สำหรับเรื่องตัวอักษรจีน เคยมีการปฏิรูปการเขียนครั้งใหญ่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยมีการปรับการเขียนตัวอักษรได้แก่ ตัวเขียนแบบย่อ (Simplified Chinese Characters) และตัวเขียนแบบตัวเต็ม (Traditional Chinese Characters) และเมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงศึกษาจีน ได้เผยข้อเสนอปรับการเขียนตัวอักษรจีนอีกครั้งหลังจากที่ผลักดันมา 8 ปี โดยเสนอให้ปรับการเขียนตัวอักษร 44 ตัว ที่มีการใช้บ่อยๆ
แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์เละ ว่าจะสร้างความสับสน แม้ทางผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงศึกษาที่ทำข้อเสนอดังกล่าว ออกมาโต้ว่า เป็นการปรับการเขียนตัวอักษร แค่ 44 ตัว ในฟอนท์ ซ่ง (宋体)ที่พิมพ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ และแท่นพิมพ์หนังสือ ซึ่งจะใช้ในการพิมพ์หนังสือเล่มทั่วไป โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวอักษรที่ใช้พิมพ์ตำราเรียน ซึ่งใช้ ฟอนท์ ข่าย(楷体)ซึ่งคำอธิบายดังกล่าว ก็ถูกโจมตีเละเช่นกันว่า จะทำให้นักเรียนสับสน
กระแสโจมตีฯอีกกลุ่ม ชี้ว่าการปรับการเขียนตัวอักษรนี้ จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายบานตะไทตามมาอีก โดยหากมีการปรับการตัวอักษาตามข้อเสนอฯ ก็จะต้องมีการปรับแก้ไขตัวอักษรในหนังสือ พจนานุกรม ป้ายต่างๆ ชื่อบริษัท บัตรประจำตัวต่างๆ ฯลฯ
“มันทำให้เสียทั้งเงินทอง และเวลา อย่างไร้สาระ” อาจารย์ หวัง ไล่หัว ประจำสถาบันบัณทิตยสถาน นครเทียนจิน กล่าว
จากการสำรวจความคิดเห็นต่อข้อเสนอฯนี้ โดยเว็บท่าดังแดนมังกร Sina.com ปรากฏผลว่า มีผู้ตอบคำถาม มากกว่า 340,000 คน โดยร้อยละ 90.2 ต่อต้านข้อเสนอ และมีเพียงร้อยละ 5.1 ที่สนับสนุน.
คลิกอ่าน:
วิวัฒนาการตัวอักษรจีน
ซูฝ่า : สุนทรียภาพบนปลายพู่กัน