xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจจีนได้ส้มหล่นจากยุคทองงานวิวาห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพโฆษณาตามห้างสรรพสินค้า ยุคทองของการแต่งงานในจีนนี้ ไม่เพียงแต่จะมีคู่แต่งงานเพิ่มมากขึ้น แต่คู่สมรสยังนิยมจัดงานวิวาห์ ซึ่งต้องเป็นไปอย่างหรูหรา จนส่งให้ธุรกิจจัดงานแต่งงานเฟื่องฟู จนปัจจุบัน มีมูลค่าถึงราว 4แสนล้านหยวน หรือประมาณร้อยละ 2.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (ภาพเอเจนซี)
รอยเตอร์ - เหมิง หนี และฝาน จือชิ่ง พูดคำว่า "ฉัน-ผมตกลง" ต่อกันและกันในเดือนเดียวกันกับที่พวกเขากล่าวว่า "เราตกลง" กับตัวแทนอสังหาริมทรัพย์

จีนกำลังอยู่ในยุคทองของการแต่งงาน ซึ่งสร้างผลกำไรก้อนโตแก่บรรดาธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ไปจนถึง เหมืองทองคำขาวของโลกทีเดียว แต่ก็ไม่มีที่ไหน จะรับประโยชน์ไปเต็มๆ เท่าตลาดที่อยู่อาศัย
ความต้องการทองคำขาวในตลาดโลก ทวีคูณเป็นสองเท่าสำหรับปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะความนิยมทำเป็นแหวนแต่งงาน
การซื้อบ้านหลังแรกของคู่สมรสใหม่จำนวนมาก เช่น เหมิง และฝาน ได้ผลักดันยอดขายอสังหาริมทรัพย์ของจีนมาหลายปีแล้ว แม้นักลงทุนบางคนกลัวว่าราคาจะพุ่งสู่แดนฟองสบู่แล้ว

"สามีและฉันต้องการมีบ้านของเราเองมากกว่าจะเช่าฯเหมือนเมื่อก่อน เพราะการแต่งงานคือการเริ่มต้นชีวิต และตอนนี้เรากำลังจะสร้างครอบครัว” เหมิง กล่าว

เหมิง และฝาน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประชากรในช่วงอายุ 20 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงก้าวสู่ชีวิตสมรส นับจากช่วงนี้ไปจนถึงปี พ.ศ.2568

คู่สมรสใหม่เหล่านี้ ต่างมองหาบ้านหลังแรกของพวกเขา โดยมีกระแสประเมินจากกลุ่มนักวิเคราะห์ว่าคู่สมรสเหล่านี้ ต้องการที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ที่คิดคำนวนรวมกันได้กว่า 450 ล้านตารางเมตรในแต่ละปี หรืออย่างคร่าวๆ ก็ราวร้อยละ 16 ของอาคารที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างในปัจจุบัน

เหมิง กับฝาน เป็นลูกหลานของพ่อแม่แห่งยุคเบบี้บูม อันเป็นยุคประชากรจีนเบ่งบานระหว่างช่วงปี 1950 และ1960 เด็กกลุ่มนี้คงจะมีมากกว่านี้ หากรัฐบาลจีนไม่ใช้นโยบายลูกคนเดียวควบคุมประชากรในปลายของทศวรรษ 70 เพื่อลดขนาดครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามประชากรกลุ่มนี้ ก็ยังคงใหญ่กว่ากลุ่มอื่นๆ

นโยบายควบคุมประชากรที่ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์นี้ ได้สร้างนิสัยการบริโภคของพวกเขา จากการเลี้ยงดูอย่างพะเน้าพะนอจากผู้ใหญ่หลายคน ทำให้กลุ่มเด็กลูกคนเดียวรุ่นนี้ จับจ่ายเงินออกจากกระเป๋าอย่างง่ายดาย ไม่ประหยัดเหมือนคนรุ่นพ่อแม่

ไม่เพียงแต่จะมีคู่แต่งงานเพิ่มมากขึ้น แต่คู่สมรสยังนิยมจัดงานวิวาห์ ซึ่งต้องเป็นไปอย่างหรูหรา จนส่งให้ธุรกิจจัดงานแต่งงานเฟื่องฟู จนปัจจุบัน มีมูลค่าถึงราว 4แสนล้านหยวน หรือประมาณร้อยละ 2.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ตามการประมาณการอย่างเป็นทางการฯ
ยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 79 ในการซื้อขายบ้านในปีนี้จนถึงเดือนตุลาคมนั้น มาจากกลุ่มคู่สมรสใหม่เสียเป็นส่วนใหญ่
ธุรกิจขนาดยักษ์

ซีตัน เวดดิ้ง มอลล์ในใจกลางกรุงปักกิ่ง เปิดพื้นที่ 3 ชั้น สำหรับร้านตัดเย็บชุดแต่งงาน ร้านค้าเพชร และสตูดิโอถ่ายภาพ

