xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซเร่งจีนออกโรงแก้ปัญหาโลกร้อน ต้นตอปัญหาความยากจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หญิงสาวกำลังล้างผักอยู่ในแอ่งน้ำที่แห้งเหือด ในชานเมืองอิงถัน มณฑลเจียงซีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเมื่อช่วงต้นปีพื้นที่ทางตอนกลางและตอนเหนือของประเทศต่างเผชิญกับภัยแล้งอย่างรุนแรง
ไชน่า เดลี่ – กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญเตือนจีน เร่งผลักดันสนธิสัญญาแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความยากจนบนแดนมังกร

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “ กรีนพีซ ไชน่า” และ “อ็อกซ์แฟม ฮ่องกง” ออกรายงานล่าสุด มีชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความยากจน : กรณีศึกษาของจีน” (Climate Change and Poverty : a Case Study of China) ซึ่งจัดทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรของจีน (CAAS) และเจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นในมณฑลเสฉวน, กว่างตง และกานซู่

รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศปรากฏเป็นสาเหตุใหญ่ของความยากจนในจีน ขณะที่ร้อยละ 95 ของคนยากจนแดนมังกร อาศัยอยู่ในบริเวณ ซึ่งมีความเปราะบางทางระบบนิเวศ และเป็นพวกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาวะโลกร้อน

นอกจากนั้น แผนที่ของจีน ซึ่งแสดงเขตพื้นที่ยากจนยังทับซ้อนกับแผนที่แสดงเขตพื้นที่เปราะบางทางระบบนิเวศอีกด้วย
หญิงชาวจีนกำลังตระเวนหาของที่ยังพอใช้ประโยชน์ได้หลังเกิดอุทกภัยในมณฑลเสฉวน
รายงานหยิบยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเขตหม่าเปียน มณฑลเสฉวน ซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจจากฝนตกกระหน่ำ และภัยพิบัติ ที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำท่วม เกิดเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปี 2544-2551 ความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงต่อปีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 23,800 ล้านหยวน เทียบกับ 9,700 ล้านหยวนในช่วงก่อนหน้านั้น

จากกรณีศึกษาในมณฑลกว่างตง, เสฉวน และกานซู่ แสดงว่า ภาวะโลกร้อนคือสาเหตุอย่างแท้จริง ที่ทำให้เกิดน้ำท่วม, พายุหิมะ และโคลนถล่ม ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวด้านระบบนิเวศ และเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาล

ผู้เชี่ยวชาญของ CAAS ชี้ว่า โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนในปัจจุบันของจีนมุ่งการเพิ่มรายได้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินสามารถช่วยได้เฉพาะประชาชน ที่อาศัยในเขตพื้นที่ ซึ่งมีระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยเท่านั้น ขณะที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติมักผลักไสให้ประชาชนในพื้นที่อ่อนไหว กลับสู่ความยากจนตามเดิม

ขณะที่สมาชิกกลุ่มกรีนพีซ ไชน่า กล่าวว่า ความพยายามในการแก้ไขปัญหาความยากจนในจีนในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา อาจถูกทำลายอย่างหนัก หากรัฐบาลจีนไม่เป็นฝ่ายเริ่มลงมือ ผลักดันให้เกิดสนธิสัญญากอบกู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอย่างจริงจังในการประชุมแก้ปัญหาโลกร้อนของสหประชาชาติ ที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมนี้

ขณะที่ชาติพัฒนาต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างมากต่อภาวะโลกร้อน โดยควรให้เงินช่วยเหลืออย่างน้อยปีละ 50,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยชาติกำลังพัฒนา ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น