xs
xsm
sm
md
lg

“อวดรวย” พฤติกรรมที่สังคมรังเกียจ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหวังถ่ายรูปกับสุนัขพันธุ์ทิเบตัน มัสทีฟที่ซื้อมาในราคาถึง 20 ล้านบาท-ภาพเอเอฟพี
ทันทีที่มีข่าวว่า สาวน้อยนางหนึ่งส่งขบวนรถเบนซ์ 30 คัน เพื่อไปรับสุนัขของเธอจากสนามบินเมื่อเดือนที่แล้ว กระแสความไม่พอใจต่อบรรดาเศรษฐีใหม่แดนมังกรก็ถูกโหมกระพือขึ้นอีกครั้ง

เธอจัดเป็นกลุ่ม “คนรวยรุ่นที่สอง” ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20 ปี กลุ่มนี้มักจะรู้สึกว่า พฤติกรรมทำนองนี้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยจากการใช้สอยมรดกแห่งความร่ำรวยของตน

พวกเขาเติบโตขึ้นมาราวกับ “จักรพรรดิองค์น้อย” มีชีวิตอยู่บนกองเงินกองทองที่พ่อแม่หามาได้ในยุคที่จีนดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้างสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดในปี 1978

หนุ่มสาวรุ่นใหม่เหล่านี้มักไม่เขินอายที่จะอวดความร่ำรวยของตน และไม่รู้สึกผิดกับไลฟ์สไตล์ที่โอเวอร์เกินไป อย่างเช่นกรณีของสาวน้อยแซ่หวัง ที่เห็นว่าสุนัขสุดรักของเธอคู่ควรกับการมีขบวนรถหรูหราไปรับที่สนามบิน “ทองคำยังมีมูลค่า แต่ mastiff น้อยของฉันประเมินค่าไม่ได้” เธอเอ่ยกับนักข่าว และความจริงเธอแลกมันมาด้วยราคาถึง 4 ล้านหยวน

แต่ละวัน เธอเลี้ยงสุนัขแสนรักด้วยน้ำแร่อย่างน้อย 10 ขวด ส่วนค่าใช้จ่ายในการปรนนิบัติอื่นๆอยู่ที่ราว 100 หยวน ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยหากเทียบกับเงินเดือนโดยเฉลี่ย 1,000 หยวนของพนักงานทำความสะอาดในจีน


สุนัขตัวโปรดของเธอยังมีชีวิตอยู่ในห้องแอร์อุณหภูมิไม่เกิน 17 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้มันเพลิดเพลินกับอาหารจานโปรด อันได้แก่ เนื้อไก่และซุบกระดูก
Yongfoo Elite  สโมสรระดับไฮคลาสที่เดิมเป็นสถานกงสุลอังกฤษในเซี่ยงไฮ้ ตั้งอยู่บนถนนหย่งฝู
“พฤติกรรมเหลือเชื่อเหล่านี้เป็นที่สนใจของคนทั่วไป มันเป็นเหมือนโฆษณาประกาศความร่ำรวย การแสดงออกแบบแปลกๆ เพื่อบ่งบอกความมีฐานะของพวกเศรษฐี ปรากฎการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คนจน และพัฒนาไปสู่ความรู้สึกเอือมระอาและชิงชังรังเกียจ” ศาสตราจารย์หู ซิงโต้ว นักวิจารณ์สังคมเผย

ปัจจุบันมีการใช้ศัพท์ใหม่ว่า “เฟิ่นฟู่ (愤富)” แปลว่า “เกลียดเศรษฐี” ซึ่งสะท้อนถึงอารมณ์ที่เกลียดชังพฤติกรรมการบริโภคที่โอ้อวดฐานะของกลุ่มคนรวยทั้งหลาย

สื่อจีนมักรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับนิสัยการใช้จ่ายของบรรดาผู้มีฐานะ เช่น เศรษฐีรายหนึ่งควักกระเป๋า 6 ล้านหยวนเพื่อแลกกับนาฬิกายี่ห้อ “บลองซ์แปง (Blancpain)” ส่วนอีกรายจ่ายเงินถึง 10 ล้านหยวนให้กับรถลีมูซีน “Bentley Mulliner”

