เอเจนซี – กรณี 4 ผู้บริหารริโอ ทินโต ถูกทางการจีนกักตัว สร้างผลด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก หลายฝ่ายเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นผลพวงจากความขัดแย้งในธุรกิจแร่เหล็กมากกว่า
โดยข้อกล่าวหาที่ทางการจีนอ้างในการกักตัว 4 ผู้บริหารของริโอ ทินโต บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้บริหารระดับสูงสัญชาติออสเตรเลียน คือขโมยข้อมูลลับทางราชการ สอดแนมกิจการภายใน และเป็นภัยต่อผลประโยชน์แห่งรัฐ
ข้อกล่าวหาดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรมสินแร่เหล็กทั่วโลก สร้างความตึงเครียดต่อความสัมพันธ์จีน-ออสเตรเลีย และยังสร้างผลกระทบต่อธุรกิจต่างชาติในจีน โดยบรรดาบริษัทที่ลงทุนในจีนต่างจับตามองกรณีนี้
“นักลงทุนชาวออสเตรเลียนและชาติอื่นๆต่างกังวลว่ากรณีเช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีก และรัฐบาลจีนก็ควรกังวลด้วย เพราะหากบริษัทต่างชาติรู้สึกถึงความไม่แน่นอนก็อาจเปลี่ยนทิศทางการลงทุนในจีน และเปลี่ยนวิธีคิดในการให้ผู้บริหารของบริษัทมาประจำในจีน” นายคริส โบเว่น รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย ระบุ
ด้าน นายสตีฟ ดิ๊คคินสัน นักกฎหมายจาก Harris & Moure กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวของจีนอาจยั่วยุให้นานาชาติทำการแก้เผ็ดบริษัทจีนที่เข้าลงทุนในต่างประเทศ และกรณีที่เกิดขึ้นกับริโอ ทินโต อาจส่งผลให้แผนขยายธุรกิจของจีนในออสเตรเลีย ในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หยุดลงกลางคัน
ขณะที่นักวิเคราะห์จากหลายสำนักเชื่อกันว่า การกระทำของจีนเกี่ยวพันกับข้อขัดแย้งทางธุรกิจในเรื่องราคาสินแร่ ที่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อการผลิตเหล็กกล้าที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญต่อเศรษฐกิจของจีน
จีนเป็นประเทศที่มีการใช้สินแร่เหล็กมากที่สุดในโลก ดังนั้นจึงต้องพึ่งพิงเหมืองแร่เหล็กอย่าง ริโอ ทินโต และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ริโอฯ ก็ได้กำไรจากจีนมหาศาล
“โรงงานเหล็กกล้าในจีนรู้สึกไม่มั่นคง เพราะความต้องการเหล็กกล้าในตลาดโลกมีมากขึ้น โรงงานเหล่านี้จึงต้องการมีแหล่งป้อนสินแร่ที่แน่นอน แต่ปรากฎว่าในช่วงเศรษฐกิจขาลงอย่างนี้ ราคาสินแร่มาตรฐานกลับสูงขึ้น” นั่นคือความเห็นจาก นายจิม เลนนอน นักวิเคราะห์ด้านเหล็กกล้าจาก Macquarie Group
แม้ทางการจีนไม่ระบุว่า การกักตัวผู้บริหารริโอฯครั้งนี้เกี่ยวพันกับการเจรจาราคาสินแร่เหล็ก แต่สื่อของรัฐบาลจีนชี้ว่ามีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าลูกจ้างของริโอฯส่งข้อมูลลับออกไป ซึ่งอาจทำให้บริษัทได้ประโยชน์ในการเจรจา
“บันทึกความเข้าใจในที่ประชุมของจีนรั่วไหลออกไปสู่ริโอ ทินโต รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเกณฑ์ต่ำสุดของราคาสินแร่ที่จีนรับได้ สินค้าในสต๊อคของผู้ผลิตเหล็กกล้าแต่ละราย ต้นทุนการผลิต รายละเอียดการผลิตและตารางนัดหมาย” รายงานจาก ดิ อิโคโนมิค อ๊อบเซิฟเวอร์ หนังสือพิมพ์ของทางการจีน ระบุไว้
