รอยเตอร์ – ผลวิจัยระบุ คนในภาคตะวันออกของจีนเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าคนในภาคตะวันตก เนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงมวลชีวภาพในปริมาณมากภายในบ้านและโรงงาน
งานวิจัยโดยคณะนักวิจัยของแผนกวิจัยคุณภาพอากาศแห่งแคนาดา และนักวิทยาศาสตร์ของจีนชิ้นนี้ศึกษาจากการวัดระดับของสารPAHs (polycyclic aromatic hydrocarbons) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในหลายพื้นที่ โดยสารชนิดนี้จะลอยไปในอากาศ ขณะมีการเผาเชื้อเพลิง เช่นน้ำมัน และถ่านหิน ตามโรงงานและบ้านเรือน
แม้ในขณะนี้ ครอบครัวชาวจีนจำนวนหนึ่งได้หันไปใช้เชื้อเพลิง ที่สะอาดขึ้น แต่ครัวเรือนอีกกว่าร้อยละ 70 ยังคงใช้เชื้อเพลิงมวลชีวภาพ เช่นถ่านหิน, ฟืน และมูลสัตว์ สำหรับประกอบอาหาร และให้ความอบอุ่นภายในบ้าน ที่มีการระบายอากาศแย่มาก ทำให้เกิดมลพิษในอากาศอย่างรุนแรงข้างในนั้น
ผลการวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร “กิจการแห่งสำนักวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา”(the Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of Ameruca) ระบุว่า ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในที่ราบภาคเหนือ, แอ่งเสฉวนตะวันออก และพื้นที่ส่วนหนึ่งในมณฑลกุ้ยโจว พบระดับสารPAHs สูงกว่าในภาคตะวันตกของประเทศ นับจากทิเบต ไปจนถึงเขตมองโกเลียตอนใน
แม้ดินแดนเหล่านี้มีพื้นที่คิดเป็นร้อยละ12 ของจีน แต่มีการใช้เชื้อเพลิงมวลชีวภาพถึงร้อยละ48 และมีการเผาถ่านหินในอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 66 ของทั้งประเทศ ขณะที่มณฑลซานซี ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตถ่านหิน มีการปล่อย PAHs มากที่สุด เนื่องจากมีการใช้เตาเผาถ่านหินหลายพันเตาอย่างปราศจากระเบียบข้อบังคับใด ๆ
จีนปล่อย PAHs ราว 114,000 เมตริกตันในปี 2547 หรือร้อยละ 29 ของทั่วโลก
ทั้งนี้ ผู้อาศัยในชนบท, สตรี และเด็ก จัดอยู่ในกลุ่มผู้ ที่มีโอกาสสูดสารPAHs เข้าไปในร่างกายได้ง่ายเป็นพิเศษ
มีการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ในช่วงเดียวกับที่มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยหลายพันคนเข้าร่วมการประชุมโลกว่าด้วยสุขภาพของปอดที่เมืองแคนูน, ประเทศเม็กซิโก