เอเจนซี – หลังเกิดเหตุปะทะกันรุนแรงระหว่างหน่วยปราบปรามจลาจลและผู้ประท้วงชาวอุยกูร์ซินเจียงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 ก.ค.) รัฐบาลจีนเริ่มเปลี่ยนท่าทีต่อสื่อ จากที่เคยปิดกั้นไม่ให้เข้ามาทำข่าวยังที่เกิดเหตุ กลับเชื้อเชิญให้นักข่าวเข้ามาเยี่ยมชมทำข่าวในอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียงอย่างเป็นทางการ
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ เป็นไปได้ว่าผลกระทบจากการจัดการความไม่สงบในทิเบตเมื่อปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลจีนได้เรียนรู้ว่า การให้สื่อต่างชาติเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้นก็หมายความว่า พวกเขาสามารถส่งสาน์สของพวกเขาออกไปยังโลกภายนอกได้
รีเบกกา แมคคินนอน ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงแสดงทัศนะว่า “จีนมีประสบการมากขึ้นในการรับมือกับสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วงที่เกิดวิกฤต เมื่อก่อนจีนเลือกใช้วิธีปิดข่าว...แต่ปัจจุบันจีนเริ่มเปลี่ยนความคิดแล้ว”
เช่นเดียวกับความเห็นของเดวิด ซีวิก ผู้อำนวยการศูนย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน ประจำมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของฮ่องกงที่มองว่า “การพาทุกคนมาดูด้วยตาจะทำให้พวกเขาเข้าใจว่าความรุนแรงเหล่านี้เกิดจากชาวอุยกูร์ ดีกว่าให้พวกเขาไปนั่งเทียนเขียนกันเอาเอง”
เมื่อวันจันทร์ (6 ก.ค.) เพียง 1 วันหลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจลของชาวอุยกูร์ องค์กรประชาสัมพันธ์ของสำนักงานข้อมูลข่าวสารแห่งชาติได้เชิญสื่อต่างชาติเข้ามาทำข่าวการจลาจลโดยชนกลุ่มน้อยที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษของจีน ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 156 ราย บาดเจ็บอีก 1,100 รายในเมืองอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของซินเจียง โดยมีเป้าหมายให้สื่อต่างชาติรายงานข่าวที่เป็นมิตร ไม่อคติ และเป็นธรรมมากขึ้น
นักข่าวจากสำนักข่าวต่างชาติราว 60 แห่งเดินทางมายังอูหลู่มู่ฉีเมื่อวันจันทร์ โดยทางการได้จัดเตรียมโรงแรมใหญ่ที่สุดของเมืองเป็นที่พักรับรอง ซึ่งที่นั่นทางการก็ได้จัดโซนนักข่าวไว้พร้อม มีการออกบัตรสำหรับนักข่าว และเขตแถลงข่าวไว้ด้วย โดยโรงแรมแห่งนี้เป็นสถานที่เดียวในเมืองที่ยังไม่ถูกตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการรับประกันว่านักข่าวจะอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่
“ฉันไม่ทราบว่าอะไรทำให้พวกเขาเปลี่ยนท่าทีต่อสื่อในเวลานี้ แต่ฉันคิดว่า ผลจากการไม่อนุญาตให้สื่อเข้าไปทำข่าวกรณีจลาจลในลาซาเมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีการบิดเบือนเรื่องราวไปต่างๆ นานาภายนอกประเทศจีน และเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นมาเอง” แมคคินนอนกล่าว
โดยในช่วงมีนาคมปีที่แล้วซึ่งเกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อกองกำลังของรัฐบาลจีนเข้าปราบปรามกลุ่มสนับสนุนอิสรภาพทิเบตในลาซา และลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่ ทางการจีนเลือกที่จะปิดข่าว ห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปยังทิเบต ซึ่งหมายความว่า นักข่าวต่างชาติไม่สามารถนั่งเครื่องบินหรือรถไฟเข้าไปยังลาซาได้ แต่ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ต่อชาวโลกกลับเล็ดลอดมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวทิเบตพลัดถิ่นซึ่งอยู่ต่างแดน
นอกจากนี้ ผู้นำจีนอาจกำลังพยายามเรียนรู้วิธีของประเทศฝั่งตะวันตกในการรับมือกับสื่อในช่วงวิกฤต แมคคินนอนมองว่า “กลยุทธต่อสื่อในยุคอินเตอร์เน็ตนั้น การอนุญาตให้สื่อเข้ามาทำข่าว และพยายามเปลี่ยนสถานการณ์ให้กลายเป็นประโยชน์ต่อคุณนั้นคงจะดีกว่า” เนื่องจากปัจจุบันสื่ออินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้จีนไม่มีทางเลือกมากนัก จึงได้แต่เปลี่ยนวิธีรับมือกับสื่อ
อย่างไรก็ตาม แม้ทางการจีนจะเตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังเกิดเหตุเหนือความคาดหมาย โดยเมื่อวันอังคาร (7 ก.ค.) ในขณะที่เจ้าหน้าที่พาผู้สื่อข่าวขึ้นรถบัสตรวจสอบความเสียหายจากการจลาจลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่มหญิงสาวชาวอุยกูร์ราว 200 คนได้ออกมาโอดครวญและร้องตะโกน เพื่อประท้วงที่เจ้าหน้าที่จับกุมลูกชายและสามีของพวกเธอไป แม้เจ้าหน้าที่จีนจะพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของนักข่าวบนรถ แต่กล้องโทรทัศน์ก็ยังจับภาพเหล่านั้นไว้ตลอด
และถึงแม้ว่าสื่อมวลชนจะได้รับอนุญาตให้ทำข่าว แต่นักข่าวต่างชาติบางส่วนก็ยังรายงานถึงปัญหาในการทำงานที่เกิดขึ้นในประเทศจีน โดยองค์กรผู้สื่อต่างชาติในประเทศจีนเปิดเผยว่า ทางองค์กรได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงได้มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวทีมข่าวโทรทัศน์และนักข่าวอื่นๆ มีการริบอุปกรณ์ หรือแม้กระทั่งทำลายกล้องถ่ายวิดีโอ ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ของสำนักข่าวเอพี 2 รายถูกคุมตัวเป็นเวลามากกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งถูกไต่สวนเกี่ยวกับการรายงานข่าวของพวกเขา ก่อนจะถูกปล่อยตัวกลับมายังโรงแรมที่พักพร้อมอุปกรณ์ในเวลาต่อมา
จะเห็นได้ว่าถึงรัฐบาลจีนจะพยายามสร้างภาพว่าเปิดเสรีต่อสื่อเพียงไร แต่ก็ยังมีการควบคุมสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเข้มงวด สื่อรัฐบาลยังอยู่ภายใต้การควบคุม เมื่อเกิดความไม่สงบขึ้นในเมืองอูหลู่มู่ฉี รัฐบาลจีนได้พยายามปิดเว็บไซต์ Twitter และ Facebook รวมถึงเว็บไซต์ข่าวบางเว็บ และยังตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือบางพื้นที่เพื่อควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงด้วย