xs
xsm
sm
md
lg

ปันเหมินน่งฝู่ : ใช้ขวานต่อหน้าช่างปัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่มา 997788.com
班(bān) อ่านว่า ปัน หมายถึง หลู่ ปัน ช่างไม้ผู้มีฝีมือในสมัยโบราณ
门(mén) อ่านว่า เหมิน แปลว่า ประตู
弄(nòng) อ่านว่า น่ง แปลว่า ทำ
斧(fǔ) อ่านว่า ฝู่ แปลว่า ขวาน หรือการตัด ทอน


“หลู่ปัน” มีนามเดิมว่า “กงซูปัน” เป็นชาวก๊กหลู่ สมัยสงครามระหว่างรัฐ (จั้นกั๋ว) ซึ่งมีฝีมือในงานก่อสร้างที่ใช้ฝีมือประณีตอย่างยิ่ง จนผู้คนยกย่องให้เป็นเทพอารักษ์ประจำอาชีพช่างไม้ ช่างปูน งานก่อสร้างรวมทั้งงานวิศวกรรม สถาปัตยกรรม

หลู่ปันเติบโตขึ้นมาในครอบครัวช่างไม้ ทั้งยังได้ศึกษาวิชาช่างกับอาจารย์ที่มีฝีมือ ด้วยพรสวรรค์และความพากเพียร เขาได้สั่งสมประสบการณ์งานช่างจนชำนาญ ฝีมือเป็นหนึ่งในแผ่นดิน ในสมัย 450 ปีก่อนคริสตกาล หลู่ปันเคยเดินทางออกจากก๊กหลู่ เพื่อไปรับจ้างก๊กฉู่ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร เช่นบันไดปีนค่าย เพื่อเตรียมทำสงครามกับก๊กข้างเคียง แต่ถูกปรัชญาเมธี “ม่อจื่อ” คัดค้านเอาไว้ โดยชี้แนะหลู่ปันว่า ในเมื่อเขามีฝีมือทางการช่างโดดเด่นไม่เป็นรองใคร ก็ควรที่จะใช้ฝีมือนี้สร้างเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง แทนที่จะสร้างเครื่องมือในการทำลายล้างทางสงคราม ดังนั้นหลู่ปันจึงล้มเลิกและหันไปประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือในชีวิตประจำวันแทน เช่นเครื่องมือด้านช่างไม้ ด้านการเกษตร

เล่ากันว่า ตลอดช่วงชีวิตของหลู่ปัน เขาได้ประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังหลายชนิด เช่น กบไสไม้, แม่กุญแจที่ต้องใช้ลูกกุญแจเฉพาะไข, เครื่องจักรกลบางประเภท, เลื่อย เป็นต้น

ในส่วนของเลื่อย มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งเจ้าครองก๊กหลู่ประสงค์ให้หลู่ปันก่อสร้างพระราชวังแห่งใหม่โดยให้เวลาสร้าง 3 ปี ทว่าไม้ที่ต้องนำมาสร้างนั้นอยู่บนเขาที่ห่างไกล ระยะเวลา 3 ปี เพียงกระบวนการตัดไม้ เตรียมไม้เพื่อก่อสร้างอย่างเดียวก็ไม่พอแล้ว หลู่ปันจึงวิตกกังวลยิ่งนัก แต่ขณะที่เดินทางไปบนเขาเพื่อตัดไม้นั้น เขาบังเอิญโดนใบหญ้าบางๆ ที่มีลักษณะเป็นฟันซี่เล็กๆ บาดมือ จึงจุดความคิดให้เขาประดิษฐ์เลื่อยขึ้นมาเพื่อตัดเตรียมไม้ ซึ่งสามารถประหยัดทั้งเวลาและกำลังคนได้มากโข การสร้างวังจึงประสบผลสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ต่อมา สำนวน “ปันเหมินน่งฝู่” เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง โดยนักวรรณคดี “หลิ่วจงหยวน" ได้ประพันธ์ไว้ในตอนหนึ่งซึ่งแปลใจความได้ว่า “หากใครแสดงทักษะใช้ขวานต่อหน้าหลู่ปัน คนผู้นั้นก็ช่างไร้ยางอายเต็มที” ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสำนวนเพื่อแสดงความถ่อมตัว ว่าความสามารถของตนเองในด้านใดด้านหนึ่งไม่อาจเทียบเท่ากับผู้ที่มีอาชีพด้านนั้นโดยตรง หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในทักษะนั้นอย่างลึกซึ้ง
 
สำนวนนี้ใช้ในตำแหน่งภาคแสดง(谓语) ส่วนขยายนาม(定语) ส่วนขยายคำกริยา(状语) หรือ ส่วนกรรม(宾语)
 
ตัวอย่างประโยค
 
他在历史学家面前吹嘘自己的历史水平,简直就是 ~
อยู่ต่อหน้านักประวัติศาสตร์ แต่เขากลับคุยฟุ้งเรื่องความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของตนเอง ช่างเป็นการ ~ ชัดๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น