เอเอฟพี – บริษัทผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์ของจีนคาดตลาดโตแน่ หลังจากซัมมิตภาวะโลกร้อน เตรียมขยายตลาดทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งประกาศมาตรการหนุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เต็มสูบ
บริษัททริน่าโซลาร์ (Trina Solar) บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์ของจีน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กคาดว่า การประชุมสุดยอดว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลก ที่กรุงโคเปนเฮเกน, ประเทศเดนมาร์กระหว่างวันที่ 7-18 ธ.ค. เป็นโอกาสทองในการผลักดันการใช้พลังงานสะอาด เช่นพลังงานแสงอาทิตย์อย่างกว้างขวางขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจจำหน่ายแผงโซลาร์บูม โดยการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกในที่ประชุมจะส่งผลดีต่อตลาดจำหน่ายสินค้าของทริน่าทั้ง 20 ชาติ
ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ติดตั้งอยู่บนแผงโซลาร์ รายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก โดยสามารถผลิตแผงโซลาร์เพิ่มอีก 4 เท่าถึง 8 กิกะวัตต์ ในปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าความต้องการโดยรวมทั้งหมดในโลก7.5 กิกะวัตต์ ในปีหน้า จากข้อมูลของหยวนต้า เซ็กเคียวริตี้ส์
ขณะเดียวกัน เวลานี้แผงโซลาร์ยังมีราคาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากวิกฤตการเงินโลก ซึ่งทำให้การปล่อยกู้โครงการโซลาร์รายใหญ่ในยุโรปล้มเหลว โดยราคาของแผงโซลาร์ ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ 60 เซลล์ มีราคาตกลงครึ่งหนึ่งจากราคาเมื่อต้นปีที่แล้ว
ด้านโรรี่ แม็คเฟอร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายความสัมพันธ์นักลงทุนของซันเท็ค (SunTech) บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์รายใหญ่สุดของโลก สัญชาติมังกร และจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กเช่นกันระบุว่า ความต้องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วคิดคร่าว ๆ เท่ากับกระแสไฟฟ้า ที่ได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาดกลางรวมกัน 10 โรงทีเดียว
คาดว่า ยอดขายของซันเท็คในปีนี้ ราวร้อยละ 5 จะมาจากลูกค้าในประเทศ โดยในอีก3-4 ปีข้างหน้า จีนอาจเป็นตลาดแผงโซลาร์ใหญ่สุดตลาดหนึ่งในโลก
ในปีนี้รัฐบาลปักกิ่งได้ประกาศแผนกระตุ้น “ดวงตะวันสีทอง” (Golden Sun) โดยให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ถึงครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิต และถึงร้อยละ70 สำหรับ ที่อยู่ในเขตห่างไกล
นอกจากนั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังได้ประกาศโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รุ่นแรก 294 โครงการ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 3 ปี ซึ่งจะมีกำลังผลิต 642 เมกกะวัตต์ โดยใช้ต้นทุนจำนวน 20 พันล้านหยวน (2.9 พันล้านดอลลาร์)
รัฐบาลจีนมิได้ระบุงบประมาณ ที่ชัดเจนสำหรับแผนกระตุ้นฉบับนี้ แต่กล่าวว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยผู้ผลิตจีนเพิ่มยอดขายภายในประเทศ และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนแดนมังกรในอนาคต
จีนประกาศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหน่วยจีดีพีลงร้อยละ 40-45 จากระดับเมื่อปี2548 ภายในปี2563
นอกจากนั้น ยังตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือก ซึ่งรวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ได้ร้อยละ 15 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดของจีนภายในปี 2563 อีกด้วย
เจ้าหน้าที่จีนยังระบุว่า ภายในปีหน้า การผลิตกระแสไฟฟ้าในจีนร้อยละ 10 จะมาจากพลังงานทางเลือก ซึ่งหมายความว่า จะมีการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกปีละ 1.8 เม็กกะวัตต์ นับจากปี 2554-2563 โดยนักวิเคราะห์ของหยวนต้า เซ็กเคียวริตี้ส์ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป ตลาดแผงโซลาร์ในจีนจะอยู่ในเกณฑ์เดียวกับบางประเทศชั้นนำของยุโรป
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมภาคนี้ยังต้องพึ่งเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะผู้ผลิตยุโรป ทริน่า ซึ่งอ้างว่าสินค้าของตนมีราคาถูกที่สุดในตลาด คาดว่าตลาดจะโตแข็งแกร่งในอิตาลี, ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ในปีหน้า แต่ผู้ผลิตยุโรปกล่าวหาผู้ผลิตจีนว่า ขายแผงโซลาร์ในราคาถูก เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด
ด้านทริน่าแย้งว่า มาตรการกระตุ้นของภาครัฐจะไม่คงอยู่ตลอดไป และบริษัทผู้ผลิตควรลดราคาระบบโซลาร์ให้ถูกลงต่อไป จึงจะสามารถแข่งขันกับพลังงานจากถ่านหินได้มากขึ้น