มันน่าเจ็บใจไหมเล่า? ในเมื่อเกือบทั้งชีวิตเคยได้เลี้ยงฝูงแกะกลางท้องทุ่งกว้างอย่างเสรี เยี่ยงวิถีชีวิตชนเผ่าเร่ร่อนของบรรพชน ที่สืบทอดมาหลายศตวรรษ
แล้วจู่ ๆ วันหนึ่ง กลับถูกผู้มีอำนาจบีบบังคับให้ต้องมาอยู่อุดอู้ในพื้นที่อันจำกัด
“ ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีเหลือเกิน ชีวิตมันดีครับ” บายาร์ (Bayar) ชาวมองโกล ซึ่งมีชื่อเดียวเหมือนกับชาวมองโกลส่วนใหญ่ ย้อนรำลึกถึงวันเวลาส่วนใหญ่ในช่วงชีวิต 48 ปีของเขา ที่หมดไปกับการเลี้ยงแกะแบบเร่รอน
เมื่อ 3 ปีก่อน บายาร์ต้องระเห็จมาอยู่ในบ้านก่อด้วยอิฐหลังเล็กบนพื้นที่ราบโล่ง ลมพัดจัด ในเขตมองโกเลียตอนใน อันเป็นผลมาจากกฎระเบียบในการจำกัดการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าของรัฐบาลจีน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน
ชาวมองโกลพากันบอกว่า เป็นการทำลายวัฒนธรรมมองโกลครั้งล่าสุด
แต่รัฐบาลจีนอ้างว่า เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน ไม่ให้ถูกทำลายจนกลายเป็นทะเลทรายแห้งผากจากการทำฟาร์มและการเลี้ยงฝูงสัตว์ในทุ่งหญ้า ที่มากเกินไป
นานนับหลายร้อยปีมาแล้ว ที่วิถีชีวิตของชาวมองโกลผูกพันกับการ เลี้ยงฝูงวัว แกะ และม้า ตลอดจนการล่าสัตว์กลางทุ่งหญ้าโล่ง พวกเขาอาศัยอยู่ในกระโจมทรงกลม สีขาว ที่เรียกกันว่า เยิร์ต (Yurt) ชีวิตทรหดบึกบันอย่างชนเผ่าเร่รอน จนก่อเกิดตำนานของยอดนักรบเจงกิสข่านผู้พิชิต
สำหรับบายาร์ วันคืนเหล่านั้น มันจบสิ้นไปแล้ว !
อาชีพในปัจจุบันของเขาก็คือให้เช่ากระโจมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มาพักผ่อนในวันหยุด และนึกสนุกอยากทำตัวเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ได้อาศัยใน“กระโจมกำมะลอ” สักคืนหนึ่ง
เขาถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจับตามองอย่างระแวดระวัง พวกเจ้าหน้าที่เดินตามนักข่าวเอเอฟพี ไปที่บ้านของบายาร์ด้วย
ด้านหนุ่มเลี้ยงแกะ วัย 28 ปี นามว่า บาตาร์ (Batar) จากเมืองเออร์โดส (Erdos) ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ระบายความคับแค้นใจว่า
“ พวกเราเป็นชนเผ่าเร่ร่อน แต่มันดับสิ้นไปแล้ว เพราะนโยบายนั่น นี่คือปัญหาท้าทาย ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์สำหรับชาวมองโกล”
ภายใต้กฎระเบียบดังกล่าว หนุ่มบายาร์ก็เลยจำเป็นต้องต้อนสัตว์เลี้ยงมาไว้ในคอกเป็นปีละ 3 เดือน มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน กระทั่งเขาหมดปัญญาซื้ออาหารมาเลี้ยงแกะ 300 ตัวในคอกได้
บายาร์จึงต้องตัดใจขายพวกมันไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งมีแต่ขาดทุน เพราะราคาเนื้อแกะตก
เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีว่า รัฐบาลให้เงินชดเชยไม่เพียงพอ หรือไม่ให้เลย
นอกจากนั้น ยังมีข้อครหาว่า เขตพื้นที่ “ซึ่งได้รับการคุ้มครอง” เหล่านั้น กลับถูกพวกบริษัททำเหมืองแร่ และบริษัทด้านพลังงานของจีนเข้ามาครอบครองเสียฉิบ
