เอเจนซี่/เอเอฟพี – พญามังกรถูกโดดเดี่ยว หลังจากพยายามกดราคาแร่เหล็กให้ต่ำลงจากปีที่แล้วเกือบครึ่งหนึ่ง แต่จิงโจ้ไม่สน ส่งผลให้การเจรจากำหนดราคามาตรฐานการขายแร่เหล็กครั้งใหม่ระหว่างจิงโจ้ผู้ผลิตกับพญามังกรผู้ซื้อประสบความล้มเหลว ในขณะที่การกำหนดราคามาตรฐานระหว่างจิงโจ้กับชาติอื่น ๆ บรรลุข้อตกลงกันด้วยดี
ความพยายามที่จีนจะเปลี่ยนดุลอำนาจในตลาดโภคภัณฑ์โลกไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อเหมืองผู้ผลิตแร่เหล็กของออสเตรเลีย ซึ่งมีริโอ ทินโต เหมืองยักษ์ใหญ่เป็นหัวหอก กับสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าของจีน (China Iron & Steel Association) ซึ่งทำหน้าที่ผู้ประสานงานภายในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว และมีรัฐบาลสนับสนุน ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกำหนดราคามาตรฐานระหว่างกันได้ทันภายในวันพุธ (1 ก.ค. 2552) ซึ่งเป็นเส้นตาย หลังจากการทำสัญญาซื้อขายหลายฉบับหมดอายุลงตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (30 มิ.ย.2552)
การเจรจาต้องมาถึงทางตัน เมื่อฝ่ายจีน ซึ่งเป็นลูกค้าสั่งซื้อแร่เหล็กรายใหญ่สุดของออสเตรเลีย ยืนกรานให้ลดราคาลงร้อยละ40-45 ซึ่งต่ำกว่าราคามาตรฐานที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทำกับออสเตรเลีย โดยลดราคาลงร้อยละ 28-33 ซึ่งทางเหมืองผู้ผลิตเห็นว่า ควรเป็นราคามาตรฐานในตลาดโภคภัณฑ์โลก
ทั้งนี้ อาร์ซเลอร์มิตทัล (ArcelorMittal) ผู้ผลิตเหล็กกล้า ซึ่งเป็นบริษัทเดี่ยวรายใหญ่ที่สุดในโลก เจรจาขอลดราคาร้อยละ 28 ในการทำสัญญาซื้อกับเวล เอสเอ. (Vale SA.) เหมืองแร่ของบราซิล ดังนั้น โอกาสที่จีนจะขอลดราคาลงไปกว่านี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้
นอกจากนั้น สมาคมเหล็กและเหล็กกล้าของจีนยิ่งโดดเดี่ยวอ้างว่าง เมื่อบริษัทถลุงเหล็กกล้ารายย่อยมากมายของจีนเองกลับไม่ศรัทธาบทบาทของสมาคม และต่างชิงทำสัญญากับเหมืองออสซี่กันเอง
“การเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่มิได้ทำให้จีนมีอำนาจมากมายในการตั้งราคา” สก็อตต์ เคนเนดี้ นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ซึ่งศึกษากลยุทธ์การเจรจาต่อรองของพญามังกรระบุ
“ความล้มเหลวนี้ส่งสัญญาณว่ากลไกการวางนโยบายด้านอุตสาหกรรมของจีนกำลังมีปัญหา”
อย่างไรก็ตาม บีเอชพี บิลลิตัน ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดของโลก และริโอ ทินโต คาดว่า ยังจะมีการซื้อขายกับจีนต่อไป แม้ไม่มีการทำสัญญาระยะยาว
“ ถ้าลูกค้าเลือกการซื้อแบบจ่ายเงินสด หรือในตลาดล่วงหน้า ที่สัญญาซื้อขายหมดอายุภายใน 1 เดือน” โฆษกของริโอ ทินโตกล่าว
ทั้งนี้ ยอดผลิตเหล็กกล้าของจีนทะยานสูงมาตั้งแต่ต้นปี อันเป็นผลมาจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยบริษัทถลุงเหล็กกำลังซื้อแร่เหล็กในตลาดโภคภัณฑ์ล่วงหน้าสัญญาระยะสั้นกันมากขึ้น ราคานำเข้าแร่เหล็กในจีนขณะนี้ ปรับขึ้นราวร้อยละ 12 จากระดับต่ำเมื่อเดือนเมษายน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงเท่ากับลบล้างข้ออ้างของทางสมาคมที่ว่า ตลาดจีนอ่อนแอจนไม่สามารถยอมรับการกำหนดราคา ที่ลดลงไม่ถึงร้อยละ40 ได้ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในมณฑลซานซี ทางภาคตะวันตกยอมรับว่า การเป็นแนวร่วมกับสมาคมทำได้ยาก เพราะบริษัทผลิตเหล็กกล้าขนาดเล็กและขนาดกลางไม่อาจหยุดการผลิต เพื่อรอผลสรุปการเจรจาได้
ก่อนหน้าความล้มเหลวในการเจรจาครั้งนี้ บริษัทอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นวิสาหกิจรัฐของจีน ก็เพิ่งล้มเหลวในการยื่นข้อเสนอมูลค่า 19,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจับมือเป็นพันธมิตรกับริโอ ทินโต โดยหากบรรลุข้อตกลงกันได้ จะทำให้ผลประโยชน์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายแร่เหล็กลงตัว ซึ่งจะช่วยให้การแสวงหาแร่เหล็ก เพื่อป้อนอุตสาหกรรมของจีนมีความมั่นคงมากขึ้น
ขณะนี้การเจรจาต่อรองของพญามังกรยิ่งเผชิญสถานการณ์ ที่ยากลำบากไปอีก เมื่อริโอ ทินโต กับบีเอชพี บิลลิตันกำลังเจรจาเพื่อร่วมลงทุนกันผลิตแร่เหล็กอีกด้วย
การเจรจากำหนดราคามาตรฐานครั้งนี้ยังส่งสัญญาณว่า การซื้อขายแร่เหล็กด้วยระบบราคามาตรฐาน ที่ใช้กันมานาน 42 ปี อาจมาถึงวาระสุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งชี้ว่า ระบบดังกล่าวส่อเค้าสิ้นอายุขัยมาตั้งแต่ที่แร่เหล็กหาซื้อได้กว้างขวางขึ้น และมีจำนวนประเทศผู้ซื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสร้างความคึกคักแก่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ที่มีสัญญาระยะสั้น
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จึงมีความเป็นไปได้มากว่าในอนาคตอาจมีการสร้างระบบกำหนดราคาใหม่ ซึ่งผสมผสานวิธีกำหนดราคาแบบต่างๆ เข้ามาใช้ก็เป็นได้