xs
xsm
sm
md
lg

“ไป่ตู้” รอรวบตลาดเน็ตจีน ในโลกหลังกำแพงไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไป่ตู้ (百度-Baidu) ผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของประเทศจีน และเป็นเว็บไซต์ที่มีคนใช้มากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก (ภาพเอเอฟพี)
เอเยนซี-จากความเป็นไปได้ที่กูเกิล เสิร์ชเอนจิน ที่ดังที่สุดในโลกอาจจะไม่มีอนาคตในจีนอีกต่อไป และการถอนตัวของกูเกิลยังอาจส่งผลให้อีเบย์ กับยาฮู! เหงาหงอยและทยอยถอยจากตลาดจีนตาม จนไม่เหลือกิจการต่างชาติเดี่ยวๆ ที่จะมาแชร์ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีน ซึ่งมีจำนวนกว่า 384 ล้านคนแล้วในเวลานี้ และกำลังจะถูก "ไป่ตู้" ครอบครองตลาดโดยเบ็ดเสร็จ

จากแถลงการณ์เชิงขู่ของกูเกิลในวันอังคาร (12 ม.ค.) เผยว่า ตรวจพบการแอบเจาะข้อมูลเข้าไปในระบบฯ บัญชี จีเมล์ ของนักรณรงค์สิทธิมนุษยชนจีน โดยมือมืดมีฐานอยู่ในจีน และว่าจะไม่ยอมคัดกรองผลการสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ Google.cn และหมายถึงการปิดให้บริการในจีน ซึ่งเฝ้าควบคุมปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ในประเด็นอันอ่อนไหวต่อเสถียรภาพสังคม ด้วยโครงการ Golden Shield (โล่ทองคำ) หรือที่รู้จักกันในชื่อกำแพงไฟมหากาฬ Great Fire Wall

ในนามของ "เสรีภาพ" ฤา "จักรวรรดิ์นิยมอำพราง"
จิ่น ยุ่น นักวิเคราะห์ของ Nomura Holdings Inc. เขียนในรายงานวิคราะห์ไว้ในวันเดียวกันนั้นว่า ไป่ตู้ เสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของประเทศจีน และเคยได้รับขนานนาม “กูเกิลจีน” จะได้ส่วนแบ่งตลาดชิ้นใหญ่ที่กูเกิลมีอยู่เมื่อกูเกิลถอนตัวไป รวมทั้ง Tencent และ Sohu.com ก็จะได้ประโยชน์จากการนี้ด้วย ตลาดแนสแดกก็ดูจะสะท้อนรับความเห็นนี้ เมื่อหุ้นของไป่ตู้ในตลาดแนสแดก วันเดียวกันนั้น ขึ้นมาทันที 13.7% ขณะที่กูเกิลตกลงไป 0.6% ที่ราคา 587.09 เหรียญสหรัฐ

แคทลีน เหลียง นักวิเคราะห์จาก ซิติกรุ๊ป บอกว่าเทคโนโลยีและความสามารถในการปรับตัวของกูเกิล ทำให้กูเกิลเป็นผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตต่างชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุดในจีน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว บริษัทต่างชาติจะพบกับแรงกดดันมากกว่าบริษัทท้องถิ่น และถ้าไปต่อต้านรัฐบาล มันก็ไม่ราบรื่นในการดำเนินกิจการอีกต่อไป

โดยล่าสุด ทำเนียบขาว สหรัฐฯ ก็ยังคงพยายามขยายผล ให้เลยเถิดออกไป ด้วยการที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันศุกร์ ที่ 22 ม.ค. วิจารณ์รัฐบาลจีนและรัฐบาลเผด็จอำนาจในหลายประเทศ อาทิ เกาหลีเหนือ, เวียดนาม และซาอุดีอาระเบีย ว่าจำกัดเสรีภาพในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลและการสกัดกั้นชุมชนออนไลน์ พร้อมกับเรียกร้องรัฐบาลเหล่านี้ยุติการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต

หม่า จ้าวฉู่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงตอบโต้ในเว็บไซต์ของกระทรวงฯในวันเดียวกันว่า คำวิจารณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติได้ พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐฯ เคารพต่อข้อเท็จจริงและหยุดใช้สิ่งที่อ้างว่าเป็นเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตมากล่าวหาจีนอย่างไร้เหตุผล แทนที่จะร่วมรับมือกับประเด็นอ่อนไหวและความขัดแย้งด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อปกป้องสัมพันธภาพฯ

ขณะที่โกลบอล ไทมส์ หนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งบริหารงานโดยพีเพิ่ลส์เดลี กระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน ศอกกลับสหรัฐฯ ในบทบรรณาธิการทันควันว่า ข้อเรียกร้องของลุงแซม ให้เปิดเสรีทางอินเทอร์เน็ตในจีนเป็นรูปแบบหนึ่งของ “ลัทธิจักรวรรดินิยมอำพราง” ที่จะยัดเยียดคุณค่าของตนบนวัฒนธรรมของผู้อื่นในนามประชาธิปไตยของตะวันตก

