xs
xsm
sm
md
lg

ผวจ.อุดรฯ-อบต.ใบ้กินไม่กล้าแจงหลังผลาญงบบินดูงานเหมืองโปแตซที่เยอรมนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีประมาณ 40  คน  ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาม่วง  และตำบลห้วยสามพาด  ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เพื่อเรียกร้องให้ชี้แจงการไปดูงาน การทำเหมืองแร่โปแตชที่ประเทศเยอรมัน
อุดรธานี - กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจี้ อบต.แจงข้อมูลหลังบินไปดูงานทำเหมืองแร่โปแตซที่เยอรมนีร่วม 38 ชีวิต แต่ใบ้กินอธิบายชี้แจงอะไรไม่ได้ อ้างแต่ไปตามคำสั่งผู้ใหญ่ แม้แต่ผู้ว่าฯ ก็ไม่มีปัญญาอธิบายข้อข้องใจชาวบ้าน นักวิชาการเอ็นจีโอ จวกผลาญงบแผ่นดินจากภาษีประชาชน

รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (17 มิ.ย.) ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีประมาณ 40 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เพื่อเรียกร้องให้ชี้แจงการไปดูงาน การทำเหมืองแร่โปแตชที่ประเทศเยอรมนี

พร้อมทั้งแนบประเด็นคำถามจากชาวบ้าน นักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน เรื่องความรู้ที่ได้จากการไปดูงานดังกล่าว ให้นายก อบต.ทั้งสองตอบข้อข้องใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และคณะ ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดอุดรธานี จำนวน 38 คน ไปดูงานการทำเหมืองแร่โปแตชที่ประเทศเยอรมนีมาเมือเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและก่อนหน้านี้วันที่ 10 มิ.ย.กลุ่มอนุรักษ์ฯได้ยื่นหนังสือเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจาก นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ขอให้เปิดเผยรายชื่อคณะผู้ดูงาน และนำเสนอผลการดูงาน แต่ยังไม่มีการชี้แจง จึงได้มายื่นคำถามต่อนายก อบต.ทั้ง 2 ตำบล ในฐานะตัวแทนของท้องถิ่น ที่ได้ร่วมไปในคณะดูงานครั้งนั้นด้วย

หลังจากนั้นตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ และชุดคำถาม ณ ที่ทำการอบต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธาณีแต่ไม่พบนายก อบต. มีเพียง ร.ต.สมชัย จันทร์ศรี ปลัด อบต.ออกมารับหนังสือแทน และกล่าวตอบเพียงสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงและท่าทีอึดอัดว่า

“ผมได้ไปศึกษาดูงานการทำเหมืองที่ประเทศเยอรมนีมาจริง กับคณะของผู้ว่าฯ แต่ที่ไปนั้นมันมีคำสั่งมาจากข้างบน ถ้าจะให้ตอบว่าทำเหมืองมีผลกระทบ ข้อดีข้อเสียอย่างไร ผมไม่สามารถพูดได้ เพราะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ซึ่งหากว่าผู้ใหญ่สั่งมาอย่างไรผมต้องปฏิบัติตาม ฉะนั้นต้องให้ผู้ใหญ่เป็นผู้มาอธิบายเอง”

หลังจากนั้นเวลา 13.00 น.ของวันเดียวกัน กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เดินทางต่อไปยัง ที่ทำการ อบต.ห้วยสามพาด โดยได้พบและยื่นหนังสือกับ นายประจักษ์ อุดชาชน นายก อบต.ห้วยสามพาด ที่ออกมาให้การต้อนรับและรับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมชี้แจงว่าได้ไปดูงานมาจริงและโดยไปดูมา 2 เหมืองแต่จำชื่อไม่ได้ มีทั้งเหมืองที่ดำเนินการอยู่ และเหมืองที่ถูกปิดไปแล้ว แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้เพราะไปดูแค่ผิวเผิน และไม่ได้เข้าไปดูในเขตเหมืองหรือโรงงานผลิตแร่แต่อย่างใด

“ผมไปดูเหมืองมาจริงๆ โดยใช้งบประมาณของราชการ แต่ถ้าจะให้พูดถึงว่าการทำเหมืองนั้นมันดีหรือไม่ดี ผมตอบไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้ไปเห็นในส่วนที่มันเกิดผลกระทบ และเขาก็นำเสนอแต่ด้านดี ด้านที่ไม่ดีเขาก็ไม่พาไปดู และคำถามทั้งหมดที่พี่น้องนำมา ผมจะตอบเป็นลายลักษณ์อักษร และยืนยันว่าในเรื่องการทำเหมืองในพื้นที่บ้านเรานั้นผมก็เป็นคนหนึ่งที่รักหวงแหนแผนดินบ้านเรา แต่ในตำแหน่งหน้าที่แล้วผมก็จะขอวางตัวเป็นกลาง” นายประจักษ์กล่าว

ด้าน นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า เป็นที่น่าแปลกใจที่ข้าราชการที่ไปดูเหมืองแร่โปแตสที่เยอรมันมาตั้งแต่นายอำนาจ ผการัตน์ ผวจ.อุดรฯ ก็ตอบไม่ได้ว่าไปดูที่ไหน เอาเงินจากไหนไป หมดไปเท่าไหร่ หรือมีรายชื่อใครไปบ้าง ก็ไม่ตอบยิ่งทำให้เกิดความสงสัยว่า การไปดูงานในครั้งนี้ที่ใช้งบมหาศาลเอาเงินราชการส่วนไหน ทำไมต้องไปเยอรมัน แล้วไปดูที่ไหนบ้าง มีใครไปบ้าง ไปเห็นมาแล้ว มีความเข้าใจต่อการทำเหมืองมากน้อยเพียงไร ก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีใครกล้าตอบ

“พวกเราได้รับคำตอบแต่ว่าการไปดูงานเหมืองแร่ครั้งนี้ทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ เอางบประมาณแผ่นดินจากภาษีของประชาชนไปล้างผลาญ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ไอ้โม่งที่สั่งคงมีอำนาจสูงมาก สามารถเซ็นอนุมัติงบราชการไปดูเหมือง และเลือกดูแต่ด้านดีๆ เท่านั้น” นางมณีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น