เอเจนซี- -กูเกิล ขู่ปิดบริการในจีน หลังพบว่ากูเกิลและบริษัทอีกอย่างน้อย 20 แห่ง ถูกนักเจาะระบบในจีนแอบเข้าล้วงข้อมูลอย่างหนัก พบบัญชีอีเมล์ของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจีนเป็นเป้าหมายหลักของปฏิบัติการดังกล่าว
แถลงการณ์ของกูเกิลในวันอังคาร (13 ม.ค.) เผยว่า ตรวจพบการล้วงข้อมูลในบัญชีอีเมลจีเมลของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจีน และบริษัทหลายแห่ง อาทิ บริษัทด้านการเงิน อินเทอร์เน็ต สื่อมวลชน เทคโนโลยี และธุรกิจเคมี
นางฮิลลารี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทางการจีนอธิบายการเจาะข้อมูลครั้งนี้ และระบุว่า ปฏิบัติการในโลกไซเบอร์อย่างมั่นใจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมและเศรษฐกิจสมัยใหม่
เดวิด ดรัมมอนด์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของกูเกิล ระบุในแถลงการณ์ของบริษัทฯ ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบกับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของจีน ทำให้กูเกิลต้องทบทวนการให้บริการ โดยกูเกิลจะไม่ยอมคัดกรองผลการสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ Google.cn ซึ่งให้บริการในจีนอีกต่อไป และนั่นอาจหมายถึงการปิดให้บริการในจีน
ตลาดเสริช์เอ็นจินในจีน ถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อคิดในเชิงรายได้ เทียบกับสัดส่วนผู้ใช้บริการ 360 ล้านราย และถูกมองว่าเป็นตลาดที่บริษัทอเมริกันไม่สามารถเป็นผู้นำ ขณะที่ยักษ์ใหญ่เสิร์ช เอนจินจีน ไป๋ตู อิงก์ สามารถครองส่วนแบ่งตลาดในจีน ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ขณะที่กูเกิลมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 30
ไม่กี่ปีมานี้ การคุมเข้มเว็บไซต์ได้ทำให้จีนมีปัญหากับบริษัทต่างชาติหลายราย โดยรัฐบาลจีนอ้างว่า ต้องการปกป้องเยาวชนจีนจากสื่อลามกและรุนแรงทางอินเตอร์เน็ต แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า จีนทำถึงขนาดใช้การเซ็นเซอร์และเข้าไปบุกรุกความเป็นส่วนตัวในการใช้คอมพิวเตอร์ และมีเป้าหมายทางการเมืองแอบแฝง
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางการจีนสั่งให้กูเกิล ปิดกั้นเว็บไซต์ต่างประเทศที่มีเนื้อหานำไปสู่ความเสื่อมทราม เพื่อไม่ให้มีการค้นต่อได้ในกูเกิลเวอร์ชั่นจีน
กูเกิลกล่าวว่า ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนแล้ว และได้ดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่า ผลการค้นหาที่ปรากฎในเวอร์ชั่นจีนไม่มีปัญหาในเรื่องนี้อีก
ดรัมมอนด์เผยว่า กูเกิลตรวจพบว่าในช่วงกลางเดือนธันวาคม มีการแอบเจาะข้อมูลเข้าไปในระบบโครงสร้างพื้นฐานของกูเกิ้ล โดยมือมืดมีฐานอยู่ในจีน ใช้ระบบปฏิบัติการอย่างซับซ้อน ทั้งนี้ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เจาะข้อมูลพยายามเข้าบัญชี จีเมล์ ของนักรณรงค์สิทธิมนุษยชนจีน อย่างไรก็ตาม กูเกิลเชื่อว่า สามารถสกัดการเจาะข้อมูลได้เป็นส่วนใหญ่ และมีเพียงเฉพาะข้อมูลปลีกย่อยเช่นวันที่สร้างและบรรทัดหัวเรื่องที่ถูกขโมยจากสองบัญชี
“นัยของเรื่องนี้ก็คือ รัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าเจาะข้อมูลครั้งนี้แน่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และกูเกิลก็มองว่า ตนไม่สามารถทำงานได้ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้" สตีเฟ่น จู นักวิเคราะห์ของ RBC Capital Markets กล่าวและว่า การตัดสินใจครั้งนี้จะถือเป็นการเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญของกูเกิ้ล หลังจากหลายฝ่ายเชื่อว่า กูเกิลจะมุ่งเน้นโอกาสการเจริญเติบโตระยะยาวในจีน
กูเกิล ได้เผชิญกับหนทางวิบากในประเทศจีน ซึ่งผู้คนในจีนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของกูเกิลอย่าง YouTube ได้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม และปีที่แล้ว ผู้ใช้บริการจีนจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงหลายบริการหลักของ กูเกิล เช่น จีเมล์ และ Google.com
