ผู้จัดงานคอมมาร์ตเผย 9 แนวโน้มโลกไอทีมาแรงปี 2009 ทุกแนวโน้มชี้ว่าสินค้าไอทีต้องถูกและดีเท่านั้นถึงจะอยู่รอด เชื่อสงครามราคาจะเกิดขึ้นเพียงส่วนเดียวแต่จะต้องไปฟาดฟันกันที่คุณภาพว่าใครคุ้มค่ากว่า ผลที่เกิดขึ้นคือจำนวนสินค้าไอทีที่จำหน่ายในปีฉลูจะไม่ลดลง แต่สัดส่วนกำไรจะตกต่ำแทน มั่นใจแม้เศรษฐกิจทั้งปีจะซบเซาเผาจริงเพียงไร แต่ตราบใดที่ผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อและความต้องการ อุตสาหกรรมไอทีก็ยังไม่ถึงขาลง
ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช รองผู้จัดการทั่วไป และผู้อำนวยการฝ่ายนิวมีเดีย บริษัท เอ.อาร์. อินฟอร์เมชัน แอนด์ พับลิเคชัน จำกัด กล่าวว่าทั้ง 9 แนวโน้มนี้เป็นการพิจารณาจากข้อมูลที่มีและสิ่งที่ได้พบในงานแสดงสินค้าไอทีหลากหลายงาน ข้อมูลบางส่วนสะท้อนให้เห็นว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Electronic : CE) ในปี 2009 กำลังมีพัฒนาการมากขึ้นจนทับซ้อนสินค้าข้ามสายพันธุ์ เชื่อว่าหลายตลาดจะถูกกลืนกินไป
“ตลาดจะเบลอมากขึ้น คอมพิวเตอร์ตัวเล็กอย่างเน็ตบุ๊กจะเริ่มไม่แตกต่างจากโน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือก็จะพัฒนาฟังก์ชันกล้องถ่ายภาพจนทับซ้อนกับกล้องดิจิตอลชนิดคอมแพค และในอนาคต การที่สมาร์ทโฟนจะหันมากินตลาดเน็ตบุ๊กก็อาจเกิดขึ้นได้“
ประสิทธิ์บอกด้วยว่าปี 2008 ที่ผ่านมาเป็นปีที่โปรดักต์ไลน์สินค้าไอทีวิ่งเร็วมาก ความถี่ในการออกสินค้าไอทีทั้งปีค่อนข้างสูง แต่ปี 2009 เชื่อว่าความถี่นี้จะลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯคือแหล่งผลิตเทคโนโลยีสำคัญของโลก หากสหรัฐฯต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจจริงอย่างที่คาดการณ์ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ความเร็วในการออกสินค้าไอทีใหม่จะช้าลงทั่วโลก
เน็ตบุ้กจะไล่กินตลาดโน้ตบุ๊ก
“เดสก์ท็อปถูกโน้ตบุ๊กบี้มาแล้ว กำลังคิดว่าโน้ตบุ๊กจะถูกเน็ตบุ๊กบี้อีก ที่ผ่านมา ผู้บริโภคหลายคนมองไม่ออกว่าเน็ตบุ๊กและโน้ตบุ๊กเป็นคนละชนิดกัน มองแค่ว่าตัวเล็กกว่าและไม่มีไดร์ฟ แต่ปี 2009 เน็ตบุ๊กจะเพิ่มขนาดหน้าจอเป็น 12 นิ้ว เมื่อจอใหญ่ขึ้นคีย์บอร์ดก็ใหญ่ขึ้นตาม และไม่แน่ก็อาจจะเพิ่มไดร์ฟดีวีดีมาให้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้บริโภคยิ่งมองไม่ออกว่าเน็ตบุ๊กต่างจากโน้ตบุ๊กอย่างไร โดยผู้ผลิตหลายรายออกมาประกาศแล้วว่า ปี 2009 จะทำตลาดเน็ตบุ๊กเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 50%” ประสิทธิ์กล่าว
เน็ตบุ๊ก (Netbook) คือคอมพิวเตอร์พกพารุ่นเล็กราคาประหยัดที่เน้นความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ประสิทธิ์เชื่อว่าเน็ตบุ๊กจะน้ำหนักเบาขึ้นแต่สามารถรองรับการเชื่อมต่อได้ทุกชนิด ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่หมื่นบาทต้นๆ รุ่นที่ราคาแตะ 20,000 จะลดราคาลง ขณะที่โน้ตบุ๊กจะหนีการรุกรานของเน็ตบุ๊กด้วยการย้ายไปทำตลาดกลุ่มผู้สร้างคอนเทนท์ เช่นกลุ่มผู้สร้างงานตัดต่อวีดีโอหรือมัลติมีเดีย แม้จะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มก็ตาม