"เจ้าสาวมักจะซื้อชุดแต่งงานสองชุด ชุดหนึ่งสีขาวในสไตล์ตะวันตกที่ใช้สำหรับพิธีแห่ฯ และพิธีสาบานฯ และอีกชุดจะเป็นชุดจีนโบราณสีแดงสำหรับการเลี้ยง" อิง จื้อ , พนักงานขายที่ Modern Bazaar ร้านขายชุดเจ้าสาวในมอลล์ กล่าว

“ไม่กี่ปีก่อน คู่วิวาห์มักจะเช่าชุดแต่งงาน” อิงกล่าวแต่ตอนนี้ลูกค้าของเธอเกือบทั้งหมดของ จะมาซื้อ ชุดไปเลย ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละชุดก็ตกราวๆ 2,000 หยวน

เครื่องประดับเพชรก็กลายเป็นสินค้าที่มาแรงเช่นกัน ครอบครัวของเฉิน อิ่น เริ่มทำแหวนเพชรเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนสำหรับตลาดเฉพาะเมื่อประมาณสิบปีก่อน แต่ตอนนี้เขาเปิดร้าน Bling Jewelry ขายได้เป็นร้อยๆ วงต่อเดือน

"มีบางกลุ่มที่ได้ซื้อแหวนเพชรขนาดเล็กไป แต่ขณะนี้พวกเขากำลังมองหาช่างให้ปรับแหวนเป็นวงใหญ่" เธอกล่าว

คู่วิวาห์ยังเลือกเครื่องประดับทองคำขาวเป็นแหวนสมรสฯ เนื่องจากโลหะสีขาวเข้ากันได้ดีกับชุดแต่งงาน จนทำให้ความต้องการทองคำขาวในตลาดโลก ทวีคูณเป็นสองเท่าสำหรับปีนี้ แม้ว่าความต้องการใช้โลหะขาวในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ซบเซาจะตกต่ำลง Johnson Matthey ผู้ผลิตโลหะมีค่ากล่าว

ทั้งนี้การเลือกใช้สีขาว ยังสะท้อนการเปลี่ยนไปในสังคมจีน ที่แต่เดิมมองว่าสีขาวเป็นสีของงานศพ

หน่วยงานรัฐยังได้ส่งเสริมธุรกิจแต่งงาน โดย China Association of Social Workers ได้จัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมการจัดงานแต่งงาน (Wedding Industry Committee) ในปี 2546 เพื่อรวบรวมข้อมูลและกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม

ซือ กันหนิง หัวหน้าคณะกรรมการอุตสาหกรรมการจัดงานแต่งงาน ระบุว่าในปี 2551 มีจำนวนงานวิวาห์ ประมาณ 10 ล้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ขณะที่การใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

ไม่มีวิกฤติในธุรกิจจัดงานวิวาห์

"ปีที่ผ่านมา วิกฤตการเงินโลกส่งผลต่ออุตสาหกรรมมากมาย: ส่งออก, ธนาคาร, ประกันภัย แต่ธุรกิจการจัดงานแต่งงานกลับเจริญเติบโตมากกว่ากว่าปีก่อนๆด้วยซ้ำ โดยมีตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับอานิสงค์อย่างเต็มๆ" ซือ โดย China Index Research Institute ระบุสามในสี่ของผู้ซื้อบ้านหลังแรก เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 35 ปี แต่ยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 79 ในปีนี้จนถึงเดือนตุลาคมนั้น มาจากกลุ่มคู่สมรสใหม่เสียเป็นส่วนใหญ่

พ่อแม่ ผู้สนับสนุนรายใหญ่

ขณะนี้กลายเป็นว่า ผู้ปกครองที่เคยยึดถือคุณธรรมการประหยัดต่างหาก ที่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับบ้านใหม่ ไม่ใช่คู่สมรสวัยหนุ่มสาว หรือธนาคาร พ่อแม่ได้ทุ่มเงินออมที่สะสมมาตลอดชีวิต เพื่อชีวิตคู่ของลูกหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวเช่นเคย

หวัง ต้าเจี้ยน และหนิว เสี่ยวเสีย บอกว่าเพิ่งซื้อบ้านหลังที่สองในกรุงปักกิ่ง ให้แก่ลูกชายอายุ 29 ปี และภรรยาของเขา หลังจากครั้งแรก ที่พวกเขาบ่นว่าบ้านหลังแรกไกลจากที่ทำงานและได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านพ่อแม่

"พวกเขาควรเป็นอิสระ รับผิดชอบและเรียนรู้การต่อสู้ชีวิตที่ยากลำบาก" หนิวบอกเหตุผลที่ลงทุนผลักดันครอบครัวลูกชายออกไป และเล่าว่าเมื่อตอนเธอและหวัง แต่งงานกัน พวกเขาต้องรอนานกว่าสองปี หน่วยงานรัฐที่พวกเขาทำงานอยู่ จึงจัดหาห้องเล็กๆห้องหนึ่งในอพาร์ทเมนท์ ให้
กำลังโหลดความคิดเห็น