xs
xsm
sm
md
lg

เหตุเหมืองระเบิดจี้จีนขยายเทคโนโลยีตรวจจับก๊าซมีเทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุดป้องกันรุ่นใหม่สำหรับคนงานเหมือง ที่ถูกนำออกแสดงในนิทรรศการอุตสาหกรรมถ่านหินในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2552 จีนเป็นผู้บริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหินปริมาณมหาศาล กำลังพยายามปรับปรุงเหมืองให้มีความทันสมัย โดยสร้างระบบสกัดจับก๊าซมีเทนที่แพร่กระจายออกมาและยังเปลี่ยนก๊าซพิษเป็นแหล่งพลังงานอื่น (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี- จีนผู้บริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหินปริมาณมหาศาล กำลังพยายามปรับปรุงเหมืองให้มีความทันสมัย โดยสร้างระบบสกัดจับก๊าซมีเทนที่กระจายออกมา และแปรเปลี่ยนก๊าซพิษเป็นแหล่งพลังงาน

ขณะนี้ทางการจีหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจจับการแพร่กระจายก๊าซมีเทน เพื่อเป็นมาตรการความปลอดภัย สืบเนื่องจากการรั่วไหลของก๊าซมีเทน เป็นสาเหตุของการระเบิดในเหมืองจีนจำนวนมาก และยังเพื่อการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก อันมีสาเหตุสำคัญจากการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งคิดเป็นจำนวนถึง 70 เปอร์เซนต์ ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ และรัฐบาลจีนก็ถูกกดดันมากขึ้นให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ ที่จะมีการประชุมเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนหน้า

ขณะนี้ จีนได้ประกาศทุ่มงบประมาณหลายล้านดอลลาร์ในเทคโนโลยีที่จะแปรให้ถ่านหินกลายเป็นพลังงานสะอาด

"รัฐบาลจัดสรรงบประมาณราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่ออุดหนุนบรรดาเหมืองต่างๆ ให้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับก๊าซมีเทน" หวง เซิงฉู่ ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลถ่านหินของจีน ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐ กล่าว

เหมืองที่ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวฯ จะกำจัดก๊าซอันตรายก่อนที่ถ่านหินจะถูกสกัด และดูดก๊าซมีเทนผ่านท่อไปยังสถานีผลิตไฟฟ้า ก๊าซมีเทนที่ผ่านมากกลั่นกรองแล้วนี้ มีคุณสมบัติแตกต่างจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตรงที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าได้อีก

แม้จะเป็นที่ชัดเจนในประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าว แต่กลุ่มลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมนี้บางกลุ่มก็ยังไม่ยอมรับแนวคิดสีเขียวนี้

"บริษัทเอกชนขนาดเล็กยังไม่เต็มใจที่จะทำตามนโยบายของทางการฯ" หวง กล่าว

แต่บริษัทผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดกล่าวว่า พวกเขายังมองในแง่ดีว่า บริษัทเหมืองต่างๆ จะหันมายอมรับกันมากขึ้น

"อุตสาหกรรมนี้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ เพื่อไปสู่ความทันสมัย"เดฟ แม็คคินนอน ผู้จัดการโครงการฯ ของบริษัท Valley Longwall International ประเทศออสเตรเลีย กล่าวฯ ทั้งนี้ Valley Longwall International ได้จำหน่ายระบบนำการขุดเจาะที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ร่วมด้วย เป็นเวลาสามปี ในมณฑลซานซี ศูนย์กลางของพื้นที่ผลิตถ่านหินที่สำคัญของจีน ตามที่บริษัทอ้างฯ อุปกรณ์ชั้นแนวหน้านี้ จะตรวจจับก๊าซมีเทนที่ระบายออกมา

นานหลายปีแล้ว ที่รัฐบาลจีนได้พยายามปรับปรุงความปลอดภัยของเหมืองถ่านหินในประเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าอันตรายที่สุดในโลก เพราะมักจะไม่สนใจต่อมาตรฐานฯ ดังกล่าว เพื่อแสวงผลกำไรและเร่งผลิตเพื่อให้ทันกับความต้องการที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากตัวเลขของทางการเมื่อปีที่แล้ว ระบุคนงานเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเหมือง 3,200 คน แต่กลุ่มรณรงค์สิทธิแรงงานเชื่อว่า จำนวนผู้เสียชีวิตฯ น่าจะสูงกว่านี้ เพราะมีการปิดข่าวในหลายกรณี เนื่องจากความกลัวถูกปิดกิจการฯ

จนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดเมื่อวันเสาร์ (21 พ.ย.) ที่เหมืองซินซิง เมืองเฮ่อกัง มณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งรุนแรงมากที่สุดในรอบสองปีของจีน มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 104 ราย

โดยปกติ เหมืองต่างๆ จะระบายก๊าซมีเทนผ่านทางระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซฯ มีปริมาณความเข้มข้นสูงในอุโมงค์ ซึ่งเป็นพิษต่อคนงานและเกิดการระเบิดขึ้นได้ในที่สุด

แต่วิธีดังกล่าวฯ จะปล่อยให้ก๊าซระบายออกไปในบรรยากาศมากกว่าจะนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์

“แม้ก๊าซมีเทนจะมีเพียงหนึ่งหรือสองเปอร์เซ็นต์ในสัดส่วนการใช้พลังงานของจีน แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญมากกับบางพื้นที่" พาเมลา แฟรงค์ลิน จากสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ กล่าว

ในมณฑลซานซี เมืองจิ้นเฉิง ถือเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในประโยชน์จากการใช้อุปกรณ์ตรวจจับก๊าซมีเทน นับจากปีที่แล้ว สถานีไฟฟ้าหลักที่ดำเนินการที่นั่นได้ผลิตพลังงานด้วยก๊าซมีเทนจากเหมืองใกล้เคียง

หวง กล่าวว่าโรงไฟฟ้ามูลค่า 45 ล้านดอลลาร์ สามารถสร้างกำลังผลิตพลังงานอย่างต่อเนื่องขนาด 120 เมกะวัตต์ เป็นหนึ่งในวิธีการที่น่าสนใจที่สุดในบรรดาฯ ที่มีอยู่ในโลก รถแท็กซี่และรถโดยสารในเมืองก็ใช้ก๊าซมีเทน

ปีที่แล้ว มีการตรวจจับก๊าซมีเทนในจีนได้ราว 4.3 พันล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากปี 2550 ตามคำกล่าวของ หมิง หยาง เจ้าหน้าที่ ของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการใช้ก๊าซมีเทนในจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น