ตัวอักษรภาษาจีนนับเป็นสมบัติอันล้ำเลิศทางวัฒนธรรมของแดนมังกร นับเป็นประดิษฐ์กรรมอันยิ่งใหญ่ที่ห้าของจีน นอกเหนือไปจากสิ่งประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่ทั้งสี่ (จตุรประดิษฐ์) เข็มทิศ ดินปืน กระดาษ และการพิมพ์
การขีดเขียนอักษรจีนแต่ละเส้นซึ่งผ่านการออกแบบมาอย่างลึกซึ้ง จึงเปรียบเสมือนการสัมผัสกับภูมิปัญญาที่ส่งทอดมาจากบรรพบุรุษ คราวนี้จะต่างกันเพียงแต่ว่า ผู้คนจะสามารถถอดรหัสที่แฝงอยู่ในเส้นสายอักษรต่างๆ นั้นได้เพียงใด
และหากภาพหนึ่งภาพ แทนคำนับพัน อักษรจีน " 齋 - เจ" ก็ไม่แตกต่างจากตัวอักษรจีนอื่นๆ ที่มีความหมายเชิงจินตภาพ นามธรรมด้วย โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญอักษรจีน ได้ทำการตีความเชื่อมโยงความหมายเชิงธรรมะ อธิบาย ตัว “เจ” 齋 ว่ามีส่วนประกอบมาจากตัวอักษร ฉี (齊) ซึ่งแปลว่าบริบูรณ์ , เรียบร้อย กับตัวอักษร ซื (示) (อันมีตัว เสี่ยว/ซิม (小) "ใจ" อยู่ด้วย) แปลว่าสักการะ เมื่อวางไว้ตรงกลางของตัวฉี จึงเป็นตัวอักษร "เจ" (齋) ที่มีความหมายรวมว่าการรักษาความบริสุทธิ์ (ทั้งกายและใจ) หรือการปฏิบัติธรรมบูชาถวายเทพยดา นอกจากนั้น "เส้น/ขีด" ปลีกย่อยทั้งหลาย ในตัวอักษรฯ ยังมีความหมายประกอบ เชิงอุปมาไปสู่การปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น
เทศกาลถือศิล กินเจ ปีนี้ มุมจีน ขอนำรหัสธรรมของบรรพบุรุษจีนผู้ออกแบบตัวอักษร "เจ" (齋) มาถ่ายทอดอีกครั้ง ณ โอกาสนี้