“โน้ตบุ๊กจะฉีกไปด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่า เชื่อว่าโน้ตบุ๊กรุ่นเล็กจะไม่ตายเพราะยังต่างเรื่องราคา เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป ที่ยังไม่ตายแม้จะถูกโน้ตบุ๊กรุกราน”
มือถือใหม่จะเป็นระบบสัมผัสเกือบทั้งหมด
ประสิทธิ์เชื่อว่า โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ในปี 2009 จะเป็นระบบสัมผัสหรือทัชสกรีนเกือบทั้งหมด แต่รุ่นล้ำสมัยอาจจะมาพร้อมฟังก์ชันพิเศษอย่างโปรเจคเตอร์ ฟังก์ชันกล้องถ่ายภาพจะพัฒนาไปเป็น 8 ล้านพิกเซลจนทับซ้อนกล้องดิจิตอลชนิดคอมแพค ดีไซน์ยังเป็น “สี่เหลี่ยม แบน บาง ติดกล้อง หน้าจอเรียบ” เช่นเดิม มือถือจากจีนจะครองใจรากหญ้าต่อไป
“ตอนนี้มือถือมีหมดแล้ว ที่ยังขาดคือโปรเจคเตอร์ ที่งาน CES โชว์เทคโนโลยีนี้มาหลายปีแล้ว อาจจะฝังไปเลยหรือผลิตเป็นอุปกรณ์เสริมจำหน่ายแยกกัน ตอนนี้จีนทำได้แล้ว เป็นทัชสกรีนที่สามารถเล่นเกมขณะฉายหนังผ่านโปรเจคเตอร์ LED ได้พร้อมกัน ขนาดภาพที่ได้จากโปรเจคเตอร์ประมาณ 50 นิ้ว”
ประสิทธิ์มั่นใจว่า แพลตฟอร์มแอนดรอยด์ของกูเกิลจะมาแรงแน่นอนในกลุ่มผู้ไม่ใช่สาวกไอโฟน โดยปีฉลูจะเป็นปีที่ผู้ผลิตคอนเทนท์ผลักดันให้การใช้งานคอนเทนท์นอนวอยซ์ผ่านโทรศัพท์มือถือมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีความเป็นไปได้ที่สมาร์ทโฟนจะพัฒนาความสามารถจนทับซ้อนเน็ตบุ๊ก เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมองว่า โทรศัพท์มือถือไม่ใช่โทรศัพท์ แต่เป็นคอมพิวเตอร์ที่รันโปรแกรมโทรศัพท์
“บริษัท OLO เปิดตัว Docking ที่มีหน้าจอใหญ่และคีย์บอร์ดสำหรับเสียบไอโฟน แนวคิดคือถ้าเสียบไอโฟนเข้ากับจอและคีย์บอร์ดก็สามารถเป็นเน็ตบุ๊กได้เลย หน้าจอของไอโฟนที่เป็นทัชสกรีนก็สามารถใช้เป็นทัชแพดได้ ความทับซ้อนกันแบบนี้เป็นไปได้ที่สมาร์ทโฟนจะมาแข่งกับเน็ตบุ๊กในอนาคต”
วินโดวส์ 7 จะทำให้คนซื้อคอมพ์ใหม่
เป็นที่รู้กันว่าวินโดวส์ 7 ระบบปฏิบัติการรุ่นต่อจากวิสต้าที่เชื่อกันว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาส 3 ปี 2009 จะมาพร้อมส่วนติดต่อผู้ใช้แบบใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้จำเป็นต้องหาคอมพิวเตอร์หน้าจอสัมผัสมาไว้ในครอบครอง จุดนี้ประสิทธิ์เชื่อว่าเป็นเพราะการคาดการณ์ของไมโครซอฟท์ ที่เชื่อว่าผู้ใช้วินโดวส์เอ็กซ์พีส่วนใหญ่จะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ในปี 2009
ประสิทธิ์บอกว่าปี 2009 อาจมีแกดเจ็ดเกิดใหม่ในตลาด นั่นคืออุปกรณ์เสริมสำหรับเปลี่ยนหน้าจอธรรมดาให้กลายเป็นหน้าจอสัมผัสที่สามารถใช้งานเทคโนโลยี Surface ซึ่งไมโครซอฟท์ภูมิใจนำเสนอในวินโดวส์ 7 อุปกรณ์เสริมนี้จะถูกติดตั้งไว้ด้านบนจอภาพ เพื่อทำหน้าที่จับการเคลื่อนไหวของนิ้วมือบริเวณหน้าจอ
สื่อจะพยายามผสมสิ่งพิมพ์กับดิจิตอลเข้าด้วยกัน
