xs
xsm
sm
md
lg

ศก.จีนส่งสัญญาณฟื้นตัวไตรมาส 2 แตะ 7.9 ด้านกูรูยังไม่วางใจหวั่นฟองสบู่แตก-หนี้ท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ส่งสัญญาณฟื้นตัว จีดีพีขยับขึ้นแตะ 7.9% หลังไตรมาสแรกชะลอตัวอยู่ที่ 6.1% ซึ่งเป็นอัตราชะลอตัวที่สุดในรอบทศวรรษ สืบเนื่องจากนโยบายการคลังแบบขยายตัวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตฟองสบู่และอัตราการเติบโตยังมีโอกาสผันผวนสูง

หลี่ เสี่ยวเชา โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยข้อมูลตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ขยับขึ้นแตะ 7.9% กระเตื้องขึ้นจาก 6.1% ในช่วงไตรมาสแรกของปี ส่งผลให้จีดีพีรวมครึ่งปีแรกขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7.1% เขยิบใกล้เป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ 8.0% เข้าไปทุกขณะ

“เศรษฐกิจกำลังกระเตื้องขึ้นและมีแนวโน้มฟื้นตัว” หลี่กล่าว อย่างไรก็ตาม เขาก็ยอมรับว่ายังมีอุปสรรคและความท้าทายต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งรากฐานที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวยังไม่แข็งแรงพอ

ด้านเหอ จวิ้น นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัย แอนบาวด์ คอนเซาติ้ง มองว่า “จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจชาติแรกที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ซึ่งส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย”

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงสองไตรมาสแรกของปี 2551 เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลัก กระทั่งมาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากจีนลดลง

ล่าสุด เศรษฐกิจจีนเริ่มส่อเค้าฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวและมาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ล้านล้านหยวน (580 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งยังออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้เพิ่ม จนกระทั่งยอดสินเชื่อก้อนใหม่เดือนมิถุนายนพุ่งแตะ 1.53 ล้านล้านหยวน ส่งผลให้ยอดรวมครึ่งปีแรกแตะ 7.4 ล้านล้านหยวน แซงหน้าเป้าสินเชื่อตลอดปี 2552 ที่รัฐตั้งเป้าไว้ที่ 5 ล้านล้านหยวนแล้ว

ขณะเดียวกันตัวเลขการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ของโรงงานอุตสาหกรรมนับล้านในประเทศช่วงไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 9.1% โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน ตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 10.7% ส่งผลให้ยอดรวมครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้น 7.0% ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในตัวเมือง ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายสำหรับโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ก็เพิ่มขึ้น 33.6% ช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจีนส่อเค้าฟื้นตัว แต่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ก็ยังมองว่านโยบายของรัฐบาลนั้นมาพร้อมความเสี่ยง เนื่องจากปริมาณเงินที่ไหลทะลักเข้าสู่เศรษฐกิจอย่างง่ายดาย อาจล้นเข้าไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดฟองสบู่เงินเฟ้อระลอกใหม่ นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่พึ่งพาสินเชื่อและการลงทุนของรัฐบาลมากเกินไป หากนโยบายเกิดความผิดพลาดแม้แต่นิดก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นได้

หวัง เทา นักเศรษฐศาสตร์จีนจากบริษัทยูบีเอสมองว่า “รัฐบาลอัดแน่นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้นการจัดหาโครงการใหม่ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องด่วนอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องวางแผนหาทางกระตุ้นการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในภาคเอกชนด้วย”

ทางการจีนรู้ดีว่า การอัดฉีดเงินของรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปได้ตลอดกาล ตามที่เวิน เจียเป่า เคยกล่าวในที่ประชุมนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “สัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไม่ได้หมายความว่าช่วงเวลาแห่งความยากลำบากได้ผ่านพ้นไปแล้ว”

แต่เหตุผลหนึ่งที่ทางการจีนยังลังเลว่าจะเพลามือจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ก็เพราะความต้องการสินค้าส่งออกของจีนลดลง โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจีนส่งออกลดลง 21.4% ลดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และถึงแม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นปรอทชี้วัดเงินเฟ้อจะตกลง 1.7% ในเดือนที่แล้วเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2551 แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่า ภาวะเงินเฟ้ออาจกลับมาสร้างความปวดหัวให้แก่จีนอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น