อนาคตของยักษ์ตะวันตก
ในสัปดาห์แห่งความไม่แน่ชัดของอนาคตกูเกิล สื่อทางการจีนก็ได้รายงานคำแถลงฯ ของ หยาว เจียน โฆษกของกระทรวงพาณิชย์จีนว่า กระทรวงฯ กำลังรอฟังความประสงค์ชัดเจนของกูเกิล และยังไม่ได้รับรายงานใดๆ ในเรื่องที่บริษัทฯ จะถอนตัวจากการทำธุรกิจในจีน พร้อมทั้งกล่าวในภาพรวมว่า จีนจะยังคงดูแลสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่แข็งแกร่งให้กับนักลงทุนต่างชาติต่อไป ซึ่งเหยา เจียน เสริมว่า ไม่ว่ากูเกิลจะตัดสินใจอย่างไร ก็ไม่กระเทือนกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพราะมีการสื่อสารกันได้หลายช่องทาง และก็ยังเชื่อมั่นต่อพัฒนาการที่ดีของประเทศทั้งสอง

อนึ่ง คำกล่าวของหยาว เจียน สะท้อนจุดยืนในการควบคุมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ต ด้วยการบอกว่า “ใครก็ตามที่จะมาดำเนินกิจการในจีน ก็ต้องเคารพกฎหมาย กฎเกณฑ์ ความคิดเห็นของประชาชน วัฒนธรรม และประเพณี ตลอดจนนโยบายของประเทศที่ตนเองเข้ามาลงทุน รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นด้วย เพราะจีนได้เปลี่ยนโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบเดิมมาเป็นระบบเศรษฐกิจการตลาดแห่งสังคมนิยม และการพัฒนาสังคมให้มีเสถียรภาพคือสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก่อน”

ขณะที่ เจียง อี๋ว์ โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศจีน ออกมาแถลงตอบโต้กูเกิลอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ม.ค.) โดยย้ำว่า รัฐบาลจีนเองก็ต่อต้านปฏิบัติการคุกคามบนไซเบอร์ทุกรูปแบบ เช่นการแฮกข้อมูล จีนก็เหมือนกับชาติอื่นๆ ที่บริหารจัดการอินเทอร์เน็ตภายใต้กรอบของกฎหมาย” เจียง แถลงอย่างหนักแน่นว่า จีนให้การต้อนรับกิจการอินเทอร์เน็ตต่างชาติที่ปฏิบัติตามกฎหมายของจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว

จากสภาพการดำเนินกิจการอินเทอร์เน็ตในจีนที่รัฐควบคุมอย่างเข้มงวดนี้ คงยากที่บริษัทต่างชาติจะเป็นผู้นำฯ

เริ่มจาก ยาฮู! ที่ได้ขายกิจการในจีนและซื้อหุ้น ประมาณ40% มูลค่า 1,000ล้านเหรียญสหรัฐ ในอาลีบาบา กรุ๊ปโฮลดิงส์ แทนไปแล้ว

ส่วน อีเบย์ อีคอมเมิร์ซ ที่มีคนเข้ามากที่สุดจากสหรัฐฯ ก็ปิดดำเนินการในจีนตั้งแต่ปี 2549 แล้ว แต่ขณะนี้พ่ายแพ้ "เถาเป่า" ย่อยยับ ขณะที่ซานโฮเซ่ ในแคลิฟอร์เนีย โอนการลงทุนให้กับ ทอม ออนไลน์อิงก์ ของลีกาชิง มหาเศรษฐีฮ่องกง

ไมโครซอฟท์ ใช้การร่วมลงทุนกับ Shanghai Alliance Investment Ltd. ของรัฐบาลจีน ในปี 2548 เพื่อดำเนินกิจการบริการส่งเมสเสจออนไลน์

Amazon.com ผู้ค้าปลีกอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดของโลก ดำเนินกิจการอีคอมเมิร์ซ Joyo.com ในปักกิ่ง ขณะที่ Telstra Corp. ของออสเตรเลีย ถือหุ้นใน Sonfun Holdings ของจีน