ใครจะเชื่อว่า นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศสังคมนิยมที่มีแนวคิดต่อต้านระบบศักดินาในช่วงทศวรรษแรกแห่งการสถาปนาประเทศ และต่อมายังมีการเคลื่อนไหวอย่างเหี้ยมโหดเพื่อเร่งทำลายล้างชนชั้นต่างๆ ในสังคมยุคปฏิวัติวัฒนธรรม(1966-67)

โกลด์แมน แซค รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จีนขึ้นแท่นตลาดสินค้าหรูหราใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อย และตอนนี้เป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่จีนยังมีประชาชนที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นมาตรฐานคนจนถึงราว 200 ล้านคน โดยพวกเขามีชีวิตอยู่รอดด้วยรายได้ไม่ถึงวันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน ยังมีคาดการณ์ว่า แดนมังกรจะแซงหน้าแดนปลาดิบภายในสิ้นปีนี้ ด้วยมูลค่าการจับจ่ายสินค้าหรูหราถึง 5,000 ล้านหยวน ซึ่งสูงกว่าเกือบเท่าตัวจากปีที่แล้วที่ 3,000 ล้านหยวน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้สร้างความกังวลอย่างมากแก่รัฐบาลจีน
อย่างที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าได้ประกาศอีกครั้งในการประชุม World Economic Forum เมื่อเดือนที่แล้วว่า “จีนต้องเร่งปรับลดช่องว่างรายได้” พร้อมๆ กับการควบคุมพฤติกรรมอวดรวยของสังคมจีนยุคใหม่

“เมื่อมีตัวอย่างคนอวดร่ำอวดรวยให้เห็นบ่อยๆ กลุ่มคนจนจะเริ่มคิดเหมือนกันว่า แล้วตนจะทำเงินให้ได้มากมายแบบนั้นได้อย่างไร” เป็นความเห็นของศาสตราจารย์ซุน ซูหง จากศูนย์วิจัยสินค้าและบริการชั้นสูงเสียงฉี แห่งมหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างประเทศ ในกรุงปักกิ่ง

คนรวยแล้วมักบ้า “อำนาจ”
สิ่งที่น่ากังวลคือ ช่องว่างรายได้ที่ถ่างกว้างขึ้นนี้ จะนำไปสู่ความไม่สงบสุขในสังคม เพราะบรรดาผู้มีรายได้น้อยเชื่อว่า พวกคนรวยไม่ได้มีเพียงแค่ทรัพย์สมบัติ แต่ยังมี “อำนาจ” สั่งการให้กฎหมายอยู่ข้างพวกเขาได้

อย่างกรณีของหู ปิน วัย 20 ปี ลูกชายเศรษฐีในเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง ที่มีเรื่องชกต่อยกับนักเรียนจากครอบครัวยากจนรายหนึ่งจนถึงแก่ความตาย ระหว่างการแข่งรถเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภาพข่าวแสดงให้เห็นว่าเพื่อนๆ ของหูกำลังสูบบุหรี่และหยอกล้ออย่างสบายอารมณ์ ระหว่างที่รอตำรวจและรถพยาบาล ซึ่งสร้างความโกรธเคืองต่อสาธารณชนเป็นอย่างมาก

เมื่อหูปรากฏตัวด้วยร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ในการไปฟังคำตัดสินของศาล บรรดาชาวเน็ตแดนมังกรต่างลงความเห็นว่า ครอบครัวของเขาต้องจ่ายเงินจ้างคนอื่นมาแทนแน่

หูถูกตัดสินให้จำคุก 3 ปี ซึ่งก่อให้เกิดความโกรธเคืองในหมู่คนที่เชื่อว่าครอบครัวหูต้องจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ศาลลงโทษสถานเบา

