงว่า เป็นที่แน่นอนว่าการซื้อจำนวนหนึ่งโดยตัวแทนในอังกฤษและฮ่องกงนั้นเป็นการซื้อแทนสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐ (SAFE) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนในการซื้อตราสารหนี้ต่างชาติ

เหตุผลที่ต้องแอบซื้อนั้น ก็เพื่อปิดบังปริมาณของผลตอบแทนที่ต่ำ ซึ่งจีนได้รับจากพันธบัตรดังกล่าว และหลีกเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศ โดยจีนจำเป็นต้องระบายทุนสำรองแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่มีจำนวนมหาศาล และสหรัฐฯเป็นตลาดเงินแห่งเดียว ที่สามารถดูดซับเงินเหล่านี้ได้

ขณะที่ผู้เข้าชี้แจงอีก 2 คนตั้งข้อสังเกตว่า จีนก้าวออกจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐฯ กลับตึงตัว จึงไม่อาจหลุดพ้นการพึ่งพาด้านการเงินจากจีน ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นได้ง่าย ๆ ซึ่งเป็น“สถานการณ์ผิดปกติ” และจะมีผลกระทบตามมา

นอกจากนั้น การที่จีนเป็น “นายแบงก์” ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และการแก้ไขความขัดแย้งกับปักกิ่ง ตลอดจนการช่วยเหลือผู้คนที่ถูกปราบปรามทางการเมืองในจีนย่อมทำได้ยากลำบากขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น