เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์--“เราได้ผ่านบททดสอบใหญ่จากวิกฤตโรคระบาดจากเชื้อไวรัส อย่าง ซาร์ส มาแล้ว บทเรียน และประสบการณ์ในการปราบปรามเชื้อโรคระบาดระหว่าง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้เราเชื่อมั่นว่า จะสามารถหลีกเลี่ยงและควบคุมเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่”
นี่คือคำรับประกันของนาย เฉิน จู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุขจีน ในที่ประชุมข่าวเมื่อปลายเดือนเมษายนขณะที่โลกกำลังตื่นตระหนกถึงเชื้อไข้หวัดหมู หรือเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ในความเคร่งเครียด เฉิน จู ก็ยังมีอารมณ์ขัน “การหลีกเลี่ยงกินหมู แหล่งโปรตีนหลักในชีวิตประจำวันของชาวจีนนั้น จะช่วยป้องกันไข้หวัดหมู หรือ? พวกคุณสามารถแก้ปัญหาง่ายๆโดยใส่โป๊ยกั๊กลงไป เท่านั้นเอง”
ทั้งนี้ โป๊ยกั๊กเป็นเครื่องเทศจีน เป็นหนึ่งในสารประกอบหลักในตัวยาต่อต้านเชื้อไวรัส ฟามิฟูล ซึ่งใช้สำหรับป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ด้วย
******
นายเฉิน จู (陈竺) วัย 55 ปี รัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขแดนมังกร เป็นรัฐมนตรีในคณะมุขมนตรีจีน ที่ได้รับการกล่าวขวัญจากกลุ่มสื่อจีนและต่างประเทศ ในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของจีนที่ได้รับการฝึกฝนหล่อหลอมความคิดในชั้นเรียนโลกตะวันตก เป็นผู้นำที่มีแนวคิดเปิดกว้าง และเป็นรัฐมนตรีคนที่สองที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
“มันเป็นเรื่องน่าละอาย” เฉิน จู พูดเบาๆแทบจะเป็นเสียงกระซิบระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับกรณีอื้อฉาวนมผงปนเปื้อนเมลามีน มันเป็นวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่เขานั่งตำแหน่งนายใหญ่กระทรวงสาธารณสุขในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2550
“มันมีสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านี้แล้ว” เฉินกล่าวถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับกรณีโรคนิ่วในไตที่แพร่ระบาดในเด็กจีนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และสิ่งแรกที่เขานึกถึงคือ กรณีสุนัขและแมวในอเมริกาจำนวนมากที่เสียชีวิตจากโรคนิ่วในไตหลังจากที่กินอาหารสัตว์ปนเปื้อนเมลามีนที่นำเข้ามาจากประเทศจีนในปี พ.ศ. 2550
“เป็นเพราะเราไม่ได้ใส่ใจเพียงพอต่อกรณีที่เกิดขึ้นในอเมริกาเหนือ ถ้าเราได้จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกสักหน่อย...” นายใหญ่แห่งกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับมอบหมายความรับผิดชอบใหม่ด้านความปลอดภัยอาหารด้วยเมื่อกลางปี 2551 กล่าว
ทว่า ความจริงที่เกิดขึ้น คือกลุ่มเจ้าหน้าที่คอรัปชั่นได้พยายามปกปิดปัญหานมผงสำหรับทารกเป็นเวลาหลายเดือน กระทั่งมีข่าวทารกเสียชีวิตจากโรคนิ่วในไต 3 คน และล้มป่วยด้วยโรคดังกล่าวอีก 3 แสนคน ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ
“เด็กๆต้องเสียชีวิต และล้มป่วยกันขนาดนี้ เพราะไม่มีการเรียกเก็บนมผงปนเปื้อนเหล่านั้นออกจากชั้นวางสินค้า และเราไม่มีหน้ามาพูดคำว่า “ถ้า..ถ้า…” นอกจากเผชิญหน้ากับความจริงที่เกิดขึ้น และจดจำบทเรียน”
เฉิน จู วัย 55 ปี แตกต่างไปจากเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป เขาเป็นรัฐมนตรีคนที่สองในรัฐบาลจีนในรอบ 36 ปีมานี้ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคฯ สำหรับคนแรกนั้น คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นาย วั่น กัง (万钢) ผู้ได้รับการแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งนี้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2550
“พวกเขาเป็นสมาชิกแถวหน้าของเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นใหม่ที่เพิ่งก้าวสู่อำนาจเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า ใช้ความรู้ความชำนัญในการบริหารและแก้ไขปัญหา” Kenneth Jarrett อดีตนักการทูตอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ จากปี 2543 -2544 กล่าว