นอกจากนี้ การควบคุมตัวลูกจ้างบริษัทริโอ ทินโต ก็เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการเจรจาราคาสินแร่เหล็กระยะยาวระหว่างจีนกับผู้ผลิตสินแร่เหล็กรายใหญ่ของโลก 3 รายคือ ริโอ ทินโต, BHP Billiton และ Vale Do Rio Doce of Brazil ล้มเหลว ทั้งนี้นายสเติร์น หู ผู้บริหารของริโอฯ ชาวออสเตรเลียนที่ถูกทางการจีนควบคุมตัว ก็เป็นหนึ่งในทีมเจรจาราคาสินแร่
“ปีนี้ ฝ่ายจีนพกพาอารมณ์บูดไปบนโต๊ะเจรจา เพราะปีที่แล้วประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้น จีนจึงต้องการเจรจาให้ราคาได้ราคาที่ต่ำลง” นายโจว สีเจิง นักวิเคราะห์จาก CITIC Securities แสดงความเห็น
การที่ต้องเผชิญกับภาวะที่สินแร่เหล็กมีราคาสูงขึ้น ผลักดันให้จีนรุกลงทุนในกลุ่มบริษัทเหมืองแร่ทั่วโลก ทั้งในทวีปแอฟริกา ละติน อเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น แต่กระนั้นสินแร่ที่ได้มาก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และ 70 เปอร์เซ็นต์ของสินแร่ที่ใช้อยู่ในจีนนั้นก็มาจาก 3 ยักษ์ใหญ่ กล่าวคือ ริโอ ทินโต BHP Billiton และ Vale และจีนก็ได้พยายามแสวงหาแนวทางที่สามารถซื้อสินแร่ในราคาที่ถูกลง
ปี 2550 จีนคัดค้านแผนควบรวมกิจการของ BHP Billiton และริโอ ทินโต เพราะเกรงว่าสองยักษ์ใหญ่จะครอบงำราคาเหล็กโลกนี้ และต้นปี 2551 จีนก็ขยับเข้าซื้อหุ้นในริโอฯ ในนามของบริษัทไชนาลโค รัฐวิสาหกิจเหมืองแร่ของจีน และเมื่อริโอฯ ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ไชนาลโคก็เสนอขอซื้อหุ้นของริโอฯ เพิ่มขึ้นอีก
เมื่อเดือนที่ผ่านมา ริโอฯประกาศเลิกการเจรจาขายหุ้นเพิ่มให้แก่ไชนาลโค และชักนำให้ BHP Billiton เข้ามาเป็นพันธมิตรแทน จากนั้น ริโอฯ และ BHP Billiton ก็จับมือกับ Vale เพื่อรวมกลุ่มกันเจรจราราคาสินแร่เหล็กกับจีน
เรื่องนี้ฝ่ายจีนตอบโต้โดยสมาคมผู้ค้าเหล็กและเหล็กกล้าของจีนเรียกร้องให้โรงงานเหล็กกล้าเลิกซื้อสินแร่เหล็กจาก 3 บริษัทดังกล่าวระหว่างการเจรจา เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายจีนขอลดราคา แต่ก็ไร้ผล
เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียบางราย มองว่าการควบคุมตัวผู้บริหารริโอฯ 4 รายนี้ ถือเป็นการเอาคืนจากฝ่ายจีน ในกรณีที่ริโอฯ ยกเลิกการขายหุ้นแก่ไชนาลโค และยังทำให้การเจรจาเรื่องราคาสินแร่ล้มเหลว โดยผู้เชี่ยวชาญบางรายกล่าวว่า การกระทำของจีนครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าอัปยศ
“จีนจ่ายเงินซื้อสินแร่ไปมากมาย จึงหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ดังนั้น คนบางกลุ่มจึงรักษาหน้า เพราะว่าเขาไม่ได้ครอบครองทรัพยากรที่เขาคิดว่าเขาน่าจะได้ไปครอบครอง” นั่นคือความเห็นจาก นายเดวิด เคลลี ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษา และผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยด้านจีน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งซิดนีย์