xs
xsm
sm
md
lg

กูรูเชื่อมังกรพร้อมเขมือบคาเธ่ย์ฯ หลังแอร์ไชน่าซื้อหุ้นเพิ่มอีก12.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินเอ 330-300 ของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก จอดอยู่บนสนามบินนานาชาติ เช็ก แลป ก็อก ของฮ่องกงเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ปี 2006 - เอเอฟพี
เอเอฟพี – นักวิเคราะห์เชื่อ สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิกของฮ่องกง ใกล้ตกอยู่ในอุ้งมือพญามังกร หลังข่าวสะพัด แอร์ ไชน่า สายการบินสัญชาติจีนประกาศซื้อหุ้นคาเธ่ย์เพิ่มอีก 12.5% มูลค่า 6,340 ล้านเหรียญฮ่องกง (813 ล้านเหรียญสหรัฐ) หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานข่าวว่า สายการบิน แอร์ ไชน่าของจีนได้ประกาศแผนซื้อหุ้นสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก จากบริษัท ซิติก แปซิฟิก ที่ต้องการปลดเปลื้องทรัพย์สินที่บริษัทพิจารณาแล้วว่าไม่ใช่ทรัพย์สินหลัก ส่งผลให้แอร์ไชน่าถือหุ้นเพิ่มเป็น 29.99% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 813 ล้านเหรียญสหรัฐ

นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของแอร์ไชน่าที่หวังขยายช่องทางสยายปีกธุรกิจผ่านเครือข่ายการบินของคาเธ่ย์ฯ หลังอกเดาะจากตลาดเซี่ยงไฮ้ เพราะสายการบินไชน่า อีสเทิร์นหันไปจับมือกับเซี่ยงไฮ้ แอร์ไลน์แทน โดยปัจจุบันเส้นทางบินของคาเธ่ย์ฯ ครอบคลุม 36 ประเทศ/ดินแดน ตั้งแต่สหรัฐฯ ไปจนถึงนิวซีแลนด์

แผนการเพิ่มหุ้นเป็น 29.99% นั้น ทำให้แอร์ไชน่าเข้าใกล้ความเป็นจริงในการเขมือบสายการบินฮ่องกง เนื่องจากตามกฎระเบียบระบุ บริษัทที่ถือหุ้นอย่างต่ำ 30% สามารถเสนอซื้อกิจการได้ นอกจากนี้ข้อตกลงดังกล่าวยังช่วยแอร์ไชน่าเพิ่มที่นั่งในบอร์ดบริหารของคาเธ่ย์เท่าตัวเป็น 4 เก้าอี้

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของสายการบินสัญชาติมังกรในครั้งนี้นั้น ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหมู่นักวิเคราะห์ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าการเข้าซื้อกิจการของจีนนั้นจะทำให้สายการบินคาเธ่ย์ต้องมัวหมอง โดยคาเธ่ย์ฯ นั้นนับเป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนถึงการที่รัฐบาลปักกิ่งให้อิสระแก่ฮ่องกงในการปกครองแบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ”

โดยหนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ของฮ่องกงรายงานว่า การที่แอร์ ไชน่าซื้อหุ้นเพิ่มเป็นสัญญาณว่าคาเธ่ย์ฯ กำลังใกล้จะตกเป็นบริษัทของแผ่นดินใหญ่ ซึ่งสายการบินจีนนั้นไม่ค่อยได้รับการชื่นชมที่ฮ่องกงนัก “การทำลายมาตรฐาน คุณภาพ และชื่อเสียงของคาเธ่ย์ฯ ก็เท่ากับเป็นการทำลายฮ่องกง”

ถึงแม้ว่าทางด้านแอร์ ไชน่า จะปฏิเสธให้ความเห็นว่าบริษัทวางแผนจะยื่นเรื่องประมูลซื้อกิจการคาเธ่ย์อย่างเป็นทางการหรือไม่ แต่ทางผู้สังเกตการณ์ของอุตสาหกรรมมองว่า ไม่ว่าอย่างไรในที่สุดแอร์ ไชน่าก็ต้องทำ

เช่นเดียวกับความคิดของคอร์รีน เผิง นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการลงทุน เจพี มอร์แกน ที่มองว่า “เป็นไปได้ที่ทั้งสองสายการบินจะควบรวมกิจการในที่สุด ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น มันจะกลายเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียในแง่ของมูลค่าการตลาด ขนาดฝูงบิน การจราจร และสินทรัพย์"

ด้านสไวร์ แปซิฟิก ผู้ถือหุ้นใหญ่ของคาเธ่ย์ก็ตกลงจ่ายเงิน 1,000 เหรียญฮ่องกงเพื่อซื้อหุ้นของสายการบินคาเธ่ย์ฯ เพิ่มอีก 2% ส่งผลให้มีหุ้นที่ถือครองรวมทั้งสิ้น 42% โดยคริสโตเฟอร์ แพรตต์ ประธานของสไวร์และคาเธ่ย์ย้ำว่า “การซื้อขายหุ้นไม่ได้หมายความว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์ การดำเนินงาน และการบริหารจัดการเงินทุน ณ ปัจจุบันของคาเธ่ย์ฯ”

แต่สิ่งที่แพรตต์ยืนยันนั้น นักวิเคราะห์ตั้งข้อสงสัยว่า จะยืนยันเช่นนั้นอีกนานแค่ไหน แม้ว่าปัจจุบันหุ้นของซิติกจะลดจาก 17.5% เหลือ 2.98% แต่บริษัทก็ยังมีศักยภาพพอที่จะหนุนหลังแอร์ ไชน่า แม้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากฝ่ายอื่นๆ ภายใต้โครงสร้างปัจจุบันก็ตาม

“สไวร์เหลือทางเลือกไม่มาก บริษัทจะต้องสะสมเงินทุนเพิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้หุ้นไหลออก และป้องกันบริษัทอื่นเสนอซื้อกิจการ” ดิเรก ซาดูบิน จากศูนย์ให้คำปรึกษาบริษัทการบินแปซิฟิกกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันคาเธ่ย์ แปซิฟิก กำลังประสบปัญหาในการพัฒนา เนื่องจากธุรกิจของสายการบินที่มุ่งให้บริการผู้โดยสารระดับสูงและกลางได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก ดังนั้นการกระชับสัมพันธ์กับแอร์ไชน่าก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดท่องเที่ยวจีนให้แก่คาเธ่ย์ฯ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น