xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อ “เทียนอันเหมิน” ร้องชาวโลกกดดันจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนกำลังเดินผ่านกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังชมภาพถ่ายขนาดใหญ่ของ นายซุน ยัด-เซน บิดาแห่งจีนยุคใหม่ ที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน – ภาพเอเอฟพี (3 พ.ค. 2552)
เอเอฟพี – ผู้ต่อต้านเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่จัตุรัส “เทียนอันเหมิน” ร้องประชาคมโลกให้เพิ่มความกดดันต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน ให้กลับคำตัดสินที่ทางการมีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน ด้านอดีตผู้ช่วย “หู เหยาปัง” ระบุ หากประชาคมโลกปล่อยจีนไปตามยถากรรมโดยไม่ช่วยเหลือ ก็จะต้องรับผิดชอบตอผลลัพธ์ร่วมกัน

แต่ข้อเรียกร้องของนักต่อต้านเหล่านี้ดูจะไม่ได้ผล เพราะนอกจากจะไม่ต่อต้านแล้ว ประชาคมโลกยังให้กำลังใจพรรคคอมมิวนิสต์จีน สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2532

“จนถึงตอนนี้ นานาชาติก็ยังออกนโยบายเพื่อพะเน้าพะนอรัฐบาลจีน พวกเขายังมองความโหดร้ายในครั้งนั้นอย่างเห็นอกเห็นใจ” นั่นคือความเห็นของ นายติง จื้อหลิ่น อดีตศาสตราจารย์ด้านปรัชญาวัย 72 ปี ซึ่งบุตรชายของเขาถูกทหารจากกองทัพประชาชนยิงจนเสียชีวิตที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และปัจจุบันเขาได้รับตำแหน่งผู้นำกลุ่มแม่คนเทียนอันเหมิน(Tiananmen Mothers) ที่ประสบความล้มเหลวในความพยายามกดดันรัฐบาลจีนมาตลอด 20 ปี

ย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีก่อน ในเช้าตรู่ของวันที่ 4 มิถุนายน กองทัพประชาชนจีนได้นำรถถังและทหารเข้ามาล้อมปราบนักศึกษาและประชาชน ที่ชุมนุมกันหน้าจัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมานานนับสัปดาห์ เชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นหลายร้อยคน หรืออาจจะถึงพันคนก็ได้ และทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเสียเกียรติภูมิในสายตาประชาคมโลก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดในครั้งนั้นมาโดยตลอด และเรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ห้ามพูดในประเทศจีน ขณะที่ทางการจีนได้เรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ความไม่สงบทางการเมือง”

อย่างไรก็ตาม ได้มีแรงกดดันจากนานาชาติให้รัฐบาลจีนทบทวนเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ฟื้นฟูสภาพเหยื่อ ทั้งที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตแล้ว ให้กลับคืนสู่ปกติ โดย นายเป่า ถง วัย 76 ปี ได้แสดงความหวังไว้ว่า รัฐบาลจีนจะยอมแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต โดยบอกว่า

“รัฐบาลที่ไม่รับผิดชอบต่อประชาชน จะไม่อาจรับผิดชอบต่อสิ่งใดๆ ในโลกนี้ได้เลย”

เด็กหญิงชาวจีนถือธงชาติจีนเดินผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในช่วงวันหยุดเพื่อฉลองวันแรงงานเมื่อวันที่ 1 พ.ค. – ภาพเอเอฟพี
นายเป่า ถง เป็นอดีตผู้ช่วย นายจ้าว จื่อหยาง อดีตผู้นำจีนที่ล่วงลับไปแล้ว นายเป่าถูกจับกุมหลังจากนายจ้าว จื่อหยาง ถูกกำจัดออกจากวงจรแห่งอำนาจเนื่องจากไปแสดงความเห็นใจกลุ่มผู้ประท้วง

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในคุก หรือไม่ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้านพัก และยังต้องเผชิญกับข้อห้ามต่างๆ นานา

“การเพิกเฉยของประชาคมโลก หมายถึงว่าพวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือประเทศจีน ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนจีนให้ได้รับสิทธิของพวกเขา และไม่สามารถช่วยเหลือประชาคมโลกให้มีประเทศสมาชิกที่น่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพ และมีสันติภาพ หากประชาคมโลกยังไม่แคร์เรื่องนี้ ก็จะต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน” นายเป่า ระบุ

เมื่อปีที่แล้ว จีนได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในโอกาสที่วาระครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์เทียนอันเหมินใกล้จะมาถึง และมีรายงานว่าได้มีการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาลบางคนเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบวันเสียชีวิตของ นายหู เหยาปัง ผู้นำนักปฏิรูปแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

โดยการเสียชีวิตของ นายหู เหยาปัง นั้นถือเป็นการจุดประกายการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองภายในจีน จนนำไปสู่การนองเลือดที่หน้าจัตุรัสเทียนอันเหมินในท้ายที่สุด

นายฉี จื้อหยาง ผู้ร่วมชุมนุมที่เทียนอันเหมินวัย 52 ปี และได้สูญเสียขาไป กล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่อาจฟอกตัวเองให้บริสุทธิ์จากอาชญากรรมที่ได้ก่อไว้ที่เทียนอันเหมิน และว่า ทางพรรคคำนึงถึงแต่ความอยู่รอดของตัวเอง แม้จะต้องใช้ความรุนแรงก็ยอม

“ตราบใดที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่ยอมทบทวนคำตัดสินของเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. และยังไม่ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างกล้าหาญ ตราบนั้นประชาธิปไตยในจีนก็ยังไม่อาจเดินต่อไปได้” นายฉี กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น