ดันแคน คลาร์ก ประธานของบีดีเอ ไชน่า บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจฯ บอกว่านอกจากจะเห็นแนวโน้มที่มากขึ้นของการป้องกันควบคุมแล้ว ยังมีความรู้สึกมากขึ้นของการไม่ยอมผ่อนผันต่อกิจการต่างชาติ
หน้าจอของ Great Firewall ที่เป็นดั่งเทพทวารบาลคอยเฝ้าระวังประตูข้อมูลอันอ่อนไหวต่อเสถียรภาพทางสังคม การเมือง และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนจีน (ภาพเอเยนซี)
เน็ตจีน จากม่านไม้ไผ่ สู่โลกหลังกำแพงไฟ
ตลอด 4 ปี ที่ดำเนินกิจการในจีน ปัญหาเซนเซอร์เป็นสิ่งที่ท้าทายระหว่างกูเกิลหรือกิจการไซเบอร์ต่างชาติอื่นๆ ผู้เข้ามาดำเนินธุรกิจกับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบพรรคเดียว และควบคุมการกระจายข้อมูลข่าวสารด้วยสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่า Great Firewall of China เพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ในประเด็นอันอ่อนไหว อาทิ เว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกับบรรดาผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มฝ่าหลุนกง รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต และข้อมูลของการประท้วงที่จัสตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532

เช่นเมื่อปีที่แล้ว ที่ยูทูบโดนปิดไป หลังจากปล่อยวิดีโออันแสดงให้เห็นภาพตำรวจจีนทำร้ายผู้ประท้วงในจลาจลซินเจียงเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งทางการจีนชี้แจงผ่านสื่อของรัฐว่า เป็นวิดีโอคลิบที่มีการจัดฉากสร้างขึ้นมา

ทั้งนี้ เนื้อหาสารสนเทศในสื่ออินเทอร์เน็ต ที่ต้องห้ามของทางการจีนนั้น มีอาทิ ข้อมูลที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศจีน ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความลับของประเทศ การล้มรัฐบาล ข้อมูลที่ทำลายชื่อเสียงเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของประเทศ ข้อมูลที่แสดงการแบ่งแยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือการเลือกปฏิบัติ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านศาสนาของรัฐบาล หรือการเผยแพร่ลัทธิความเชื่อต่างๆ ข้อมูลการกระจายข่าวลือซึ่งกระทบต่อความเรียบร้อยของสังคม ข้อมูลเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร การพนัน ความรุนแรง การเข่นฆ่า การก่อการร้าย ข้อมูลการหมิ่นประมาทฯหรือการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ซึ่งระบบป้องกันควบคุมที่เข้มงวดของจีนจะยังคงเป็นเช่นนี้ ตราบเท่าที่ไม่ขัดขวางความเจริญต่อการพัฒนาประเทศ

ปีที่แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ประกาศคำสั่งผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. กำหนดให้บริษัทโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องดำเนินการตรวจสอบ“อย่างครบถ้วนและทั่วถึง”ว่ามีเว็บไซต์ใดบ้าง ที่จดทะเบียนกับกระทรวงฯ โดยเว็บไซต์ที่มิได้จดทะเบียนจะต้องถูกถอดออกจากอินเทอร์เน็ต กฎระเบียบใหม่ยังเพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับขั้นตอนการจดทะเบียนโดเมนเนม ผู้ให้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบการ ขณะที่เว็บไซต์เองก็ต้องมีใบอนุญาตประกอบการ หรือลงทะเบียน จึงเท่ากับเป็นการห้ามการเปิดเว็บไซต์ของเฉพาะบุคคล

เถียน โหว นักวิเคราะห์ Pali Capitol Inc. ในนิวยอร์ก กล่าวถึงผลกระทบของการเซ็นเซอร์ว่า หากมีมากขึ้นก็จะมีผลต่อไป่ตู้เหมือนกัน ถึงแม้ว่ากูเกิลถอยจาก แล้วไป่ตู้ กิจการเจ้าถิ่นจะได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น แต่ก็คงไม่ใช่ชิ้นใหญ่อะไร

ไตรมาส 4 ปี 2552 ข้อมูลของนักวิเคราะห์ฯ ระบุว่า ไป่ตู้ เป็นเสร์ชเอ็นจิน ที่ครองตลาดอินเทอร์เน็ตจีน ด้วยสัดส่วน 58.4% ส่วนกูเกิลครอง 35.6% โดยบลูมเลิร์ก เผยผลคาดการณ์ของนักวิเดราะห์ กว่า 17 คน ว่าปีนี้ ยอดรายได้ของไป่ตู้ อาจจะอยู่ที่ราว 6,200 ล้านหยวน ซึ่งตามรายงานของ Internet consulting group iResearch วันที่ 18 ม.ค. รายได้จากธุรกิจออนไลน์ ในจีนปีที่แล้ว มีมูลค่ากว่า 74,300 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% และคาดปีนี้มูลค่าจะพุ่งเป็น 1.123 แสนล้านหยวน

รายงานของซิติกรุ๊ป โดยแคทลีน เหลียง วันที่ 13 ม.ค. คาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้ กูเกิลน่าจะมีรายได้ในจีน ราว 350 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.5% ของรายได้รวมทั้งหมดของกูเกิล และกูเกิลอาจจะไม่ถอนตัวอย่างถาวรจากจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น