"เราได้ตัดสินใจแล้วว่า เราจะไม่ยอมให้มีการเซ็นเซอร์ผลการค้นหาใน Google.cn ของเรา ดังนั้น ในอีกสองสามสัปดาห์ข้างหน้า เราจะคุยกับรัฐบาลจีนบนพื้นฐานที่ว่า เราจะสามารถให้บริการเสิร์ชเอนจินโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ ภายใต้กฎหมาย " ดรัมมอนด์กล่าว
ตามประมาณการของเจ พี มอร์แกน ตลาดเสิร์ชเอนจินในประเทศจีน ปีที่แล้ว ทำยอดทะลุถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะเติบโตถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีนี้ แต่ ยอดโฆษณาผ่านเสิร์ชเอนจิน ยังคงน้อยกว่าร้อยละ 50 ของตลาดโฆษณาออนไลน์ทั้งหมดในประเทศจีน เมื่อเทียบกับร้อยละ 67 ในสหรัฐฯ
คอลลินส์ สจ๊วร์ต นักวิเคราะห์ของ แซนดีพ อักกอร์วอล กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ กูเกิล ก้าวขึ้นเป็นเครื่องมือค้นหา ที่ใหญ่ที่สุด และหนึ่งในบริษัทอินเทอร์เน็ตชั้นนำ อยู่ที่การดูแลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ หากความเป็นส่วนตัวนี้ถูกคุกคามท้าทาย ก็อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลกของกูเกิลได้
กูเกิลขู่เลิกกิจการในจีนกดดันยักษ์ใหญ่ไอทีมะกัน
ล่าสุด ความเคลื่อนไหวของกูเกิ้ลที่ปฏิเสธการตรวจสอบของจีนได้สร้างแรงกดดันให้กับบรรดายักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอื่นๆ ของสหรัฐฯ แล้ว
โดย ร็อบ เอนเดอร์ลี จากกลุ่มเอนเดอร์ลี กรุ๊ป (Enderle Group) ในซิลลิคอนแวลลี กล่าวว่า จีนเป็นตลาดที่โตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเดินผละหนี และการขัดแย้งกับรัฐบาลจะทำให้มีปัญหา ถ้าต้องการจะทำธุรกิจในจีน ก็ควรจะทำตามกฎของเขา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกฎของจีน
หลายปีมานี้ กูเกิล, ซิสโก้, ไมโครซอฟท์ และยาฮู! ได้ถูกกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน สมาชิกสภาคองเกรส และคนอื่นๆ โจมตีว่าร่วมมือกับจีนในการใช้โปรแกรมตรวจสอบเว็บไซต์ "Great Firewall of China"
จีนมีกฎคุมเข้มอินเทอร์เน็ต ปิดกั้นเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกับบรรดาผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มฝ่าหลุนกง รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต และข้อมูลของการประท้วงที่จัสตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532
โฆษกของซิสโก้ กล่าวว่า ทางบริษัทไม่มีความคิดเห็นต่อการแถลงฯ ของกูเกิล
ส่วนไมโครซอฟท์ ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกับการตัดสินใจของกูเกิล เพียงแต่กล่าวว่า เมล์ของไมโครชอฟท์ไม่ได้ถูกล่วงละเมิดแต่อย่างใด
โฆษกของยาฮู กลับยินดีกับการตัดสินใจของกูเกิลและเน้นว่า ขณะที่ยังรักษาการลงทุนอยู่ บริษัทได้ขายกิจการในจีน และจะไม่มีการบริหารการปฏิบัติการใน ยาฮู! จีน อีกแล้ว
ขณะที่ยังไม่มีความเห็นจากทาง แอปเปิล ซึ่งเมื่อเดือนก่อนเพิ่งยอมจีนในการปิดกั้นข้อมูลจากทะไล ลามะผู้นำจิตวิญญาณทิเบต และเรบิยะ กอร์ดีร์ ผู้นำอุยกูร์แห่งซินเจียง ในเครื่องโทรศัพท์ไอโฟน
คโลไธด์ เลอ คอซ กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ซึ่งได้ร่วมจัดกิจกรรม “วันต่อต้านการปิดกั้นข้อมูลอินเทอร์เน็ต” กับองค์การนิรโทษกรรมสากล ในเดือนมีนาคม แสดงความดีใจกับการเคลื่อนไหวของทาง กูเกิล แต่กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงผลลัพธ์
เลสลี แฮร์รีส ประธานศูนย์เทคโนโลยีกับประชาธิปไตย ก็ชื่นชมกูเกิล ว่า เป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญและยากอย่างยิ่งสำหรับกูเกิลที่จะเรียกร้อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกล่าวว่า กูเกิล, ไมโครซอฟท์ กับยาฮู! ล้วนเป็นสมาชิกของ "Global Network Initiative" (GNI) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2551
GNI เป็นการร่วมกันของบริษัทอินเทอร์เน็ต องค์กรสิทธิมนุษยชน สถาบันการศึกษา นักลงทุน โดยพันธกิจร่วมกันของกิจการเทคโนโลยีว่าจะปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ผลักดันในเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตในระหว่างการเยือนจีนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า เขาเป็นผู้สนับสนุนอย่างจริงจังกับเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ต และเป็นผู้สนับสนุนใหญ่ของการไม่ยอมให้มีการตรวจสอบ