xs
xsm
sm
md
lg

อุบลฯ โชว์ผลงานพลังงานทางเลือกชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี- สำนักวิชาการพลังงานภาค 7 แสดงผลงานประดิษฐ์อุปกรณ์ลดใช้พลังงานและใช้พลังงานทางเลือก หวังดันประเทศใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 20% ใน 15 ปีข้างหน้า

วันนี้ (27 ต.ค.) สำนักวิชาการพลังงานภาค 7 จ.อุบลราชธานี กระทรวงพลังงาน จัดตลาดนัดพลังงานชุมชน เพื่อแสดงผลงานการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือลดใช้พลังงาน และอุปกรณ์ใช้พลังงานทดแทน โดยมีชุมชน โรงเรียน เอกชน และหน่วยงานในจังหวัดนำผลงานการประดิษฐ์ร่วมแสดง เช่น เตาแก๊สใช้พลังงานชีวมวล เตาอั้งโล่ประหยัดเชื้อเพลิง ปั้มลมทำจากเครื่องคอมเพรสเซอร์ ไฟฟ้าส่องสว่างริมถนน เสาสัญญาณไฟแดง และเครื่องทำน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งผลงานที่นำมาแสดงได้รับความสนใจจากนักเรียนประชาชนที่เข้าร่วมชมผลงานการคิดค้นประดิษฐ์ครั้งนี้อย่างคึกคัก

ขณะเดียวกันยังมีการจัดเวทีเสวนา “วิถีชุมชน วิถีพลังงาน เดินอย่างไร เพื่อไทยเข้มแข็ง” โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท์ และนายนพพา พันธ์เพ็ง เป็นผู้ดำเนินรายการ วิทยากรเป็นนักวิชาการพลังงานจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักพัฒนาพลังงานทางเลือกชุมชน และผู้บริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสนับสนุนการนำพลังงานทางเลือกมาใช้แทนพลังงานที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เพราะมีความกังวลอนาคตพลังงานที่ใช้อยู่จะหมดไปจากโลก

โดย ผศ.ดร.กุลเชษฐ์ เทียนทอง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ปี 2552 ประเทศไทยมีการนำพลังงานทดแทนมาใช้คิดเป็นร้อยละ 5%ของพลังงานที่ประเทศใช้ทั้งหมด โดยพลังงานทดแทนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ น้ำมันไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอลล์ เพราะประเทศไทยมีวัตถุดิบใช้ผลิตอยู่จำนวนมาก


แต่พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ยังมีใช้เป็นบางจุด เพราะศักยภาพด้านลักษณะภูมิประเทศและการนำพลังงานทั้งสองประเภทมาใช้มีต้นทุนการลงทุนสูง แต่หากคิดในระยะยาวเป็นพลังงานที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าพลังงานอื่นมาก เช่น หากต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1 ยูนิต พลังงานลมและแสงอาทิตย์มีต้นทุนการผลิตประมาณ 80 สตางค์ แต่พลังงานประเภทอื่นมีต้นทุนสูงถึง 2 บาท

และเชื่อว่าในระยะ 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความสามารถนำพลังงานทางเลือดมาใช้ทดแทนพลังงานที่ใช้อยู่ปัจจุบันได้ถึง 20%

ด้าน นางปรางทอง กรองแก้ว นักพัฒนาชุมชนด้านพลังงาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า มีการเก็บข้อมูลตามชุมชนนำมาวิเคราะห์ทำเป็นแผนการลดใช้พลังงานตามความรู้ 6 อย่างคือ รู้ตัวตนของตัวเอง ปัจจุบันมีการใช้พลังงานในชุมชนมากน้อยเพียงใด จากนั้นก็สร้างความเข้าใจในการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด มาตรการต่อมาต้องจัดการบริหารการใช้พลังงานอย่างเป็นระบบ เข้าใจวิธีการนำพลังงานที่เหลือกลับมาใช้ใหม่

ความรู้ต่อไปคือต้องรู้ว่า ชุมชนควรบริโภคพลังงานอย่างไร ไม่ให้น้อยหรือมากจนเกินไป ประการสุดท้ายคือการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ควบคู่กับพลังงาน เมื่อสามารถปรับแนวคิดการใช้พลังงานของชุมชนได้แล้ว ก็สามารถกำหนดเป็นเป้าหมายในการลดใช้พลังงาน แต่ละวันได้จำนวนไม่น้อย

“และมีผลต่อความมุ่งหวังของรัฐบาล ที่ต้องการให้ทั้งประเทศ มีการนำพลังงานทางเลือกมาใช้ทดแทนร้อยละ 20% ใน 15 ปีข้างหน้า หากชุมชนเดินตามแนวคิดอยู่อย่างพอเพียง ก็สามารถประสบความสำเร็จได้”




กำลังโหลดความคิดเห็น