ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ซิป้าขอนแก่น วางยุทธศาสตร์กระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขยายตัว ดันตั้งศูนย์บ่มเพาะซอฟต์แวร์ รับแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในอนาคต พร้อมรุกเปิดตลาดซอฟต์แวร์สู่ประเทศเพื่อนบ้าน ประเดิมร่วมผลิตแอนิเมชัน งานกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 25 ที่ลาว เชื่อมีลู่ทางขยายตลาดอีกมาก วางกรอบเป็นฮับในอินโดจีน ด้านผอ.ซิป้า มั่นใจเป็นกลไกสำคัญสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยปี 51 มากกว่า 1 แสนล้านบาทแน่
นายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้จัดการสาขาขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมการดำเนินงานว่า ผลการดำเนินงานของซิป้าขอนแก่นในระยะเวลาเกือบ 4 ปี ในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบผลสำเร็จสูงมาก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ซอฟต์แวร์ผ่านโครงการฝึกอบรมต่างๆ เช่น .net, java ฯลฯ รวมถึงรับรองคุณวุฒิซอฟต์แวร์มีจำนวนรวมกว่า 12,999 คน
บทบาทการทำงานของซิป้าขอนแก่น ทำให้เกิดการตื่นตัวในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา จุดประกายให้สถาบันการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ เพื่อผลิตบัณฑิตป้อนตลาด ที่กำลังต้องการบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีสถาบันการศึกษาไม่น้อยกว่า 10 แห่งทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดการเรียนการสอนแล้ว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นแหล่งผลิตบุคลากรซอฟต์แวร์มากที่สุดของประเทศ เฉลี่ยแต่ละปีมีบัณฑิตจบการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ และไอทีจากสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 15,000 คน ป้อนตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งประเทศ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรซอฟต์แวร์ เป็นกลไกสำคัญเสริมสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้รุดหน้า
เล็งตั้งศูนย์บ่มเพาะบุคลากรซอฟต์แวร์
รับแผนตั้งนิคมอุตฯ ซอฟต์แวร์ขอนแก่น
ผู้จัดการซิป้าขอนแก่น กล่าวต่อว่า ทิศทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของซิป้าขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2551 จะนำจุดแข็งด้านศักยภาพการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์ มาต่อยอดให้ดีขึ้น มุ่งสนองตอบความต้องการบุคลากรซอฟต์แวร์ ที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย มีลู่ทางการขยายตัวด้านการลงทุนอีกมาก
ล่าสุด นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานรัฐ/เอกชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนโยบายจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Science Technology Incubator ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เป้าหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคและประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศรวมถึงสร้างจุดสนใจ ให้นักลงทุนด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จากต่างชาติให้เข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่
การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น จำเป็นต้องเร่งพัฒนาปัจจัยขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ มารองรับโครงการในอนาคต โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความรู้ด้านซอฟต์แวร์ป้อนตลาดแรงงาน จะเกิดความต้องการสูงมากในอนาคต ซึ่งตามแผนงานซิป้ามีเป้าหมาย จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะและพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (National Incubation Center)
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า ตามกรอบการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะฯ ดังกล่าว ซิป้าจะร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) โดยสร้าง National Incubation Center เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ความชำนาญ ทั้งด้านธุรกิจและด้านเทคนิคให้แก่ผู้ประกอบการราย เล็ก กลาง ใหญ่ ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และที่พร้อมจะเข้ามาลงทุน พร้อมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดหาผู้เชี่ยวชาญในด้านที่ขาดแคลนมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ
ที่สำคัญการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ซิป้าจะร่วมมือกับ องค์กร ITB EUROPE ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมการลงทุนด้านไอทีของยุโรป มีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 70,000 บริษัท ดึงนักลงทุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยุโรปเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฯที่จะจัดตั้งขึ้น ทั้งจะร่วมมือกับ หน่วยงาน KIPA องค์กรส่งเสริมการลงทุนไอทีของเกาหลี ดึงนักลงทุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกาหลี เข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน
รุกขยายตลาดซอฟต์แวร์สู่ลาว
วางเป้า “ฮับ” ในภูมิภาคอินโดจีน
นอกจากการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ซิป้าขอนแก่นได้ขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กับประเทศเพื่อนบ้าน เปิดตลาดซอฟต์แวร์ให้แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่ประเทศลาว มีความต้องการให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เข้าไปช่วยพัฒนาระบบซอฟต์แวร์จัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์
“ระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 25 ปลายปี 2009 จะมีระบบซอฟต์แวร์ใช้ควบคุมและประมวลผล เช่น scoreboard, report, register และระบบซอฟต์แวร์ทั่วไป เช่น website, animation โดยรัฐบาลลาว จะให้งบประมาณจำนวนหนึ่งแก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในจังหวัดขอนแก่น 4 ราย เพื่อผลิต animation ประชาสัมพันธ์ การจัดการแข่งขันซีเกมส์” นายธวัชชัย กล่าวและว่า
ทั้งนี้ เพื่อให้ผลงาน animation ที่จะผลิตออกมาในครั้งนี้ มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ซิป้าจะร่วมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ส่วนการขยายตลาดและความต้องการไปยังซอฟต์แวร์ประเภทอื่น ซิป้าสาขาขอนแก่นได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน Information Technology Research Institute National Authority for Science and Technology : NAST (ประเทศลาว) เพื่อสร้างความร่วมมือ หาลู่ทางขยายโอกาสทางการตลาดซอฟต์แวร์ให้ผู้ประกอบการ
เบื้องต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2551 ผู้บริหารระดับสูงของลาว พร้อมจะเดินทางมาร่วมบรรยายถึงความต้องการซอฟต์แวร์ในประเทศลาว และลู่ทางการเข้าไปทำธุรกิจและขยายตลาดซอฟต์แวร์ไปยังประเทศลาว และคาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2551 นี้ SIPA และ NAST (ประเทศลาว) จะได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริม การค้าซอฟต์แวร์ทั้งสองประเทศ คาดว่าจะสร้างตลาดและมูลค่าการค้าซอฟต์แวร์อีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับลู่ทางในอนาคต ซิป้าขอนแก่น จะเข้าไปสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ในลักษณะความร่วมมือวิชาการและพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ รองรับการขยายตัวในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่กับผลักดันผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเข้าไปรับงานผลิตซอฟต์แวร์ หรือป้อนงานซอฟต์แวร์ในประเทศนั้น
เชื่อสร้างมูลค่าทาง ศก.มากกว่าแสนล้าน
ขณะที่ ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า การผลิตซอฟต์แวร์จัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ลาว ถือเป็นโอกาสที่ดี ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ให้ขยายตัว พร้อมกับเปิดตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยซิป้าจะร่วมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมช่วยเหลือการพัฒนางานด้านซอฟต์แวร์จัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์กับลาว โดยรัฐบาลลาว จะสมทบงบประมาณเพิ่มเช่นกัน เพื่อให้มูลค่าการพัฒนาซอฟต์แวร์ขยายตัวสูงขึ้น
รวมถึงแผนงานขยายความร่วมมือด้านซอฟต์แวร์ประเภทอื่นในลาว และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้มหาศาลจากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้แก่ไทย ซึ่งในอนาคตที่จะมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ และพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ จ.ขอนแก่น รองรับการขยายตัวด้านการลงทุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นกลไกสำคัญสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 แสนล้านบาท