รอยเตอร์/เอเอฟพี - จีดีพีไตรมาส 4แดนมังกรดีดขึ้นสู่ตัวเลข 2 หลัก ขณะที่เศรษฐกิจในปี 2552 โตฉลุย ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ แต่เงินเฟ้อกลับพุ่งทะยาน บรรดานักเศรษฐศาสตร์เร่งจีนคุมเข้มนโยบาย ก่อนเศรษฐกิจจะร้อนแรงเกินควบคุม
เมื่อวันพฤหัสฯ (21ม.ค.) สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานตัวเลขเศรษฐกิจปีที่แล้ว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีในเดือนต.ค.-ธ.ค. โตร้อยละ10.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งแม้ต่ำกว่าประมาณการณ์ที่ร้อยละ 10.9 แต่ก็ขยายตัวอย่างมาก เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งมีการปรับทบทวนแล้ว ที่ร้อยละ9.1 ในไตรมาส 3 และถือเป็นการเติบโตสุด นับตั้งแต่ช่วงไตรมาส2ของปี2551 เป็นต้นมา
นอกจากนั้น เศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี2552 ยังขยายตัวถึงร้อยละ 8.7 ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 8 อันเป็นเป้าหมายการเติบโต ที่สามารถสร้างงาน และระงับการจลาจลวุ่นวายในประเทศ ซึ่งมีประชากรถึง1,300 ล้านคนได้
นักวิเคราะห์ระบุว่า จีดีพีไตรมาส4นี้จะเป็นแรงส่งให้มังกรก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกแทนญี่ปุ่นในปีนี้อย่างแน่นนอน
อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อของจีนกลับพุ่งสูงสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งตอกย้ำความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะฟองสบู่ โดยนายหม่า เจี้ยนถัง กรรมาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติยอมรับว่า จีนจำเป็นต้องสกัดกั้นไม่ให้ราคาสินทรัพย์ปรับขึ้นรวดเร็วเกินไป และต้องจับตาแนวโน้มของราคาอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อของจีนในปี2553 น่าจะอยู่ในระดับปานกลางและควบคุมได้
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดหลักของเงินเฟ้อเดือนธ.ค.ปรับขึ้นร้อยละ1.9จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การลงทุนสินทรัพย์ถาวรในเมือง ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการใช้จ่ายของรัฐบาลด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจปรับขึ้นร้อยละ30.5 ในปี 2552 ขณะที่การลงทุนสินทรัพย์ถาวรโดยรวมทั้งหมดปรับขึ้นร้อยละ30.1
ผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส4 เพิ่มร้อยละ18 และทั้งปีเพิ่มร้อยละ11 การขายสินค้าปลีกในปีที่แล้วพุ่งขึ้นร้อยละ15.5
ด้านนายไบรอัน แจ็กสัน นักกลยุทธ์ของรอแยล แบงก์ ออฟ แคนาดาในฮ่องกงระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายของจีนต้องดำเนินการโดยเร็ว เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรง โดยแม้จะได้เห็นว่ารัฐบาลจีนได้เริ่มเข้ามาคุมเข้มนโยบายบ้างแล้ว เช่นเข้ามาควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แต่ยังจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเพิ่มค่าเงินหยวนอีกด้วย
มีการคาดการณ์กันมากขึ้นทุกทีว่า จีนจะยอมปล่อยเงินหยวนให้แข็งค่าเพื่อกดเงินเฟ้อ และกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยนักเศรษฐศาสตร์ของCICCในกรุงปักกิ่งคาดว่า เงินหยวนน่าจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในเดือนมีนาคม หรือเมษายน ซึ่งจะค่อยเป็นค่อยไปประมาณร้อยละ3-5ต่อปี
เวิลด์แบงก์เห็นลางเศรษฐกิจฟองสบู่
ใน“ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี2553” ซึ่งเป็นรายงานประจำปีของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะโตถึงร้อยละ 9.0 ซึ่งจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 2.7 ดูแคระแกร็นลง
อย่างไรก็ตาม เวิลดแบงก์มองเห็นสัญญาณของภาวะฟองสบู่และสัญญาณของความตึงเครียดในเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบ้านที่อยู่อาศัย
นาย ฮันส์ ทิมเมอร์ ผู้อำนวยการคณะผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ระบุว่า มีความอ่อนแอหลายประการเกิดขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากมายเกินไปของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนก็ยอมรับในเรื่องนี้
ด้านนายหลิว หมิงคัง ประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลการธนาคารของจีนกล่าวเมื่อวันพุธ (20ม.ค.) จีนจะเข้าควบคุมการปล่อยสินเชื่อ หลังจากยอดการปล่อยสินเชื่อโตเปรี้ยงปร้างในปีที่แล้ว แต่ไม่มีแผนระงับการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่กำลังมีการบรรเทาความร้อนแรงของเศรษฐกิจแต่อย่างใด