ไชน่า เดลี่ – ในยุคที่การขอบัตรเครดิตเป็นเรื่องง่าย ผู้คนในแดนมังกรจึงนิยมใช้บัตรเครดิตเพื่อตอบสนองทุกความต้องการ ขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้บรรดานักตุ้มตุ๋นใช้เล่ห์เพื่อลวงผู้ถือบัตร เล่ห์ลวงที่ฮิตติดตลาดอยู่ขณะนี้ คือการถอนเงินสดล่วงหน้าจากพ่อค้าที่มีเครื่องบันทึกเงินสด โดยผู้ถอนเงินจะถูกชาร์จ 2 เปอร์เซ็นต์ นักวิเคราะห์ชี้ หากทางการจีนไม่เร่งสกัดกั้นธุรกิจผิดกฎหมายเช่นนี้อาจทำให้ระบบแบงก์ซวนเซได้
การกระทำผิดกฎหมายเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นได้ในร้านค้าใดก็ตามที่มีเครื่องบันทึกเงินสด (point of sales – POS) โดยเจ้าของร้านเหล่านั้นจะอนุญาตให้ผู้ถือบัตรเครดิตถอนเงินสดล่วงหน้าแทนการใช้ซื้อสินค้า
จาง หรัน เจ้าของร้านค้าปลีกสีทาบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาพ่อค้าที่ทำธุรกิจนี้ เล่าว่า ในแต่ละเดือนมีผู้ถือบัตรเครดิตหลายร้อยรายเข้ามาถอนเงินสดล่วงหน้าในร้านของเขา โดยที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และผู้ถือบัตรเหล่านั้นสามารถถอนเงินสดได้เท่าวงเงินที่เหลือในบัตรเครดิต
“ผมจะชาร์จลูกค้าเพิ่ม 2 เปอร์เซ็นต์จากวงเงินที่เขาถอนไป มันเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงต่อเราทั้งสองฝ่าย” จางกล่าวและยังเพิ่มเติมว่า ในแต่ละวันเขามีวงเงินหมุนเวียนให้ผู้ถือบัตรที่ต้องการเงินสดหยิบยืมได้ 2 แสนหยวน
ในแต่ละวัน มีผู้ถือบัตรเครดิตหลายสิบรายเข้ามาถอนเงินสดจากร้านของเขา ด้วยเหตุผลที่ว่า อัตราที่เขาชาร์จถูกกว่าดอกเบี้ยของธนาคาร และลูกค้าสามารถถอนได้เต็มวงเงินที่เหลือในบัตรเครดิต แต่หากถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ผู้ถือบัตรเหล่านั้นจะถอนได้แค่ครึ่งหนึ่งของวงเงินในบัตรเครดิต
ธุรกิจที่กำลังฮิตเช่นนี้ ทำรายได้ให้แก่นายจางถึงเดือนละอย่างน้อย 1 แสนหยวน และเขายังนำใบบันทึกจากเครื่องบันทึกเงินสด หรือสลิป ไปเบิกเงินจากธนาคารได้อีกโดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงใดๆ
การหลอกลวงเช่นนี้ อาศัยช่องว่างทางกฎหมายเกี่ยวกับบัตรเครดิต หากเราลองพิมพ์คำว่า “บริการถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตในปักกิ่ง” ลงไปในเว็บไซต์ Baidu.com เราจะพบผลการค้นหาจำนวนมากถึง 474,000 เว็บไซต์ ที่โฆษณาบริการดังกล่าว และการต้มตุ๋นเช่นนี้ก็เกี่ยวพันกับอาชญากรรมต่างๆ ในจีนด้วย
โดยนายจางกล่าวว่า ธุรกิจนี้ถือเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ตราบเท่าที่ผู้ถือบัตรเครดิตสามารถจ่ายเงินคืนธนาคารเต็มจำนวน และในเวลาที่กำหนดไว้
แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะผู้ถือบัตรเครดิตไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร จนทำให้เกิดอัตราเสี่ยงต่อธนาคารที่อาจทำให้กิจการเกิดอาการซวนเซได้
“ผู้ถือบัตรเครดิตที่มักจะไปถอนเงินสดจากร้านค้า โดยส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ไม่มีเครดิตเหมือนผู้ถือบัตรเครดิตทั่วๆ ไป” นั่นคือความเห็น นายจ้าว ซีจวิน ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง และยังว่า ยอดหนี้เสียจากธุรกิจที่ผิดกฎหมายชนิดนี้ ถือเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่อระบบธนาคารในจีน
ขณะที่ฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารเพื่อการก่อสร้างของจีน (China Construction Bank – CCB) เห็นว่าความเสี่ยงของบัตรเครดิตที่ขยายตัวนี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนและการหมุนเวียนของเงินสด
“การถอนเงินสดอย่างผิดกฎหมายเช่นนี้ ทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตไม่ถูกตรวจสอบจากธนาคาร แถมยังได้กู้เงินโดยไม่ต้องวางหลักทรัพยค้ำประกัน ขณะเดียวกัน ธนาคารก็ติดตามไม่ได้ว่าลูกหนี้เอาเงินที่กู้นั้นไปใช้อะไร” CCB กล่าวกับ China Business Weekly ในการสัมภาษณ์ทางอีเมล์
ความจริงแล้ว ฝ่ายเฝ้าระวังทางธนาคารก็เคยออกคำเตือนถึงธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ถึงความเสี่ยงทางด้านบัตรเครดิตที่เกี่ยวพันกับอาชญากรรม และเมื่อปีที่แล้วก็ได้ออกกฎใหม่ๆ ขึ้นมาใช้จัดการกับอาชญากรรมเหล่านี้
นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งชาติจีน คณะกรรมธิการฝ่ายกฎหมายธนาคาร กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ และฝ่ายบริหารด้านอุตสาหกรรมและการค้าแห่งรัฐ ก็ร่วมกันออกคำแนะนำแก่ธนาคารพาณิชย์ในจีน ให้ทำการตรวจสอบลักษณะของเครื่องบันทึกเงินสด และผู้ขอใช้บัตรของธนาคาร รวมถึงบันทึกการใช้บัตรเครดิต และตรวจสอบการโอนเงินทางธุรกิจด้านบัตรเครดิต
นอกจากนี้ ในคำแนะนำดังกล่าว ยังแนะให้มีการตรวจสอบการโฆษณาเกี่ยวกับบัตรเครดิตอย่างระมัดระวังก่อนให้ออกเผยแพร่ และควรห้ามการออกโปรโมชั่นสำหรับการถอนเงินสดล่วงหน้าด้วย
ความเสี่ยงดังกล่าวนี้ เกิดจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต เพราะชาวจีนเริ่มตระหนักถึงผลดีของการจ่ายเงินผ่านบัตรจึงหันมาใช้บัตรเครดิตกันมาก โดยนายสี่ว์ ลั่วเต๋อ ประธานองค์กร China Unionpay ซึ่งเป็นองค์กรบัตรเครดิตเพียงแห่งเดียวของจีน กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ธนาคารต่างๆของจีนขยายการออกบัตรพลาสติกไปถึง 1,800 ล้านใบ รวมกับบัตรเครดิตที่ออกไปก่อนหน้านี้ 150 ล้านใบ ขณะที่ในปี 2546 มีการออกบัตรเครดิตเพียง 3 ล้านใบเท่านั้น
ธนาคารการค้าของจีน (Chinese Merchants Bank) ซี่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ธนาคารที่ยอมให้รายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจบัตรเครดิต ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วธนาคารมีรายได้ที่เกิดจากดอกเบี้ยถึง 1,850 ล้านหยวน และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 2,280 ล้านหยวน
ตลาดบัตรเครดิตในจีนเริ่มบูมเมื่อปี 2543 เมื่อธนาคารต่างๆ แข่งกันแย่งลูกค้าบัตรเครดิต โดยปรับลดคุณสมบัติผู้ขอมีบัตรและไม่มีการตรวจสอบบันทึกการใช้บัตรเครดิต จนเป็นช่องทางให้บรรดานักต้มตุ๋นล่อลวงผู้ถือบัตร เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จีนจะคิดดอกเบี้ยเงินสดล่วงหน้าในอัตราปีละ 18.25 เปอร์เซ็นต์
ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่มีข้อมูล ว่ามีหนี้เสียที่เกิดจากการถอนเงินสดล่วงหน้าจากเครื่อง POS เท่าใด แต่นายเกา เทียนหย่ง หัวหน้าฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรมธนาคารของจีน ก็ได้เตือนว่ารัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสนใจกับธุรกิจผิดกฎหมายนี้ และควรแนะนำให้ธนาคารต่าง ๆเข้มงวดกับการออกบัตรเครดิต
ขณะเดียวกัน ทางธนาคารก็ต้องรอบคอบในการจัดสรรเครื่อง POS เพราะ “แม้แต่บริษัทปลอมที่ไม่มีการทำธุรกิจจริงๆ ก็มีเครื่อง POS ได้ และจริงๆแล้วมันเป็นเพียงธุรกิจที่ช่วยให้ผู้ถือบัตรเครดิตกู้เงินผ่านเครื่อง POS เท่านั้น” นายเการะบุ