“เศรษฐีจีนส่วนใหญ่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ผ่านมา เรามักได้ยินว่า ผู้ประกอบการทำหน้าที่ในการผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของสังคม แต่ทุกวันนี้ ผู้คนต่างคาดหวังว่า บรรดาผู้มีฐานะจะแสดงออกถึงความใจบุญด้วย พวกเขามีหน้าที่ต้องตอบแทนสังคมเช่นกัน” ศาสตราจารย์หูกล่าว
LAN Lounge&Restaurant  เหลายุคใหม่ของเศรษฐีจีนละแวกถนนฉางอัน ใจกลางกรุงปักกิ่ง
เสวยสุขอย่างไร ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐี(ใหม่)จีน
เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าทุกวันนี้คนจีนไม่เพียงสลัดคราบความยากจน แต่ยังกลายเป็นกลุ่มเศรษฐีใหม่ของโลก แล้วแบบฉบับของเศรษฐีแดนมังกร ต่างเริงร่าอยู่บนทรัพย์สมบัติของตนอย่างไร หูรุ่น รีพอร์ต สำนักจัดอับดับผู้มั่งคั่ง ที่มีฐานในนครเซี่ยงไฮ้ ได้เปิดเผยไลฟ์สไตล์ของพวกเขาว่า

ปัจจุบัน ปักกิ่งมีเศรษฐีจีน 8,800 คนที่มีทรัพย์สมบัติมากกว่า 1,000 ล้านหยวน ส่วนเซี่ยงไฮ้มีเศรษฐีระดับเดียวกัน 7,000 คน แบบฉบับโครงสร้างของครอบครัวผู้มั่งคั่งแห่งแดนมังกรในปัจจุบันคือ พ่ออายุ 43 ปี แม่อายุ 42 ปี และมีลูกวัย 14 ขวบ

รายงานของหูรุ่นยังระบุว่า เศรษฐีปักกิ่งต้องผลาญเงินไปกับบ้าน รถ และของใช้หรูหราไม่ต่ำกว่า 87 ล้านหยวน จึงเข้าเกณฑ์ “เศรษฐีใหม่”

ขณะเดียวกัน ใครที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนรวยต้องมีบ้าน 3 หลัง โดยธรรมเนียมยังต้องมีเครื่องลายครามและเครื่องหยกเป็นของสะสม รวมทั้งครอบครองประติมากรรมศิลปะร่วมสมัยต่างๆ แต่ละปียังต้องจ่ายค่าเรียนเปียโนกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ

เจ้าสัวปักกิ่งต้องขับรถเบนซ์ R500 โดยทั่วไปยังต้องเป็นสมาชิกของสโมสรไฮคลาสอย่าง Yongfoo Elite (雍福会) ส่วนภรรยาต้องเข้าเป็นสมาชิก LAN Lounge&Restaurant (兰会所) บนข้อมือต้องสวมใส่นาฬิกาประดับเพชรของ Bulgari ที่สำคัญต้องขับรถสปอร์ต BMW

รูเพิร์ต ฮูจเวอร์ฟ ผู้ก่อตั้งหูรุ่น รีพอร์ต ยังกล่าวว่า หลายปีมานี้ เศรษฐีจีนมีบางอย่างเปลี่ยนไป หลายคนบอกว่า พวกเขาไม่ได้อยากเป็น “คนรวย” แต่อยากกลายเป็น “ชนชั้นสูง” มากกว่า

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผลสำรวจในลักษณะของหูรุ่นนี้ ฟังแล้วไม่เหมือนกับการบอกเล่าจากปากคนจีน อาจเป็นไปได้ว่า การสำรวจพฤติกรรมใช้เงินของคนรวยนั้น ได้รับค่าโฆษณาจากสินค้าแบรนด์เนมหรูหราทั้งหลาย ผลจึงออกมาในทำนองว่า รสนิยมในการบริโภคของเศรษฐีจีนจึงไม่ต่างจากเศรษฐีในยุโรปหรือสหรัฐฯ

แล้วคุณล่ะคิดว่า “เศรษฐีใหม่” ในเมืองจีนเป็นเช่นไร ?!
กำลังโหลดความคิดเห็น