เอเจนซี – ขณะที่อาณาจักรรถยนต์ที่เหล่ายักษ์ใหญ่บริษัทรถยนต์อเมริกันสยายปีกไปทั่วโลก กำลังแตกเป็นเสี่ยง จีเอ็มร่อแร่เข้าขั้นตรีทูตอาจขอความคุ้มครองจากการล้มละลาย อีกฟากหนึ่งของฝั่งแปซิฟิกจีนก็กำลังผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจด้านยนตรกรรมโดยขณะนี้ยอดขายรถยนต์จีนล้ำหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว และมีกระแสคาดการณ์อีกว่าจีนจะแซงหน้าญี่ปุ่นผงาดขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของโลกในปีนี้
ขณะนี้วงการรถยนต์ลือกันให้แซ่ดว่าภาครถยนต์จีนอาจเก็บชิ้นส่วนอาณาจักรรถยนต์ดีทรอยต์ของอเมริกัน โดยการซื้อบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของโลก ด้านจีนก็พยายามลดกระแสเก็งการณ์ โดยผู้คุมกฎฯเบรกบริษัทจีนเข้าซื้อกิจการรถยนต์วอลโว่ของฟอร์ด มอเตอร์ และซาบบ์ของเจเนอรัล มอเตอร์ หรือจีเอ็ม อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ต่างเห็นพ้องกันว่าผู้ผลิตรถยนต์จากจีนสนใจตลาดในสหรัฐฯ ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในดีทรอยต์ก็สนใจพวกเขาด้วยเช่นกัน
เคลลี่ ซิมส์ กาเลเกอร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับผู้ผลิตรถยนต์ในจีน ให้ความเห็นว่า การที่ผู้ผลิตจีนเข้าซื้อกิจการรถยนต์ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ อย่างเช่น ฮัมเมอร์ (Hummer) และแซทเทิร์น (Saturn) ทำให้ผู้ผลิตจีนเหล่านี้ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะช่วยให้แซงหน้าคู่แข่งรายอื่นๆ
“เทคโนโลยีถือเป็นจุดอ่อนที่สุดสำหรับผู้ผลิตรถยนต์จีน พวกเขามีธุรกิจระดับโลก มีความสามารถด้านการผลิต การได้รับเทคโนโลยีและโนว์-ฮาว จะทำให้การออกแบบยานยนต์ที่ผลิตในจีนสามารถแข่งขันได้”
นอกจากนี้ จีนยังมีชื่อเสียหายในด้านลอกเลียนแบบโดยเฉพาะแบบโลโกที่มักออกแบบให้คล้ายคลึงกับโลโกรถยี่ห้อรถยนต์ที่เป็นที่นิยมของตลาดโลก ดังนั้น การเข้าซื้อกรรมสิทธิ์หุ้นของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่รถยนต์โลก จึงช่วยสร้างอิทธิพลแก่ผู้ลิตรถยนต์จีนที่แทบไม่เป็นที่รู้จักเลยในต่างประเทศ “ข้อตกลงดังกล่าว ไม่ผิดอะไรกับการซื้อ “ความชอบด้วยกฎหมาย” ที่มีพร้อมให้ซื้อได้ทุกเมื่อ” Aaron Bragman นักวิเคราะห์ด้านรถยนต์ประจำ IHS Global Insight กล่าว
ท่ามกลางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนตร์โลก ซึ่งเห็นได้จากบริษัทเฟียตจากอิตาลีกำลังจะเข้าไปควบคุมกิจการของไครส์เลอร์ และบริษัททาทา มอเตอร์ของอินเดีย กำลังจะเป็นเจ้าของกิจการจากัวร์และแลนด์ โรเวอร์ ภาคธุรกิจยานยนต์ของจีนก็ผงาดขึ้นมาเป็นภัยคุกคามแก่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน
โดยจะเห็นได้จากเมื่อต้นปีนี้ จี๋ลี่บริษัทรถยนต์เอกชนรายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ซื้อกิจการโรงงานผลิตกระปุกใส่เกียร์เครื่องยนต์ของออสเตรเลีย ขณะที่บริษัทเหวยไฉ พาวเวอร์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซลชั้นนำของจีน ก็ได้เข้าครองกิจการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลในฝรั่งเศส ส่วน BYD บริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งได้ส่งรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าออกสู่ตลาด ก่อนที่จีเอ็มจะส่งเชฟโรเล็ต โวลต์ ออกมา
นอกจากนี้ ในการจัดงานประจำปีของดีทรอยต์ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่เรียกว่า ดีทรอยต์ ออโต้ โชว์ ปรากฎว่าบรรยากาศในงานเป็นไปอย่างเงียบเหงา ซึ่งต่างจากงานเซี่ยงไฮ้ ออโต้ โชว์ ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีผู้เข้าร่วมงานคึกคักมาก
บริษัทนิสสันที่ไม่เข้าร่วมงานที่ดีทรอยต์ กลับมาปรากฏตัวที่งานเซี่ยงไฮ้ ออโต้ โชว์ ขณะที่บรรดายักษ์ใหญ่ในวงการยานยนต์ทั้ง เมอซิเดซ-เบนซ์ BMW และปอร์เช่ ต่างก็มาเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่กันในงานนี้
