เอเอฟพี – อนาคตอุตสาหกรรมผลิตไวโอลินโรยด้วยกลีบกุหลาบ เหตุจีนสามารถยกระดับคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในตลาด อีกทั้งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังพบว่า กระแสความนิยมเล่นไวโอลินในประเทศยังเติบโตต่อเนื่อง
เกิ่ง กั๋วเซิ่ง หนุ่มใหญ่วัย 47 ปีเปิดโรงงานทำไวโอลินเล็กๆ ที่เขตผิงกู่ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 90 โดยว่าจ้างพนักงานทั้งสิ้น 20 คน
“เมื่อก่อนพวกเราเคยมีอาชีพเป็นเกษตรกร แต่ระยะหลังพอหันมาทำไวโอลิน รายได้ของเราก็เพิ่มมากขึ้น” และปัจจุบันเครื่องดนตรีของเขาก็ส่งออกไปยังหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสวิสเซอร์แลนด์
สำหรับประเทศจีนแล้ว ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่มีประวัติศาสตร์ยังไม่ยาวนานนัก ในยุคของเหมา เจ๋อตง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมานั้นมองว่าไวโอลินเป็นเครื่องมือของการปฏิวัติ และในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (พ.ศ.2509-2519) โรงงานผลิตไวโอลินก็ผุดขึ้นอย่างมากมายทั่วประเทศจีน
แต่จนแล้วจนรอดโรงงานเหล่านี้ก็ได้แต่ผลิตสินค้าไร้คุณภาพ ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนความฝักใฝ่ในระบอบสังคมนิยมแต่เพียงเท่านั้น แต่ไม่เหมาะจะนำมาสร้างเสียงเพลงไพเราะเพื่อจรรโลงใจ
กระทั่งเมื่อจีนเปิดประเทศสู่โลกภายนอกในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 จีนก็ตระหนักว่าไวโอลินเหล่านี้ไม่อาจส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ดังนั้นจีนจึงได้เร่งเรียนรู้กลเม็ดในการทำการค้า ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจไวโอลินเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาคธุรกิจสำคัญอื่นๆ ด้วย และถีบตัวกลายเป็น “แหล่งผลิตเครื่องสายของโลก” ได้สำเร็จ
ปัจจุบันมีบริษัทผลิตไวโอลินนับร้อยในประเทศจีน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตผิงกู่ของปักกิ่ง และในมณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเจิ้ง เฉวียน ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องสายวัย 59 ปีเชื่อว่า ในแต่ละปีโรงงานเหล่านี้สามารถผลิตไวโอลินได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเครื่อง คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของตลาดโลก
เจิ้ง ซึ่งก่อตั้งโรงเรียนสอนเครื่องสายในปักกิ่งเมื่อปลายทศวรรษที่ 80 มองว่า “ผู้จัดจำหน่ายและผู้ใช้ส่วนใหญ่เห็นแล้วว่าไวโอลินจีนนั้นคุ้มค่าเงิน”
อย่างไรก็ตาม เจิ้งมองว่ายังมีปัญหาบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ในอุตสาหกรรมไวโอลิน “หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ผู้ผลิตจีนเผชิญก็คือ พวกเขาไม่มียี่ห้อของตัวเอง ผู้จัดจำหน่ายมักจะซื้อเครื่องดนตรีจากพวกเขา แล้วก็ไปประทับตรายี่ห้อของตัวเอง”
ในความคิดของเจิ้งแล้ว อนาคตของผู้ผลิตไวโอลินในจีนขึ้นอยู่กับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ส่วนเรื่องราคานั้นเป็นจุดเด่นของไวโอลินจีนอยู่แล้ว โดยไวโอลินตัวที่ถูกที่สุดในเขตผิงกู่ราคา 500 หยวน (ราว 2,500 บาท) แต่ถ้าสั่งทำพิเศษราคาอาจพุ่งสูงถึง 500,000 บาทเลยทีเดียว
“นักดนตรีและนักสะสมจำนวนมากต่างมาขอซื้อเครื่องดนตรีจากผม แต่พวกเขาต้องรอ 3 ปีถึงจะได้ไวโอลิน 1 ตัว” เจิ้งกล่าว พร้อมเผยว่าในเดือนพฤษภาคมปีหน้านี้ เขาจะจัดการแข่งขันไวโอลินนานาชาติขึ้นที่จีนเป็นครั้งแรกด้วย
นอกจากพัฒนาคุณภาพแล้ว อีกความท้าทายหนึ่งของอุตสาหกรรมไวโอลินจีนก็คือ ความต้องการภายในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ผู้ผลิตจะต้องผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการมหาศาล ซึ่งมีตัวขับเคลื่อนหลักมาจากการผู้ปกครองส่วนใหญ่แห่พาลูกมาเข้าเรียนวิชาดนตรีคลาสสิกกันมากขึ้น “พวกเขาไม่จำเป็นต้องจบมาเป็นอาจารย์ เพียงแค่ไว้เป็นความสามารถพิเศษติดตัวเท่านั้น” เจิ้งกล่าว
สำหรับหลิน หยุนตง เจ้าของบริษัทปักกิ่ง หวาตง มิวซิคัล ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไวโอลินที่ใหญ่ที่สุดในเขตผิงกู่ มีพนักงานมากถึง 1,000 คน และสามารถผลิตไวโอลินได้ถึง 200,000 ตัวต่อปี มองเห็นโอกาสทองจากกระแสการเติบโตนี้ โดยเขาเชื่อว่า ตลาดภายในประเทศจะเติบโตขึ้นจาก 5% เป็น 10% และเป็น 30% ในที่สุด
“เราตั้งเป้าส่งออกไวโอลิน 60% เป็นยังต่างประเทศ และจำหน่ายในประเทศอีก 40%” หลินกล่าว