กลุ่มที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคฯเริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการชีวิตสาธารณชนในจีนมากขึ้น แม้ไม่มีสถิติตัวเลขที่เชื่อถือได้แน่นอน เฉินกล่าวว่าขณะนี้กลุ่มที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคฯหลายคนก็ได้เข้าไปมีบทบาทการนำในระดับมณฑล “เมื่อผมเดินทางไปตามมณฑลต่างๆ ก็ได้พบกับหลายคนที่มาจากกลุ่มนี้”
หลายๆคนในกลุ่มผู้นำชั่วรุ่นใหม่นี้ ได้รับอิทธิพลตะวันตก วั่น กัง รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จาก Clausthal Technical University ในเยอรมนีเมื่อปี พ.ศ. 2534 ต่อมาก็ได้เป็นนักออกแบบอาวุโสของบริษัท Audi วั่น กังยังได้ชื่อเป็นบิดาแห่งโครงการพัฒนาและวิจัย (R&D) ด้านพลังงานสะอาดของจีน ซึ่งมีแผนพัฒนาพาหนะพลังงานลูกผสมหรือไฮบริด และพลังงานไฟฟ้า รวมอยู่ด้วย
ผู้นำอีกท่านที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ ได้แก่ เฉิน กัง (陈刚)นายกเทศมนตรีเขตเฉาหยังในกรุงปักกิ่ง เขาบอกว่าได้เรียนรู้เทคนิกการบริหารใหม่ล่าสุดระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และขณะนี้ก็กำลังผลักดันสร้างความโปร่งใสในงานที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีผู้นำรัฐวิสาหกิจอีกจำนวนหนึ่งที่มาจากกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่นี้ อาทิ ผู้บริหารในยักษ์ใหญ่รัฐวิสาหกิจน้ำมัน บริษัท ซีนุก CNOOC
รัฐบาลจีนเริ่มส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนยังต่างประเทศมากขึ้นในช่วงปี 2523 เป็นต้นมา จนเกิดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงวัย 40 ปี ถึง 50 ปี กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้กลับบ้านพร้อมด้วยความเชื่อมั่นและความคิดที่อิสระ หนึ่งในนักศึกษาเหล่านั้น คือ จง หนันซัน ผู้เชี่ยวชาญด้านปอด จบการศึกษาจาก Edinburgh เป็นคนแรกที่ออกมาเปิดเผยโรคทางเดินหายใจฉับพลัน หรือซาร์ส ในปี 2543 เขาได้ให้สัมภาษณ์แก่วารสารการแพทย์ชั้นนำแดนผู้ดี The Lancet บอกว่าสิ่งที่ชาวสก็อต ได้สอนเขา คือ “อย่าเชื่อว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจบอกนั้น ถูกต้อง และเชื่อในการสิ่งที่ตัวเองเห็นเท่านั้น”
เมื่อเฉินกลับบ้านในจีน ก็ได้เป็นผู้อำนวยการห้องทดลองด้านเลือดในนครเซี่ยงไฮ้ สืบเนื่องจากชื่อเสียงในฐานะนักวิทยาศาสตร์ด้านเลือดถึงกับได้เป็นสมาชิกของกลุ่มสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา จากนั้น ก็ได้เป็นนายใหญ่คุมศูนย์ตัดต่อสารพันธุกรรมแห่งชาติ (National Human Genome Center) และเขาก็ได้สร้างความประทับใจแก่ผู้นำหลายคนที่มาเยี่ยมชมศูนย์ฯ เมื่อได้ขึ้นมากินตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข ก็ได้รับการยกย่องจากสถาบันต่างๆทั่วโลก
“เขาเป็นส่วนผสมระหว่างตะวันออกละตะวันตก ที่ยอดเยี่ยม” ดร. Murray Lumpkin รองผู้ปฏิบัติการโครงการพิเศษระหว่างประเทศ สังกัดสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ หรือ เอฟดีเอ กล่าวยกย่องเฉิน จู และ Cris Tunon หัวหน้าความปลอดภัยด้านอาหารในจีน จากองค์การอนามัยโลก หรือ ฮู ก็ได้กล่าวยกย่องเฉินเช่นกันว่า “เขาเป็นคนจริงใจ และติดดิน” นอกจากนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างแดน ต่างชื่นชมการจัดการปัญหานมผงปนเปื้อนของเฉิน
เมื่อเฉินได้เข้ารับงานในฐานะหัวเรือใหญ่กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เริ่มปรับโฉมหน้ากระทรวงฯใหม่ โดยได้ระดมความเห็นจากประชาชนในการเสนอแผนปฏิรูปองค์กร
ช่วงเกิดวิกฤตโรคซาร์ส เฉินได้เรียกร้องการปฏิรูปสาธารณสุข โดยลดโครงการ “สร้างภาพลักษณ์” ให้น้อยลง “การรักษาสุขภาพของประชาชน 1,300 ล้านคนนั้น ไม่เพียงแค่แก้ปัญหาเรื่องบริการรักษาพยาบาลและยาเท่านั้น จะต้องส่งเสริมการป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อม นี่คือ รากฐาน”
