ขณะนี้ นอกจากมีกระแสชาวจีนแผ่นดินใหญ่โยกย้ายเข้ามาอยู่ในฮ่องกงกันมากขึ้นทุกวัน คนเหล่านี้ยังแห่เปลี่ยนตัวสะกดการออกเสียง นามสกุล หรือแซ่ ให้เหมือนกับชาวฮ่องกง เพื่อหนีการถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติในดินแดน ที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมอังกฤษ
เรยมอนด์ ถัง ทนายความชาวฮ่องกงบอกกับหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ขณะนี้ มีลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มาที่บริษัทของเขาแบบหัวกะไดไม่แห้งเลย พวกเขามาว่าจ้างให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายเปลี่ยนตัวสะกดการออกเสียงชื่อแซ่ให้เป็นแบบที่ชาวฮ่องกงใช้กัน เพื่อให้ดูกลมกลืนกับชาวท้องถิ่นมากขึ้น โดยที่ยังคงแซ่เดิม ตัวเขียนภาษาจีนตัวเดิม
อาทิ ลูกค้าชาวแผ่นดินใหญ่ แซ่ จู ซึ่งในระบบโรมาไนซ์ พินอิน ที่จีนใหญ่ ใช้คือ “ Zhu” ชาวฮ่องกงที่เห็นการสะกดแบบนี้ ก็จะรู้ทันทีว่าเป็นพวกที่มาจากแผ่นดินใหญ่ ดังนั้น ลูกค้ารายนี้ จึงขอเปลี่ยนการเขียนตัวสะกดเสียงของแซ่ ให้คล้ายหรือเหมือนกับชาวฮ่องกง คือ “Chu”
หรือคนแซ่ เจิง ที่ในระบบโรมาไนซ์ พินอิน ใช้ “Zeng” นั้น ก็มาขอเปลี่ยนการเขียนตัวสะกดให้เป็นแบบฮ่องกง คือ Tsang ซึ่งออกเสียงตามแบบภาษากวางตุ้งของชาวฮ่องกง คือ “ซัง” หรือ “จาง”
ทั้งนี้ ชาวจีนในดินแดนต่างๆ ใช้ตัวเขียนอักษรจีนเบบดียวกันนั้น แต่ต่างก็มีระบบตัวสะกดการออกเสียงในระบบโรมาไนซ์ (romanisation) ที่แตกต่างกัน โดยชาวแผ่นดินใหญ่นั้น ใช้ภาษาจีนกลาง หรือแมนดาริน ที่ชาวจีนเรียก ผู่ทงฮว่า เป็นภาษากลาง และใช้ตัวสะกดออกเสียงด้วยระบบโรมาไนซ์ พินอิน (Pinyin) ส่วนชาวฮ่องกงในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงนั้น ใช้ภาษาท้องถิ่นคือ ภาษากว่างตง (กวางตุ้ง) และใช้ตัวสะกดออกเสียงด้วยระบบโรมาไนซ์ เวดไจลส์ (Wade-Giles)
“ชาวจีนแผ่นดินใหญ่บางคน มีชื่อเพียงสองตัวอักษรเท่านั้น พวกเขาก็ต้องการเปลี่ยนเป็นสามตัวอักษร เนื่องจากชื่อสองตัวอักษรนั้น เป็นชื่อที่ใช้ทั่วไปในแผ่นดินใหญ่” ทนาย ถัง เล่า
จากสถิติสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในฮ่องกง ระบุว่าระหว่าง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีคำร้องขอเปลี่ยนตัวสะกดการออกเสียงชื่อแซ่ โดยเฉลี่ยเดือนละ 105 ฉบับ สูงกว่าช่วงปีก่อนๆนี้มาก
แต่ในทางกลับกัน กลุ่มชาวจีนที่โยกย้ายไปทำงานหรือดำเนินธุรกิจทั้งในฮ่องกงและในแผ่นดินใหญ่ มักเลือกชื่อจีน ที่ดูเชื่อมโยงกับแผ่นดินใหญ่เพื่อรักษาสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ
อาจารย์ด้านฮวงจุ้ยในฮ่องกง นาย เจมส์ ลี ก็มักแนะนำลูกค้าชาวต่างชาติ ให้เลือกชื่อภาษาจีน เพื่อส่งเสริมการงานธุรกิจ
ทั้งนี้ จีนแผ่นดินใหญ่ และจีนฮ่องกง ซึ่งกลับมาอยู่ในอำนาจปกครองจีนในปี 2540 แม้มีเชื้อชาติจีนเหมือนกัน ภูมิศาสตร์ติดต่อกันก็ตาม สองดินแดนก็มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่แตกต่างกันอย่างมาก
ในอดีต ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางไปยังฮ่องกง ก็มักถูกเจ้าถิ่นกีดกั้น แถมหัวเราะเยาะสำเนียงพูด ทั้งถูกดูถูกว่าล้าหลังทางวัฒนธรรม
แต่สภาพดังกล่าวก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปอีกเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากจีนได้กลายเป็นกระดูกสันหลังของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในฮ่องกง อย่างกรณีเมื่อไม่นานมานี้ ชาวฮ่องกงบางกลุ่มได้บ่นว่า กลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกสินค้าไฮ-เอนด์ มุ่งเอาใจกลุ่มลูกค้าอภิมหาเศรษฐีในแผ่นดินใหญ่ โดยไม่แยแสนักชอปฯในท้องถิ่นเลย