“ พื้นที่ว่างสำหรับอยู่อาศัยของเราหดหายไปทุกที” บาตาร์ตัดพ้อ
จากข้อมูลกระทรวงป่าไม้ของจีนระบุว่า พื้นที่ทะเลทราย ที่ขยายกว้างขึ้นเป็นภัยคุกคามต่อประชากรจำนวนถึง 400 ล้านคน และเมื่อเร็วๆ นี้ พื้นที่ทะเลทรายขยายตัวมากขึ้นถึงปีละเกือบ 3,500 ตารางกิโลเมตร จนปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของประเทศ
ในขณะที่กำลังมีเสียงกล่าวหาระงมว่า จีนปราบปรามกดขี่วัฒนธรรมของชนทิเบต และมุสลิมในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ชาวมองโกลก็บอกเช่นกันว่า วิถีชีวิตของพวกตนกำลังถูกกลืน โดยวัฒนธรรม และนโยบาย ที่ตายด้านไร้ความรู้สึกของจีน นอกจากนั้น ยังถูกผลกระทบจากภาวะโลกร้อนกลืนกินอีกด้วย
ครั้งหนึ่ง ดินแดนมองโกเลียตอนในเคยเป็นส่วนหนึ่งของมหาจักรวรรดิมองโกล แต่ถูกตัดเฉือน โดยฮ่องเต้ราชวงศ์จีนในสมัยต่อมา
ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปีพ.ศ. 2509-2519 รัฐบาลจีนปราบปรามชาวมองโกลอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต กล่าวหาว่า คบคิดวางแผนผนวกเขตมองโกเลียตอนในเข้ากับสาธารณรัฐมองโกล ซึ่งขณะนั้น พึ่งใบบุญสหภาพโซเวียต ที่จีนชิงชัง
ชาวมองโกลถูกสังหาร ร่วงเป็นใบไม้หลายหมื่นคน หรืออาจมากกว่านั้น
ขณะที่ชาวฮั่น ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจีน ไหลบ่าเข้ามาอาคัยในเมืองใหญ่น้อยของชาวมองโกลเต็มไปหมด จนทุกวันนี้ แทบไม่เหลือร่องรอยวัฒนธรรมของชาวมองโกล
แม้กระทั่งชื่อของเจงกิสข่าน จอมคนเมื่อครั้งโบราณกาลก็ยังเป็นชื่อต้องห้าม แม้จะไม่มีการประกาศห้ามอย่างเป็นทางการก็ตาม บาตาร์และชาวมองโกลคนอื่นว่าอย่างนั้น
ทุกวันนี้ คนมองโกลรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมากไม่มีความสนใจในวัฒนธรรมชนเผ่าของตนอีกต่อไป แต่ทำตัวให้ผสมกลมกลืนไปกับสังคมของคนฮั่น เพื่อให้มีชีวิตรอดนักเขียน ผู้มีนามว่า หลี่ว์
เจียหมินระบุ
“ ในความเป็นจริง วัฒนธรรมนี้กำลังสูญหายไปแล้ว” หลี่ว์กล่าว
หลี่ว์เป็นชาวฮั่น อาศัยอยู่กับพวกคนเลี้ยงสัตว์มองโกลระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งเหมา เจ๋อตง เรียกร้องให้ชาวจีนหลายล้านคนอพยพไปอยู่ในถิ่นชนบท เพื่อ “เรียนรู้”จากชาวนา
หนังสือเรื่อง “วูล์ฟ โทเทิม” (Wolf Totem) หรือ “รูปบูชาหมาป่า” ของหลี่ว์ ซึ่งใช้นามแฝง เป็นหนังสือที่ผู้อ่านชื่นชอบ เนื้อเรื่องเล่าถึงการทำลายวิถีชีวิตของชาวมองโกล ซึ่งหลี่ว์กล่าวว่า “ เก่าแก่และทรงคุณค่า” ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม
หลี่ว์ระบุว่า การทำลายยังคงดำเนินต่อไปในทุกวันนี้
“ รัฐบาลเป็นคนจีน พวกเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมของชาวมองโกล ฉะนั้น จะสามารถปกป้องวัฒนธรรมนี้ได้อย่างไร?” หลี่ว์ตั้งคำถามให้ชวนคิด
เก็บความจาก China’s Mongols see bleak future for their culture ของสำนักข่าวเอเอฟพี