xs
xsm
sm
md
lg

งานศิลปะญี่ปุ่นไม่รอดเงื้อมมือแก๊งมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลักษณะการใช้เน็ตซุเกะร่วมกับชุดกิโมโน - ภาพ www.world-of-netsuke.com
เอเอฟพี – หลังจากปลอมแปลงงานศิลปะในบ้านตัวเอง ต้มตุ๋นพวกนักสะสมจนเปื่อยมาแล้วทั่วโลก ขณะนี้นักปลอมแปลงในจีนและฮ่องกงกำลังพยายามเจาะตลาดงานศิลปะแดนซามูไร ซึ่งทำกำไรงาม ด้วยการผลิต“เน็ตซุเกะ” (Netsuke) ของปลอม ออกขายเกลื่อน และโชว์หราอยู่ในเว็บไซต์ขายสินค้าชั้นนำ

เน็ตซุเกะ เป็นรูปแกะสลักขนาดเล็ก ทำด้วยงาช้าง, ไม้ หรือเขาสัตว์ ซึ่งบุรุษญี่ปุ่นใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับสำหรับสายรัดกิโมโน เป็นงานศิลปะ ที่มีมาแต่โบร่ำโบราณของญี่ปุ่น

โรแบร์ แฟลส์เชล ชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญเน็ตซุเกะ เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก เตือนให้ระวัง อย่าเผลอซื้อเน็ตซุเกะของปลอม ซึ่งกำลังแพร่ระบาดหนัก โดยไม่เพียงแต่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ขายสินค้ายอดฮิต อย่าง eBay บางครั้งยังพบอยู่ในงานประมูลสินค้าระดับมีเกียรติที่สุดในโลกอีกด้วย

“ผมจำได้ว่าแคตตาล็อกงานศิลปะเล่มหนึ่งมีรูปถ่ายเน็ตซุเกะของปลอมอยู่บนปกหนังสือ” แฟลส์เชล ผู้ซึ่งทำงานในญี่ปุ่นมานานถึง 40 ปี และเป็นเจ้าของแกลเลอรี่เครื่องประดับในกรุงโตเกียว เล่า

“ในหนังสือเกี่ยวกับเน็ตซุเกะเล่มหนึ่ง ที่พิมพ์ขายในอเมริกาเมื่อปี 2550 มีเน็ตซุเกะแค่2-3 ชิ้นเท่านั้น ที่เป็นของแท้”

“นอกนั้นปลอมหมด และคอลเล็กชั่นเน็ตซุเกะที่พิพิธภัณฑ์ออร์ลีนส์ในฝรั่งเศส จริง ๆ แล้ว เป็นของปลอมครับ” เขายืนยัน
ตัวอย่างผลงานศิลปะเน็ตซุเกะ ที่มีอยู่ในแคตตาล็อกซื้อขายบนอินเทอร์เน็ต - ภาพ www.asianart.com
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักลอกเลียนแบบเลือดมังกรจะเก่งไปเสียทุกเรื่อง เพราะแม้สามารถทำเน็ตซุเกะรูปสัตว์ หรือวัตถุต่างๆ ได้เหมือนจริง แต่ก็ยังขาดความชำนาญในการทำรูปใบหน้าให้เหมือนใบหน้าชาวญี่ปุ่น หรือแกล้งทำสนิมสีเขียวบนเน็ตซุเกะงาช้างสมัยศตวรรษที่ 19 หรือ 20 ได้เหมือนเปี๊ยบ แต่เก่ากว่านั้น ยังทำไม่ได้

นอกจากชาวจีนแล้ว ช่างฝีมือในเยอรมนีก็ปลอมแปลงเน็ตซุเกะได้เนียนมาก โดยพุ่งเป้าต้มลูกค้าระดับบนเป็นหลัก เน็ตซุเกะเหล่านี้พบได้ในงานประมูล

แฟลส์เชล เขียนหนังสือเกี่ยวกับเครื่องประดับชนิดนี้ออกมาหลายเล่ม แต่เขาเลี่ยงถ่ายรูปสามมิติ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

“เจ้าพวกนี้สั่งซื้อแคตตาล็อกของผมจากฮ่องกง และจีน อีกหนึ่งเดือนต่อมา เน็ตซุเกะแบบเดียวกันวางขายใน eBay ซะแล้ว” เขาว่า

เว็บไซต์ขายสินค้า ซึ่งเป็นเว็บยอดนิยม ลงโฆษณาขายเน็ตซุเกะ“โบราณ” หลายหน้า ซึ่งมีการเสนอขายมาจากจีนและฮ่องกง ราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับของแท้ ซึ่งเริ่มต้นที่หลายร้อยดอลลาร์

นอกจากนั้น นักปลอมแปลงชาวจีนยังมานะบากบั่นเลียนแบบงานหัตถกรรมอื่น ๆ ของญี่ปุ่นอีกด้วย เช่น ด้ามดาบ หรือ “สึบะ” (tsuba) ซึ่งผู้รักงานศิลปะแดนซากุระเสาะหากันนักหนา

แฟลส์เชล ยังเตือนด้วยว่า เว็บไซต์eBay ไม่อันตรายสำหรับนักเลงงานศิลปะ แต่สำหรับนักสะสมมือใหม่แล้ว เสี่ยงที่จะได้ของปลอมมาเชยชม

เน็ตซุเกะเกิดขึ้นเมื่อกว่า 300 ปีก่อน ในช่วงเวลาเดียวกับ“ซาเกะโมโนะ” (sagemono) ซึ่งเป็นกล่องสำหรับใส่ของกระจุกกระจิกของบุรุษ เช่นห่อยาสูบ,ขลุ่ย, กระเป๋าเงิน, เครื่องเขียน ซาเกะโมโนะนี้จะแขวนห้อยกับสายรัดโอบิ และมีเน็ตซุเกะผูกไว้ ไม่ให้หลุด ทั้งนี้ ก็เนื่องจากชุดกิโมโนไม่มีกระเป๋านั่นเอง

ในทรรศนะของนักเลงศิลปะชาวฝรั่งเศสผู้นี้ เน็ตซุเกะ และซาเกะโมโนะ เป็นเครื่องประดับ ที่ไม่มีวันตายในญี่ปุ่น ซึ่งทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือของผู้คนมักตกแต่งด้วยเครื่องประดับห้อยแขวนหลากหลายแบบ ตั้งแต่เพชรพลอย ไปจนถึงตัวการ์ตูนสมัยใหม่

“มันเป็นไอเดียแบบเดียวกันครับ” แฟลส์เชลกล่าว

“เป็นขนบธรรมเนียมที่อยู่ยงคงกระพัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น