xs
xsm
sm
md
lg

ก๊าซระเบิดในเหมือง! ยอดตายเพิ่มเป็น 87 รายแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ควันหนาดำ ที่เกิดจากก๊าซระเบิดอย่างรุนแรง พุ่งขึ้นมาเหนือปากโพรงเหมืองถ่านหิน เฮย์หลงเจียง ประมาณตีสองครึ่งของคืนวันเสาร์ ซึ่งมีคนงาน 528 คน ทำงานอยู่ใต้ดินในเวลานั้น (21 พ.ย.) (ภาพเอเจนซี)
เอเจนซี่-เกิดเหตุก๊าซระเบิดอย่างรุนแรงในเหมืองถ่านหินมณฑลเฮยหลงเจียง จากรายงานล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ เผยยอดผู้เสียชีวิต รวม 87 รายแล้ว ขณะที่ยังมีผู้ติดอยู่ในซากปรักหักพังและหาไม่พบอีก 21 คน

ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เครียด สั่งการระดมหน่วยกู้ภัยเต็มสูบ พร้อมส่งรองนายกรัฐมนตรี จาง เ ต๋อเจียง ได้รุดไปเยี่ยมอาการผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลทันที

รายงานสื่อจีนเผย ว่าก๊าซได้ระเบิดในเหมืองใต้ดินลึกลงไป 500 เมตร ที่เหมืองถ่านหินใกล้เมืองซินซิง มณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งเป็นของของบริษัท เฮยหลงเจียง หลงเหมย ไมนิ่ง โฮลดิ้ง กรุ๊ป  ขณะเกิดเหตุระเบิดเวลาประมาณตีสองครึ่งของเสาร์ (21 พ.ย.) มีคนงานทำงานอยู่ในบริเวณนั้น ทั้งหมด 528 คน  หน่วยกู้ภัยยังคงเร่งรีบค้นหาผู้สูญหายอย่างต่อเนื่อง

พาน เซี่ยวเหวิน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเฮ่อกังฯ กล่าวว่าโรงพยาบาลได้รับผู้บาดเจ็บ 29 คน จากอุบัติเหตุนี้ "มีหกคนบาดเจ็บสาหัส" พานกล่าวเมื่อวันเสาร์ ขณะเร่งเพิ่มเจ้าหน้าที่พยาบาล 800 คน เพื่อมาช่วยงานกู้ภัยครั้งนี้

หวัง ซินกัง ช่างไฟฟ้าอายุ 27 ปีหนึ่งในผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ กล่าวว่า แรงระเบิดอย่างรุนแรงทำให้ตัวเขากระเด็นออกมา เมื่อกำลังจะเข้าไปในเหมือง

"ชั่วขณะหนึ่ง ฝุ่นควันปกคลุมเต็มไปหมด พอตั้งสติได้ ผมก็ควานไปตามทางในความมืดและร้องขอความช่วยเหลือ” เขากล่าว

หวัง เจ้าชุน พ่อของหวัง ซินกัง วัย 50 ปี ช่างไม้ที่ทำงานในเหมืองมานานกว่า 33 ปี กล่าวกับสำนักข่าวซินหัว ว่า เหมืองแห่งนี้ไม่เคยมีรายงานอุบัติเหตุมาก่อน

เหมืองนี้อยู่ห่างออกไป 400 กิโลเมตรทางตะวันออกของเมืองฮาร์เอ่อร์ปิน เมืองเอกมณฑลเฮยหลงเจียง

บริษัท เฮยหลงเจียง หลงเหมย ไมนิ่ง โฮลดิ้ง กรุ๊ป เป็นบริษัทเหมืองถ่านหินของรัฐ ซึ่งมีสำนักงานในเมืองฮาร์เอ่อร์ปิน (ฮาร์บิน) มีผลผลิตอยู่ที่ 12 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตอยู่ในอันดับ 7

โดยทั่วไปแล้ว กิจการเหมืองของรัฐถือว่ามีความปลอดภัยสูงกว่าเหมืองของเอกชน ที่มาตรฐานความปลอดภัยหละหลวมและมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการงานเหมืองแร่ในประเทศจีน ได้ชื่อว่าอันตรายที่สุดในโลก โดยส่วนใหญ่มักมาจากความโลภของกลุ่มเจ้าของกิจการที่ต้องการลดต้นทุน และการเร่งผลผลิตเพื่อสนองความต้องการที่ขยายตัว เนื่องจากการใช้พลังงานในประเทศจีน มาจากถ่านหินร้อยละ 70

รัฐบาลกลางพยายามกอบกู้หน้าในเรื่องความปลอดภัยการทำงานเหมืองในจีน โดยเรียกร้องการปรับความทันสมัยในการทำเหมือง การควบคุมแก็สรั่ว โดยเฉพาะสารมีเทน ซึ่งมักเป็นตัวการก่อเหตุระเบิด

ตามตัวเลขทางการจีน ระบุมีคนงานเสียชีวิตจากเหตุเหมืองระเบิด 3,200 คน เมื่อปีที่แล้ว แต่กลุ่มรณรงค์สิทธิแรงงานชี้ว่าตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้ เพราะยังมีการปิดข่าวอุบัติเหตุเหมืองระเบิดหลายกรณี

เมื่อต้นปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ก็เพิ่งจะมีคนงานกว่า 70 คน เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ที่เหมืองในมณฑลส่านซี

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ เหมืองถล่ม และจำนวนผู้เสียชีวิตในอดีต
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 (1950): เหมืองยี่หลัว มณฑลเหอหนาน - เสียชีวิต 174 คน
พฤษภาคม พ.ศ. 2503 (1960): เหมืองเล่าไป่ตง มณฑลส่านซี - เสียชีวิต 684 คน
กันยายน พ.ศ. 2543 (2000): เหมืองหมู่ฉงกว่อ มณฑลกุ้ยโจว - เสียชีวิต 162 คน
พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 (2004): เหมืองเฉินเชี่ยซาน มณฑลส่านซี - เสียชีวิต 166 คน
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 (2005): เหมืองซุนเจี่ยหวัน มณฑลเหลี่ยวหนิง - เสียชีวิต 210 คน
พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 (2005): เหมืองตงเฟิง มณฑลเฮยหลงเจียง - เสียชีวิต 171 คน
สิงหาคม พ.ศ. 2550 (2007): เหมืองซินไท่ มณฑลซันตง - เสียชีวิต 181 คน
ธันวาคม พ.ศ. 2550 (2007): เหมืองจี้หยวน มณฑลส่านซี - เสียชีวิต 105 คน



กำลังโหลดความคิดเห็น