โดยนายดีเตอร์ เซทเช่อ ประธานบริษัทเดมเลอร์ กล่าวว่า เวลานี้แรงดึงดูดของโลกยานยนต์ได้ย้ายไปฝั่งตะวันออกแล้ว
ด้านบริษัทเชอรี่ ออโต้โมบิล ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในจีนอีกแห่งหนึ่ง ได้ออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่า ภายใน 2-3 ปีนี้บริษัทจะส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในจีนไปสู่ตลาดสหรัฐฯ และเพื่อบรรลุเป้าหมาย ทางบริษัทจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพรถยนต์ที่ผลิตออกมาให้สอดคล้องกับมาตรการที่สหรัฐฯ ที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด ทั้งในมาตรฐานการปล่อยก๊าซพิษและความปลอดภัย
แต่การที่รถยนต์จากจีนจะเข้าไปตีตลาดสหรัฐฯก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ก่อนหน้านี้แผนการที่จีนจะส่งรถยนต์ที่ผลิตในประเทศออกไปยังสหรัฐฯ เคยล้มไม่เป็นท่ามาแล้ว โดยบริษัทที่ชื่อว่า Brilliance ไม่สามารถส่งรถยนต์ไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯในปี 2552 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนบริษัท BYD ที่เคยบอกว่าจะส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ ให้ได้ภายในปี 2553 ก็ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2554 ส่วนคู่แข่งรายอื่นๆ ที่เคยประกาศแผนการลักษณะนี้ไว้ บ้างก็ล้างมือจากธุรกิจนี้ไปแล้ว บ้างก็ยังดิ้นรนอยู่อย่างไร้ทิศทาง
เมื่อปี 2537 รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนการว่าจะเพิ่มการผลิตรถยนต์ภายในประเทศให้ได้ 3 เท่าตัวภายในปี 2543 และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมกันนี้รัฐบาลจีนก็ได้สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศเข้าไปลงทุนในบริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์ และนำเทคโนโลยีเข้าไปในจีน เพื่อปรับการผลิตภายในประเทศให้ทันสมัยด้วยการเข้าร่วมทุนกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างเช่นจีเอ็ม เป็นต้น
ผลที่ตามมาคือยอดขายรถยนต์ในจีนได้พุ่งสูงขึ้นในปี 2543 จนทะลุ 1 ล้านคันในปี 2545 แม้ในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อเร็วๆนี้ยอดขายรถในตลาดจีนก็ยังทะยานโลด ถึงกับต้องชะลอการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศต่างๆ เช่น รัสเซีย และเวียดนาม
เมื่อปลายปีที่แล้วอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนยังกดดันให้รัฐบาลช่วยเหลือ และรัฐบาลกลางก็ยอมให้เงินอุดหนุน พร้อมลดภาษีให้แก่รถยนต์ขนาดเล็ก และรถยนต์ประหยัดพลังงาน กระตุ้นความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การขยายถนนและไฮเวย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน รวมถึงการเติบโตของชนชั้นกลาง จะดันความต้องการในตลาดรถจีนทบทวีขึ้นอีกในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในจีนมีสูงถึง 1.15 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ยอดขายรถยนต์ในจีนสูงกว่ายอดขายในสหรัฐฯติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม
แม้กระทั่งจีเอ็มที่มีธุรกิจร่วมทุน 2 แห่งในจีน ก็มียอดขายทะลุเป้าในเดือนเมษายนที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราเพิ่ม 50 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ จีเอ็มรายงานแผนต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ ระบุว่า ภายในปี 2554 จีเอ็มจะนำเข้ารถยนต์ผลิตในจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ กลับแปรผกผันกับยอดขายในจีน โดยพบว่าในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ ลดลง 34 เปอร์เซ็นต์ และขณะนี้บริษัทจีเอ็มซึ่งได้รับอนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือ 15,400 ล้านเหรียญจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีท่าทีว่าจะยื่นขอความคุ้มครองจากการล้มละลาย.