ประสิทธิ์ยกคำกล่าวของซีอีโอไมโครซอฟท์ สตีฟ บอลเมอร์ ซึ่งระบุว่านับจากนี้อีก 10 ปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสิ่งพิมพ์ใดที่ไม่เผยแพร่ข้อมูลผ่านเครือข่าย IP หรือเครือข่ายออนไลน์ จุดนี้จะทำให้สื่อออนไลน์มีบทบาทมากขึ้นขณะเดียวกันก็ทำให้ “E-Ink” หรือหมึกอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทในสิ่งพิมพ์มากขึ้นในปี 2009 จนเกิดเป็นสิ่งพิมพ์ลูกผสมหรือ Hybrid Media ที่เข้าสู่ความเป็นจริงยิ่งขึ้น
ประสิทธิ์อธิบายว่า E-Ink คือจุดพิกเซลที่เปลี่ยนสีได้เมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไป สีพิกเซลที่เปลี่ยนสามารถค้างหรือคงสภาพไว้ได้โดยที่ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่สูง ประสิทธิ์ยกตัวอย่างนิตยสาร Esquire ซึ่งเริ่มทำนิตยสาร E-Ink ต้นแบบโดยซ่อนแบตเตอรี่ไว้ในปก ในเล่มมีการทดลองทำให้ฉากหลังของโฆษณารถยนต์เปลี่ยนสีได้จนทำให้ดูเหมือนรถวิ่งอยู่
เช่นเดียวกัน แนวโน้มการโฆษณาก็เริ่มเข้าสู่โลกดิจิตอลยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์อ่านโฆษณาภาพนิ่งในนิตยสารเป็นภาพสามมิติอาจได้รับความนิยมมากขึ้น หรือการที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เริ่มทำประชาสัมพันธ์ผ่านทวิตเตอร์ (Twitter) ไมโครบล็อกที่สามารถอัปเดทรายการของสถานีให้กับสมาชิกผ่านโทรศัพท์มือถือ โปรแกรมแชต หรือทางอินเทอร์เน็ตแล้วในขณะนี้ ย่อมเป็นทิศทางที่ชี้ว่าสื่อดั้งเดิมพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิตอลยิ่งขึ้น
บริษัทไอทีขอกินก่อนแล้วค่อยกรีน
ประสิทธิ์คาดการณ์ว่าแกดเจ็ดสีเขียวหรือสินค้าไอทีเพื่อสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นในปี 2009 แต่จะไม่แรงสุดขีด กรีนแกดเจ็ดที่จะมาแน่นอนในปีนี้คืออีบุ๊ก (E-book) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่โลกจะไม่ต้องสิ้นเปลืองต้นไม้เพื่อทำกระดาษอีกต่อไป แต่ในแง่การผลิตสินค้าไอทีเพื่อสิ่งแวดล้อมเช่นโน้ตบุ๊กกรีนจะยังไม่ชัดเจน เพราะวิธีกรีนสินค้าไอทีที่ง่ายที่สุดคือการลดชิ้นส่วน ซึ่งอาจกระทบความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อจำหน่ายของผู้ผลิต
“คนไอทีเห็นอีบุ๊กมากกว่า 10 ปีแล้ว ปีหน้าวัสดุที่จะเป็นส่วนประกอบในอีบุ๊กจะบิดได้ เหมือนกระดาษมากขึ้น อ่านชัดขึ้น กินไฟน้อยลง หน่วยความจำเพิ่มขึ้นและออนไลน์ได้ครอบคลุมทุกการเชื่อมต่อ นักอ่านต่างประเทศนิยมมากเพราะไม่ต้องหอบหิ้วหนังสือแสนหนักติดตัวตลอดเวลา ยอมรับว่าอีบุ๊กอาจยังไม่เข้ามาในบ้านเราแต่แนวโน้มปี 2009 คือราคาเครื่องจะถูกลงแน่นอน”
พีซีไร้สมองจะมาแรง
ประสิทธิ์กล่าวว่าในงาน Virtual Machine World 2008 ได้มีการแสดงอุปกรณ์จำลองเครื่องลูกข่ายใหม่ล่าสุด เป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีซีพียูแต่สามารถต่อเข้ากับหน้าจอและคีย์บอร์ดเพื่อทำงานเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปเครื่องหนึ่งได้ จุดนี้ประสิทธิ์เชื่อว่า ปี 2009 จะเป็นปีที่พีซีไร้สมองมาแรง และความนิยมในการทำเวอร์ชวลไลเซชันหรือการทำงานแบบเสมือนก็ยิ่งทำให้เดสก์ท็อปไร้ความหมายยิ่งขึ้น
