เข้าสู่ช่วงปลายปีฉลูเข้าไปแล้วสำหรับประเทศต่างทั่วโลก ก็เริ่มเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีตามที่คาดการณ์กันเอาไว้ เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยภาพรวมแล้วดูเหมือนส่วนใหญ่ก็กำลังฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีตามตลาดโลกเช่นกัน
สถาบันวิจัยนครหลวงไทยรายงานภาวะเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียของประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นพบว่าอัตราว่างงานของญี่ปุ่นเดือน พ.ย. 2552 ที่ระดับ 5.2% เพิ่มขึ้นจาก 5.1% ในเดือนก่อนหน้า และยังถือได้ว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ส่งผลให้จำนวนคนว่างงานโดยรวมในญี่ปุ่นมีจำนวนทั้งสิ้น 3.31 ล้านคน เพิ่มขึ้น 750,000 คน จากในช่วงเดียวกันของปี 2551 ขณะที่ในด้านของสัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้สมัครงาน (Job-To-Applicant Ratio) เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 0.45 จากระดับ 0.44 ในเดือนก่อนหน้า
โดยอัตราการว่างงานของญี่ปุ่นยังคงชะลอตัว ตามระดับความมั่นใจของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ การกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนของระดับอัตราการว่างงานของญี่ปุ่นในช่วงเดือน พ.ย. 2552 ที่ผ่านมา SCRI มองว่าโดยรวมแล้วถือได้ว่ายังคงมีสาเหตุหลักจากการที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเทศ ยังมีความพยายามลดต้นทุนในการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง เพราะในภาพรวมยังคงโดนกดดันจากปริมาณการสั่งซื้อสินค้าทั้งจากในและนอกประเทศที่ยังคงไม่กลับเข้าสู่ในระดับเสถียรภาพ ส่งผลให้ทางผู้ประกอบการจึงยังมีความระมัดระวังอย่างสูงในการปรับปัจจัยการผลิตให้เหมาะสมกับคำสั่งซื้อที่เข้ามา ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาจึงได้ยังคงมีความพยายามที่จะลดอัตราการจ้างงานแบบเต็มเวลาโดยหันไปจ้างพนักงานชั่วคราวมากขึ้น เพื่อตอบสนองกับปริมาณการผลิตที่ยังคงไม่มีความแน่นอน ซึ่งทำให้ในระยะสั้นตัวเลขอัตราการว่างงานของญี่ปุ่นในเดือนที่ผ่านมาจึงมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นให้เห็นมากขึ้นแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในภาพรวมของตลาดการจ้างงานของญี่ปุ่นในช่วงถัดไป จะได้รับปัจจัยบวกจากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก ที่ยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในด้านของประเทศคู่ค้าหลัก อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ประกอบกับการที่ทางรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นยังคงมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะกระตุ้นภาคเศรษฐกิจในประเทศให้ฟื้นตัว ซึ่งโดยรวมคาดว่าจะส่งผลบวกให้ปริมาณคำสั่งซื้อกลับมาฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงวิกฤติ
ดังนั้น SCRI จึงยังคงประเมินว่าสถานการณ์ในด้านตลาดแรงงานของญี่ปุ่นในช่วงถัดไป จึงยังคงมีโอกาสที่จะมีการฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าในระยะสั้นจะยังคงโดนกดดันจากปัญหาทางด้านการชะลอตัวของภาคอุปสงค์ในระดับประเทศก็ตาม
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (IP) สิงคโปร์หดตัว
ทางด้านประเทศสิงคโปร์ประกาศตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมประจำเดือน พ.ย. 2552 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2552 ที่ผ่านมา พบว่า หดตัวที่ -8.2% yoy เป็นการหดตัวซึ่งผิดไปจากการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.3% yoy ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับปรุงล่าสุดของเดือนต.ค. 2552 พบว่าขยายตัวที่ 3.2% yoy จากเดิมที่ประกาศว่าขยายตัวที่ 3.6% yoy
โดยการหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมประจำเดือน พ.ย. 2552 เกิดจากการหดตัวของผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (Bio-Medicals) ซึ่งหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนโดยไม่ได้ขจัดผลทางฤดูกาล (mom nsa) ที่ -19.1% mom nsa ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ -18.1% yoy mom nsa และถ้าพิจารณาในฐานเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (yoy) พบว่าผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (Bio-Medicals)ของ พ.ย. 2552 หดตัวที่ -48.8 %yoy ในขณะที่เดือนก่อนหน้าขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.3% yoy
อย่างไรก็ตาม ถ้าหักส่วนของผลผลิตอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ออกพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Ex.Bio-Medicals) ของสิงคโปร์ประจำเดือนพ.ย. 2552 ขยายตัวที่ 5.9% yoy ขณะที่เดือน ต.ค. 2552 ขยายตัวที่ 3.8% yoy โดยการขยายตัวมาจากผลผลิตอุตสาหกรรมในหมวดสินค้าอิเลกทรอนิกส์ อุตสาหกรรมทั่วไป (general manufacturing) ซึ่งในเดือน พ.ย. 2552 ขยายตัวที่ 17.5% yoy และ 4.7% yoy ตามลำดับ
SCRI มองว่า การหดตัวของผลิตอุตสาหกรรมในหมวดภาคอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (Bio-Medicals) เป็นไปตามการคาดการณ์ของ SCRI ใน4-5 เดือนก่อนหน้า และแม้ว่าในช่วงเดือน ธ.ค. 2552 จนถึงต้นปี 2553 นั้นจะเป็นช่วงการระบาดไข้หวัดใหญ่ของประเทศซีกโลกตะวันตก ดังเห็นจากการส่งออกของสิงคโปร์ในหมวดเวชภัณฑ์ยาในเดือนพ.ย. 2552 ขยายตัวสูงถึง 78.0 % yoy ขณะที่เดือนก่อนหน้าขยายตัว 24.8 % yoy และพิจารณาบนฐานเปรียบเทียบกับเดือนหน้าพบว่ามูลค่าการส่งออกเวชภัณฑ์ยาเดือนพ.ย. 2552 ขยายตัวที่ 7.3 % mom sa ในขณะที่เดือนก่อนหน้าหดตัวที่ -3.4% mom sa สะท้อนว่าการส่งออกของสิงคโปร์ในหมวดเวชภัณฑ์ยาซึ่งเป็นหมวดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (Bio-Medicals) นั้นในเดือนพ.ย. 2552 ที่ผ่านมาและเดือนต่อๆไป จะเป็นการส่งออกจากสต๊อกที่ผลิตไว้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนก.ย. 2552 และอาจจะส่งผลกดดันให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสิงคโปร์โดยรวมนั้นมีระดับการหดตัวหรือเป็นขยายตัวในอัตราที่ต่ำต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2553 เพราะว่าในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2552 หรือเดือนมีค. 2552 จนถึงเดือนก.ย. 2552 นั้น ผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (Bio-Medicals) ขยายตัวขึ้นมากอันเป็นผลมาจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมในบางเดือนนั้นขยายตัวขึ้นและบางเดือนมีระดับการหดตัวที่ต่ำแทนที่จะหดตัวรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเพราะอานิสงส์จากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (Bio-Medicals)
SCRI ประเมินว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของสิงคโปร์จะดีขึ้นก็ต่อเมื่อการผลิตในภาคการผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าอิเลกทรอนิกส์จะเร่งตัวขึ้นมาจนทดแทนส่วนของการหดตัวในภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (Bio-Medicals)