หนึ่งในแผนการปฏิรูปของเฉิน ได้แก่ การแต่งตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระในคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล
“นี่ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา” Sarah Barber เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก ที่รับผิดชอบด้านนโยบายสาธารณสุขของจีน กล่าวถึงแผนปฏรูปของเฉิน
การแต่งตั้งคนภายนอกจะทำให้กลุ่มที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามามีบทบาทในการจัดการชีวิตสาธารณชนมากขึ้น แต่เฉินบอกว่ากลุ่มการนำคอมมิวนิสต์ได้ไฟเขียวแนวคิดนี้แล้ว “กลุ่มที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคก็เป็นพลังการเมืองที่สำคัญมาก” เฉินกล่าว
จาก “หมอตีนเปล่า” สู่รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข
สำหรับนาย เฉิน จู รัฐมนตรีว่าสาธารณสุข จบการศึกษาจาก St-Louis Hospital แห่งกรุงปารีส และตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบันของเขานั้นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของโลกภายนอกอยู่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมารับผิดชอบการประสานงานวันต่อวัน เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร รวมทั้งการติดตามเชื้อโรคติดต่ออย่างไข้หวัดนกด้วย
เฉินเป็นทายาทครอบครัวแพทย์ในนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็ถูกส่งตัวไปใช้แรงงานในหมู่บ้านที่ยากจนในมณฑลเจียงซีสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมใหญ่ เขาเริ่มเรียนรู้ด้านการแพทย์ตั้งแต่ถูกส่งตัวไปใช้แรงงานในชนบทในปี 2513 โดยเริ่มศึกษาด้วยตัวเอง หลังเสร็จงานในตอนกลางวัน เขาก็คร่ำเคร่งอ่านตำราการแพทย์ของพ่อแม่ถึงดึกดื่นอยู่ใต้แสงตะเกียง ฟ้ายังไม่ทันสว่างก็ตื่นขึ้นมาอ่านฝึกฝนภาษาอังกฤษก่อนออกไปทำงาน ทั้งขอให้พ่อแม่ช่วยสอนวิธีการรักษาพยาบาลทั่วไป เฉินลงมือผ่าตัดครั้งแรกโดยผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกของผู้หญิงคนหนึ่ง และการทำให้คนไข้สลบเพียงวิธีเดียวในตอนนั้น ก็คือ การฝังเข็ม “มันเป็นวิธีการธรรมดาๆแต่เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาก”
เฉินทำงานหนัก จนใครๆตั้งฉายานามให้เป็น “หมอตีนเปล่า” ระหว่างอยู่ในชนบทปี พ.ศ. 2513-2518 และรางวัลที่เขาได้รับก็คือ ผู้นำชุมชนได้ส่งเขาไปศึกษาที่วิทยาลัยการสาธารณสุขประจำเขตในมณฑลเจียงซีปี 2518 จนได้เข้าศึกษาวิชาการแพทย์ต่อที่โรงพยาบาลในนครเซี่ยงไฮ้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตชื่อดังคือ หวัง เจิ้นอี้ (王振义) ได้เห็นความสามารถที่โดดเด่นของเฉิน จึงส่งเสริมให้เขาศึกษาต่อ เฉินได้เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับโรคโลหิตไหล (Hemophilia) ซึ่งวงการแพทย์ระหว่างประเทศให้ความสนใจมาก และได้เป็นสมาชิกชาวจีนคนแรกในสมาคมโรคโลหิตระหว่างประเทศ
ในปี 2527 เขาก็ถูกส่งไปศึกษาต่อที่ศูนย์ศึกษาทดลองด้านโลหิตของ St-Louis Hospital กรุงปารีสในปี 2527 หนึ่งปีต่อมาก็ศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) ที่นั่น เขาเรียนอย่างกระหายวิชาความรู้และสนุกกับสไตล์ที่เปิดกว้างในการเรียนรู้ ซึ่งผิดกันแบบหน้ามือหลังมือกับทัศนะของนักศึกษาจีนที่ยึดถือลัทธิขงจื้อในการให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโสกว่า
“ผมโชคดีมาก” เฉินพูดถึงชีวิตการศึกษาในต่างประเทศ
ในปี 2532 เฉินก็ตัดสินใจกลับบ้านเกิด แม้ได้รับการร้องขอจากบรรดาอาจารย์ในสถาบันที่เขาศึกษาและทำงานวิจัยให้อยู่ช่วยงานต่อไป แต่เฉินก็พูดพลางหัวเราะว่า “เหตุผลที่ผมกลับบ้าน มิใช่ว่าไม่รักฝรั่งเศส แต่ผมรักประเทศจีนมากกว่า”
แปลเรียบเรียงจาก บทความ China’s Best Westerner นิตยสารนิวสวีคฉบับ 6 เมษายน 2009
บทความ “从赤脚医生到卫生部长陈竺坦受命危难直面一改困局” , 中华儿女, พฤศจิกายน 2008