เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล – สหรัฐฯ มอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างสถาบันอเมริกันในไต้หวันแห่งใหม่ ประกาศชัดถึงความผูกพัน ที่มีต่อกัน ก่อนที่ความสัมพันธ์ดีวันดีคืนระหว่างมังกรใหญ่กับมังกรน้อย จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ลดน้อยถอยลง
พิธีมอบที่ดินมีขึ้นเมื่อวันจันทร์ (22 มิถุนายน 2552) โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของไต้หวัน ที่มาร่วมงานได้แก่นาย ซู ฉี่ หัวหน้าสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้วางนโยบายคนสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน
หลังจากสหรัฐฯ หันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลกรุงปักกิ่งเมื่อ 30 ปีก่อน สหรัฐฯ ไม่สามารถมีสถานทูตในไต้หวันได้ ดังนั้น สำนักงานตัวแทนดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนสถานทูตสหรัฐฯ โดยพฤตินัยนั่นเอง
นาย สตีเฟ่น ยัง ผู้อำนวยสถาบันอเมริกันในไต้หวันกล่าวสุนทรพจน์ในพิธี โดยย้ำถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน ซึ่ง “แสดงให้เห็นได้จากการที่เรายึดถือระบอบประชาธิปไตย และระบบตลาดเสรีร่วมกัน”
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน ก็ล้มเลิกนโยบายระแวดระวังจีนของรัฐบาลชุดก่อน แต่หันไปกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองกับพญามังกร หลังจากดินแดนทั้งสองบาดหมางกันมานานถึง 60 ปี
ขณะเดียวกัน ไต้หวันก็เคยเป็นชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ โดยในช่วงทศวรรษ1950 และ1960 สหรัฐฯ มีกองกำลังทหารหลายพันนายประจำการบนเกาะไต้หวัน และปัจจุบัน ยังคงมีภาระผูกพันตามกฎหมาย ที่สหรัฐฯ จะต้องให้ความช่วยเหลือด้านการป้องกันประเทศแก่ไต้หวัน
ทว่า เวลานี้ สหรัฐฯ ก็จำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือจากจีนมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจโลก และภัยคุกคามนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ
แม้วอชิงตันกล่าวว่า เสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันจากการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างมังกรพี่มังกรน้อง ถือเป็นผลดีกับสหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความขัดแย้งในช่องแคบยังคงมีอยู่ เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนว่า การผงาดอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้จะเป็นไปในลักษณะใด
นอกจากแสดงความกระตือรือร้นในการก่อสร้างสถาบันอเมริกันในไต้หวัน มูลค่า 170 ล้านดอลลาร์แล้ว รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ยังต้องเผชิญบททดสอบสำคัญอีกครั้ง นั่นคือการตัดสินใจว่าจะขายอาวุธให้ไต้หวันต่อไปหรือไม่ หลังจากถูกจีนคัดค้านมาตลอด ซึ่งรวมทั้งข้อตกลงขายเครื่องบินขับไล่เอฟ 16 จำนวน 66 ลำ ที่ยังคาราคาซังมาจนถึงขณะนี้