xs
xsm
sm
md
lg

ยาฮู้ออกโรงป้องธุรกิจ ชี้ไม่มีหน้าที่แก้ตัวให้จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/เอเจนซี – หลังจากจีนทำการสั่งสอนกูเกิ้ลด้วยการสั่งปิด ‘เสิร์ช เอ็นจิน’ ไปตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. ก็ได้เวลาที่ผู้บริหารสูงสุดของยาฮู้ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญของกูเกิ้ล ต้องออกโรงมาปกป้องธุรกิจ โดยย้ำว่า ยาฮู้ให้การเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชนเสนอมา แต่ภารกิจหลักของบริษัทคือให้บริการข้อมูลแก่ผู้ใช้ ไม่มีหน้าที่แก้ไขข้อบกพร่องของจีน

ทั้งนี้ แครอล บาร์ตซ ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทยาฮู้ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ ได้กล่าวต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากเธอเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ยาฮู้เป็นบริษัทที่ให้ความเคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชนเสมอมา และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจไฮเทค

“ยาฮู้ได้ก้าวพ้นจุดนั้นไปแล้ว ทั้งคณะกรรมการบริหารและบริษัท ต่างก็ทำหน้าที่ในธุรกิจอย่างดีที่สุด ภารกิจหลักของเราคือการให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนทั่วทั้งโลกอย่างเสรี เราไม่มีภารกิจในการแก้ไขข้อบกพร่องของจีน”

ในปี 2549 ยาฮู้ รวมถึงบริษัทอเมริกันรายอื่น อาทิ ไมโครซอฟท์ ซิสโก และกูเกิ้ลเคยถูกไต่สวนในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาว่าร่วมสมคบคิดกับทางการจีนในระบบตรวจสอบหรือเซ็นเซอร์ ที่เรียกว่า “Great Firewall of China” หรือ “กำแพงใหญ่ของจีน” แต่ยาฮู้ถูกไต่สวนหนักที่สุด เพราะได้ให้ข้อมูลอีเมล์ของนักเคลื่อนไหวทางสังคมแก่ทางการจีน จนทำให้นักเคลื่อนไหวรายนั้นถูกตัดสินจำคุก ขณะที่บริษัทยาฮู้ได้รับสิทธิในการดำเนินธุรกิจออนไลน์ในจีน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้บริหารสูงสุดของยาฮู้ กล่าวว่า “ข้อผิดพลาดของบริษัทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่ใช่ข้อตัดสินว่าเราจะต้องเป็นเด็กเลวเสมอไป”

บาร์ตซ์ กล่าวอีกว่า “เราเคารพสิทธิมนุษยชน เราจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่เราไม่ได้มองว่าการกระทำของรัฐบาลของทุกประเทศเป็นภารกิจของเรา เพราะนั่นไม่ใช่ภารกิจที่เราได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้น

เมื่อปีที่แล้ว ยาฮู้ พร้อมด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี และกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ได้ร่วมกันร่างหลักปฏิบัติเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์และเสรีภาพส่วนบุคคล

ที่ผ่านมา ทางการจีนได้กระทำการปิดเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับรัฐบาล เช่น ความเคลื่อนไหวขององค์กรฝ่าหลุนกง ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต และข้อมูลเกี่ยวกับการปราบประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
และล่าสุด ได้สั่งปิดเสิร์ช เอนจิน ของกูเกิ้ล ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า เป็นแหล่งเผยแพร่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร และเนื้อหาที่ชักนำไปในทางเสื่อมศีลธรรม
ไฟล์ภาพงานเปิดตัววินโดว์ วิสต้าในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนม.ค.2550 ผู้เข้าร่วมกำลังทดลองใช้ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ และเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ไมโครซอฟท์ได้ระบุว่า คำสั่งของทางการจีนที่ให้เครื่องพีซีทุกเครื่องที่วางขายในจีนต้องติดตั้งซอฟท์แวร์เพื่อกรองเว็บไซต์นั้น ทำให้เกิดข้อถกเถียงในประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพส่วนบุคคล และความมั่นคง
ล่าสุด กูเกิ้ลได้ออกแถลงการณ์ว่า “เราเข้าใจว่าในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนไม่สามารถเข้าไปใช้เว็บไซต์ google.com รวมถึงลิงค์ต่างๆ ทั้ง Google Docs และ gmail ได้ ทางเรากำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ และหวังว่าเราจะกู้บริการเหล่านั้นกลับมาได้โดยเร็วที่สุด” อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุข้อสันนิษฐาน ถึงสาเหตุที่ทำให้เว็บไซต์ของกูเกิ้ลใช้การไม่ได้ในครั้งนี้

