xs
xsm
sm
md
lg

พญามังกรเทียบชั้น“โบอิ้ง-แอร์บัส” เปิดตัว"นกเหล็กยักษ์"สัญชาติจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินไอพ่น C919 ของบริษัทเอวิเอชั่น อินดัสทรีย์ คอร์ป ออฟ ไชน่า (AVIC) จัดแสดงที่งานเอเชียน แอโรสเปซประจำปี 2552 ที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 8 ก.ย. – เอเอฟพี
เอเอฟพี – พญามังกรประเดิมเปิดตัวเครื่องบินไอพ่นเชิงพาณิชย์ลำใหญ่สุดที่ผลิตในประเทศจีนต่อสายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ในงานแสดงอากาศยานยักษ์สุดแห่งเอเชีย ตอกย้ำความปรารถนาของจีนในการเทียบชั้นยักษ์ผลิตเครื่องบินระดับโลก

บริษัทผลิตในเครือวิสาหกิจรัฐ เอวิเอชั่น อินดัสทรีย์ คอร์ป ออฟ ไชน่า (AVIC) เปิดตัวเครื่องบินไอพ่นเชิงพาณิชย์ C919 ในแสดงนิทรรศการการบิน “เอเชียน แอโรสเปซ อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่ฮ่องกงเมื่อวันอังคาร (8 ก.ย.) ซึ่งผู้สังเกตการณ์ยอมรับว่า การเปิดตัวเครื่องบินสัญชาติจีนครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้กระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมแล้ว

“เป็นครั้งแรกที่จีนเปิดตัวในเวทีอุตสาหกรรมการบินโลก” ริชาร์ด ไธเอล จากบริษัทรีด เอ็กซิบิชั่น ผู้จัดงานแสดงเทคโนโลยีนานาชาติและการประชุมด้านอากาศยานพาณิชย์ (Asian Aerospace International Expo and Congress) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 8-10 ก.ย.กล่าว

จากข้อมูลของสื่อจีนระบุว่า เครื่องบินไอพ่น C919 ที่พร้อมให้บริการในปี 2559 นี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการระยะยาวของจีนเพื่อขัดขวางการผูกขาดการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ของสองยักษ์ แอร์บัส และ โบอิ้ง

สาเหตุที่จีนเลือกเลข 9 เป็นตัวแรกของชื่อรุ่น C919 นั้น เพราะว่าเสียงอ่านภาษาจีนของเลข 9 ออกเสียงเหมือนคำจีนที่แปลว่า “ยาวนาน” ส่วนเลข 19 ก็เป็นตัวเลขสะท้อนความจริงที่ว่าเครื่องบินขนาดใหญ่ลำแรกของจีนนั้นจะมี 190 ที่นั่ง โดยไธเอลเปิดเผยว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเปิดตัวครั้งแรกในงานนี้ ผลิตโดยบริษัทคอมเมอร์เชียล แอร์คราฟต์ คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า (COMAC) ในเครือ AVIC ซึ่งเป็น 1 ใน 11 บริษัทของจีนที่เป็นทั้งซัปพลายเออร์และผู้บริหารจัดการอากาศยาน

ทั้งนี้ งานเอเชียน แอโรสเปซ ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี เป็นหนึ่งในงานแสดงเทคโนโลยีการบินที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก เริ่มย้ายจากสิงคโปร์มาจัดที่ฮ่องกงเมื่อปี 2550 เพื่อหวังจัดงานใกล้กับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นตลาดการบินที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก
เจ้าหน้าที่เตรียมจัดที่นั่งไว้ข้างๆ ส่วนจัดแสดงเครื่องบินของบริษัทเอมเบรเออร์เมื่อวันที่ 8 ก.ย. – เอเอฟพี
โดยไธเอล ผู้อำนวยการฝ่ายการขายของบริษัทรีดเปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมสายการบินทั่วโลกจะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่คาดว่าจะมีบริษัท 356 แห่งและผู้เข้าชมงานครั้งนี้ราว 10,000 คน

ก่อนหน้านี้ หลิน จั๋วหมิง ประธานบริษัท AVIC เคยแถลงข่าวต่อสื่อเมื่อปีที่แล้วว่า เป้าหมายของบริษัทคือการกระตุ้นรายได้จากการขายให้แตะ 1 ล้านล้านหยวน (145,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมการบินระดับโลก

โดยแรงกระตุ้นรายได้ของบริษัทส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากความต้องการภายในประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ชาวจีนจำนวนมากได้หยุดพักผ่อน และสายการบินจำเป็นจะต้องเพิ่มจำนวนเครื่องบินเพื่อพาผู้โดยสารเหล่านี้ไปยังจุดหมาย

สื่อจีนรายงานการคาดการณ์ว่า สายการบินจีนจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องบินโดยสารใหม่รวมทั้งสิ้น 1,600 ลำภายในปี 2563 และ 3,000 ลำภายในปี 2593 ซึ่งต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจีนจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งด้านนโยบายและงบประมาณในการต่อกรกับยักษ์การบินชาติตะวันตก แต่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบางรายมองว่า การที่จีนจะผงาดครองส่วนแบ่งในตลาดโลกนั้นยังเป็นเรื่องท้าทาย

มาร์ติน เครกส์ ประธานการประชุมอากาศยานแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลประโยชน์เปิดเผยว่า การผลิตเครื่องบินนั้นต้องผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการผลิตระดับสูงและการทำการตลาดที่ดี “มันไร้เดียงสามากนะ ถ้าคิดว่ามันเป็นเรื่องง่าย”

“เวลาเลือกซื้อเครื่องบิน สายการบินต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องต้นทุนการดำเนินการ การประหยัดเชื้อเพลิง และการบำรุงรักษาตลอดการใช้งาน พวกเขาต้องการความแน่นอนไร้ที่ติ ไม่ใช่เรื่องการเมือง”

ขณะที่ แอนดรูว์ เฮิร์ดแมน ผู้อำนวยการสมาคมสายการบินเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นองค์กรการค้าสำหรับสายการบินในภูมิภาคก็แสดงทัศนะว่า ยังไม่อาจด่วนตัดสินได้ว่าสายการบินจีนจะซื้อเครื่องบินที่ผลิตภายในประเทศในทันที “สายการบินจีน เวลาตัดสินใจจะซื้อเครื่องบินจากแอร์บัส โบอิ้ง หรือผู้ผลิตเครื่องบินรายอื่น จะชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ”

"แต่ก็มีทางเลือกอื่นที่เสี่ยงน้อยกว่าสำหรับจีน คือการหันไปลงทุนทรัพยากรในการวิจัยพัฒนาชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบเครื่องบินแทน” เฮิร์ดแมนกล่าว พร้อมเตือนว่า บริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเช่น AVIC นั้น อาจไม่ดึงดูดใจผู้ซื้อ เพราะ “ในประวัติศาสตร์การลงทุนด้านการบินของประเทศโดยหวังเป้าหมายทางด้านการเมืองนั้น มักไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค”
ผู้เข้าชมงานกำลังมองเครื่องบินไอพ่นลำหนึ่งที่จัดแสดงอยู่ที่งานเอเชียน แอโรสเปซที่ฮ่องกง – เอเอฟพี
แอนดรูว์ เฮิร์ดแมน ผู้อำนวยการสมาคมสายการบินเอเชีย-แปซิฟิกขึ้นกล่าวในงานเอเชียน สเปซที่ฮ่องกง – เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น