“เมื่อก่อนเราพูดถึง Thin Client หรือพีซีฉลาดน้อย แต่นี่คือ Zero Client ซึ่งไม่มีสมองเลย มีลักษณะเป็นกล่องเล็กๆที่มีพอร์ตเชื่อมต่อที่สามารถรับสัญญาณจากเซิร์ฟเวอร์ หนึ่งเซิร์ฟเวอร์สามารถเชื่อมต่อ Zero Client ได้ 35-40 เครื่อง การเก็บหรือเรียกข้อมูลก็ดึงจากเซิร์ฟเวอร์ ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรม หากในเครือข่ายหนึ่งต้องใช้ลูกข่าย 30 เครื่อง ก็ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรม 30 ครั้ง ลดความซ้ำซ้อนได้ ลดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาได้เพราะดูแลจากส่วนกลาง เกิดประโยชน์มากแต่ใช้เงินน้อย”
ประสิทธิ์เชื่อว่าแม้ระบบทำงานเสมือนเช่นนี้จะทำให้เดสก์ท็อปพีซีหรือพีซีตั้งโต้ะไร้ความหมายลงไป แต่เชื่อว่าตลาดเดสก์ท็อปจะไม่หายไปง่ายๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการศึกษา ที่ยังคงต้องใช้งานเดสก์ท็อปต่อไป
วัฒนธรรมถ่ายคลิปและเครือข่ายสังคมสร้างแกดเจ็ตใหม่
เครือข่ายสังคมจะไม่ถูกมองว่าสร้างรายได้ในแง่โฆษณาอีกต่อไป ปี 2009 ประสิทธิ์เชื่อว่าตลาดแกดเจ็ดเพื่อใช้งานบนเครือข่ายสังคม เช่น ไฮไฟว์ จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับวัฒนธรรมถ่ายคลิป ก็อาจเกิดเป็นบริการด้านการถ่ายคลิปวีดีโอเพิ่มขึ้น
“นอกจากเครือข่ายสังคมจะขายโฆษณาได้ เชื่อว่าจากนี้จะขาย Accessory ได้ด้วย ตอนนี้มีการจำหน่ายเสื้อยืดที่พิมพ์สัญลักษณ์หนึ่งไว้ หากเอากล้องดิจิตอลไปถ่ายภาพสัญลักษณ์นั้นด้วย Accessory นี้ ก็จะปรากฏเป็น Profile ที่สามารถเอาไปแอดในไฮไฟว์ได้ทันที บริการด้านถ่ายวีดีโอคลิปก็เริ่มมีมากขึ้น เช่นมีเว็บไซต์หนึ่งที่ให้บริการถ่ายคลิปวีดีโอด้วยโน้ตบุ๊กนาน 12 วินาที นั่นคือ 12seconds.tv”
ถึงยุคเทราไบต์
ประสิทธิ์เชื่อว่าปี 2009 คือปีที่ชาวไอทีจะได้สัมผัสกับความจุข้อมูลมหาศาลหน่วยเทราไบต์หรือประมาณหนึ่งพันกิกะไบต์
“กิ๊กเราพูดกันมาเยอะแล้ว เชื่อว่าคราวนี้จะถึงยุคเทราไบต์ ปีนี้เราอาจได้ใช้โน้ตบุ๊กที่มีพื้นที่จุข้อมูลเป็นเทราไบต์ก็ได้”
อีคอมเมิร์ชจะถูกพูดถึงอีกรอบ
ประสิทธิ์เชื่อว่า กระแสความนิยมคลิปวีดีโอ ความแพร่หลายของกล้องถ่ายรูปดิจิตอล รวมถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยล้วนมีส่วนเสริมให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ถูกหยิบยกมาตั้งความหวังกันอีกครั้ง หลังจากที่เคยถูกตั้งความหวังกันมานับครั้งไม่ถ้วน
“ปี 2009 อาจจะมีการพูดถึงกระแสอีคอมเมิร์ชขึ้นมาอีก เศรษฐกิจไม่ดีเมื่อไหร่คนก็พูดถึงอีคอมเมิร์ช ตอนนี้มีคลิป มีกล้อง พวกนี้ส่งเสริมได้ และความเทคโนโลยีเหล่านี้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ชบ้านเราก็ยังใช้ไม่คุ้ม ยังใช้แค่ขายในไทยไม่ได้ขายต่างชาติ ถ้าเปิดตลาดต่างชาติก็จะยิ่งเติบโตมากกว่านี้”
Company Relate Link :
AR