เอเอฟพี – ผลวิจัยล่าสุดพบ ผู้คนแดนมังกรเจ็บป่วยทางจิตมากกว่า ที่เคยสงสัยกันก่อนหน้า และโรคทางจิตในเมืองจีนถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบำบัดรักษา
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน เดอะ แลนซิต (The Lancet) วารสารการแพทย์ของอังกฤษเมื่อวันศุกร์ (12 มิ.ย.) เป็นการสำรวจอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่งานวิจัยประเภทเดียวกันเคยทำมาในจีน
ผลวิจัยได้ประเมินว่า ผู้ใหญ่จำนวน 173 ล้านคนในจีนมีความผิดปกติทางจิตบางอย่าง และ 158 ล้านคน หรือร้อยละ 91 ในจำนวนนี้ ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากผู้มีวิชาชีพด้านการรักษาเลย
นอกจากนั้น ยังพบว่า ผู้ใหญ่ร้อยละ 17.5 เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิต 1 โรค หรือมากกว่านั้น มาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนในช่วงที่มีการสำรวจ
ปัญหาด้านอารมณ์ และความวิตกกังวลพบทั่วไปในหมู่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายมีความเป็นไปได้มากกว่าถึง 48 เท่า ที่จะเป็นโรคจิต อันเนื่องมาจากการดื่มสุรา
นอกจากนั้น ผู้อาศัยในแถบชนบทยังน่าจะเป็นโรคซึมเศร้า และโรคจากการดื่มสุราได้มากกว่าผู้อาศัยในเมือง ทั้งนี้ ร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด 1,300 ล้านคนของจีนอาศัยในชนบท
1 ใน 4 ของผู้ถูกสำรวจระบุว่า โรคที่เจ็บป่วยอยู่ทำให้พวกตนกลายเป็นคนไร้ความสามารถ “พอสมควร” หรือ “อย่างรุนแรง” ทว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของผู้ถูกสำรวจทั้งหมด ไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
ทั้งนี้ ความโดดเด่นของปัญหาโรคจิตในงานวิจัย ที่ทำก่อนหน้าหลายชิ้น พบว่ามีน้อยกว่า 2-15 เท่าของผลวิจัยชิ้นนี้
ผลวิจัยยังระบุว่า ในหลายประเทศ ที่มีรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งรวมจีนด้วยนั้น สภาพทางจิตประสาทเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ชายและหญิงล้มป่วย แซงหน้าการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ หรือโรคหัวใจและระบบการหมุนเวียนของโลหิต
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จีนกลับมีแหล่งบุคลากรเครื่องไม้เครื่องมือในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคจิตน้อยกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากมีการประเมินจำนวนผู้ป่วยต่ำอย่างมาก
งานวิจัยชิ้นนี้มีไมเคิล ฟิลลิปส์ แห่งโรงพยาบาลปักกิ่ง ฮุ่ย หลง กวน เป็นหัวหน้าคณะวิจัย โดยมีการดัดแปลงแบบสอบถามจากแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไป และสุ่มตัวอย่างสอบถามประชาชนกว่า 63,000 รายในมณฑล 4 แห่ง
มณฑลชิงไห่ และกานซู่ ในภาคตะวันตกอยู่ในกลุ่มภูมิภาคที่ยากจน ขณะที่ซานตง และเจ้อเจียง ซึ่งอยู่ชายฝั่งทะเลมีสภาพเป็นเมือง และฐานะร่ำรวยกว่า
ในจำนวนผู้ถูกสำรวจเหล่านั้น มี 6,577 ราย ยังถูกสัมภาษณ์จากจิตแพทย์อีกด้วย โดยการวิจัยมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดระหว่างปี 2544-2548
คณะผู้วิจัยกล่าวสรุปในตอนท้าย เรียกร้องให้จีนจัดหาแหล่งทรัพยากรและบุคลากรด้านการแพทย์, สาธารณสุข และสังคมครั้งใหญ่ เพื่อรองรับปัญหา ที่ใหญ่เอาการ ซึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า จีนเป็นชาติเดียวในโลก ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในโลก โดยผู้หญิงฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย