เอเอฟพี – จีนเดินหน้าสางปัญหาใหญ่ ซึ่งสุมความไม่พอใจของชาวบ้านมานาน โดยประกาศร่างแผนปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพ ให้คำมั่นประชาชนจะได้รับการรักษาพยาบาล ที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงทั้งประเทศภายในปี 2563 หรืออีก11 ปีข้างหน้า
ในขั้นตอนแรกของร่างแผนปฏิรูป ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลจีน และมีการประกาศเมื่อวันจันทร์ (6 เม.ย.) กำหนดให้มีการขยายการประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานครอบคลุมประชากรร้อยละ90 ภายในสิ้นปี 2554 จากในปัจจุบัน ที่ครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ 1,300 ล้านคน
จากนั้น จะมีการปรับปรุงการจัดสรรเงินช่วยเหลือ และการดูแล เพื่อให้บริการรักษาพยาบาล “ที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ สะดวกสบาย และสามารถหาได้”แก่ประชาชนทั่วประเทศภายในสิ้นทศวรรษหน้า
ภายใต้แผนปฏิรูปฉบับดังกล่าว จะมีการปรับปรุงโรงพยาบาลและคลินิกในเขตชนบทยากจน และในเมืองที่ด้อยความเจริญ พร้อมทั้งเพิ่มความเอาใจใส่ในการควบคุมและป้องกันโรค, สุขภาพมารดา, สุขภาพจิต ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม แผนปฏิรูปยังขาดรายละเอียด ที่ชัดเจน รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณ โดยในแผน ซึ่งประกาศเมื่อเดือนมกราคม รัฐบาลระบุจัดสรรงบประมาณจำนวน 850,000 ล้านหยวน (124,000 ล้านดอลลาร์) สำหรับช่วง 3 ปีแรกของโครงการ
ที่ผ่านมา ระบบการดูแลสุขภาพประชาชนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลไม่เพียงพอมานานหลายปีแล้ว โดยบริการรักษาพยาบาลในระดับเลว และมีราคาแพงเป็นปัญหาใหญ่สุดปัญหาหนึ่ง ที่ประชาชนพากันร้องเรียน หลังจากจีนยกเลิกระบบการดูแลสุขภาพประชาชนแบบรวมศูนย์ของสหภาพโซเวียตไปในช่วงทศวรรษ1980 ซึ่งจีนกำลังปฏิรูปเศรษฐกิจ และแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างมาก โดยนับจากนั้นมา ช่องว่างด้านการรักษาพยาบาลระหว่างคนในเมืองกับชนบท ก็ขยายกว้างขึ้น
กระทั่งในปัจจุบัน การขาดระบบการประกันสุขภาพ ที่ดี อาจทำให้ครอบครัวหนึ่งต้องสูญเสียเงินออมไปในการรักษาโรคร้ายแรง นอกจากนั้น ความจำเป็นในการออมเงินรายได้สำหรับเป็นค่ารักษายามเจ็บป่วยยังเป็นปัญหาถ่วงการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องการนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ที่กำลังซบเซาอีกด้วย
ทั้งนี้ รายจ่ายสำหรับการดูแลสุขภาพโดยภาครัฐและเอกชนในจีนคิดเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพี ขณะที่ในสหรัฐฯ มีอัตราส่วนถึงร้อยละ 17
อย่างไรก็ตาม ดรูว์ ทอมป์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายจีนศึกษาของศูนย์นิกสัน ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบการดูแลสุขภาพของจีนระบุว่า การประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานของรัฐกว่า 20 แห่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ น่าจะเป็นปัญหาสำคัญกว่าเรื่องการจัดสรรเงิน
“ระบบดูแลสุขภาพของจีนผูกโยงกับอีกหลายเรื่อง ตั้งแต่การพัฒนาไปจนถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดังนั้น การจัดการให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง” ทอมป์สันเตือน