ทางด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน นายฉิน กัง ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดในประเด็นที่กูเกิ้ลถูกกล่าวหามากนัก โดยบอกเพียงว่า “กูเกิ้ลที่ทำการเผยแพร่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาลามกอนาจารจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายและข้อบัญญัติของจีน”

นายฉินกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กูเกิ้ลรับปากแล้วว่าจะยุติการเผยแพร่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่เหล่านี้ “และเราก็หวังว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด”

ขอข้อมูลซอฟท์แวร์กรองเว็บเพิ่ม
หวั่นข้อครหาหนุนการเซ็นเซอร์

ก่อนที่คำสั่งของทางการจีน ที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี ชุดใหม่ที่นำเข้ามายังจีนทั้งหมด ติดตั้งซอฟท์แวร์กลั่นกรองข้อมูลอินเทอร์เน็ต จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ บรรดาผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ 3 ราย คือ เดลล์ และ ฮิวเล็ต-แพ็คการ์ด จากสหรัฐฯ และ เอเซอร์จากไต้หวัน ก็ได้ทำเรื่องสอบถามผู้ควบคุมกฎหมายของจีนเกี่ยวกับรายละเอียดของคำสั่งนี้

เนื่องจากบรรดาผู้ผลิตเหล่านี้เกรงข้อครหาว่าให้ความร่วมมือกับการกระทำที่เป็นเผด็จการ เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อปี 2549 จนทำให้มีการไต่สวนในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ โดย นายเดวิด โวล์ฟ ที่ปรีกษาด้านเทคโนโลยีในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท และจะทำให้ความน่าเชื่อถือของคอมพิวเตอร์ยี่ห้อนั้นๆ ถูกทำลายไป

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้ลำบากใจก็คือ เครื่องพีซีที่ผลิตในจีนนั้นจะต้องส่งขายไปในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อย่างเช่น เอเซอร์ของไต้หวันถึงแม้ว่าจะผลิตในจีนแต่ก็ส่งขายไปทั่วโลก ขณะที่เดลล์ใช้โรงงานผลิตคอมพิวเตอร์ในจีน ส่งเครื่องขายไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกงด้วย

“เรากำลังทบทวนนโยบายนี้ และได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง” เจสส์ แบล็คเบิร์น โฆษกของบริษัทเดลล์ ระบุ

ขณะที่แถลงการณ์ของฮิวเล็ต-แพ็คการ์ดก็ระบุว่า ทางบริษัทกำลังพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสั่งนี้ เพื่อให้ข้อสงสัยต่างๆ เกิดความชัดเจน

นายดันแคน คลาร์ก ประธานบริษัทวิจัย BDA ในปักกิ่ง เผยว่า หากผู้ผลิตพีซีทำตามคำสั่งของรัฐบาลจีน ปัญหาที่จะตามมาทันทีคือเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของนายโวล์ฟที่กล่าวว่า บรรดาผู้ผลิตพีซีต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน และยังกล่าวอีกว่า คำสั่งนี้อาจทำให้บรรดาผู้ผลิตพีซีต้องยอมขายเครื่องคอมพิวเตอร์เปล่าๆ โดยไม่ลงซอฟท์แวร์ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตระบบปฏิบัติการที่รองรับซอฟท์แวร์กรองเว็บไซต์ตัวนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น