เอเอฟพี – คาเธ่ย์ แปซิฟิกเผย ปีที่แล้วบริษัทขาดทุนยับกว่า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบทศวรรษของบริษัท เนื่องจากสายการบินฮ่องกงแห่งนี้กำลังประสบปัญหาขาดทุนจากราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินและธุรกิจขนส่งสินค้าชะลอตัวลง
คาเธ่ย์ แปซิฟิก สายการบินสัญชาติฮ่องกงประสบปัญหาเช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ คือขาดทุนจากสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงเครื่องบินล่วงหน้า ซึ่งเซ็นสัญญาไปเมื่อครั้งราคาเชื้อเพลิงยังพุ่งสูงอยู่ ก่อนที่ราคาจะตกในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันคริสโตเฟอร์ แพรตต์ ประธานบริษัทคาเธ่ย์ฯ คาดการณ์ว่า ปี 2552 นี้จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับสายการบินเลยทีเดียว
เมื่อวันพุธ (11 มี.ค.) สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิกรายงาน ผลประกอบการปี 2551 ขาดทุนสุทธิถึง 8,600 ล้านเหรียญฮ่องกง (1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขาดทุนอย่างรุนแรงทั้งที่เมื่อปี 2550 สายการบินฯ ได้กำไรถึง 7,000 ล้านเหรียญฮ่องกง
แพรตต์กล่าวในแถลงการณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงว่า “อุตสาหกรรมการบินตอนนี้กำลังประสบปัญหาขาดทุนจากราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ปรับตัวในช่วงเศรษฐกิจขาลง คาเธ่ย์ แปซิฟิก คาดว่าปี 2552 จะเป็นปีที่มีความท้าทายรุนแรง และเชื่อว่าความต้องการโดยสารและขนส่งสินค้าทางเครื่องบินจะยังชะลอตัว และหากราคาเชื้อเพลิงยังคงอยู่ในระดับปัจจุบัน ก็จะทำให้มีสายการบินขาดทุนจากสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงล่วงหน้ามากขึ้น”
แพรตต์ยังระบุอีกว่า เมื่อปีที่แล้ว คาเธ่ย์ฯ ประสบปัญหาจากภาวะผันผวนในตลาดอย่างรุนแรง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 พบว่าความต้องการขนส่งสินค้าและเดินทางโดยเครื่องบินยังสูงอยู่ โดยจำนวนผู้โดยสารของคาเธ่ย์ฯ และสายการบินในเครืออย่าง ดรากอนแอร์ เพิ่มขึ้น 7.3% เป็น 25 ล้านคน ขณะที่ราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินก็พุ่งสูงทำลายสถิติไม่ต่ำกว่า 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่แล้วอุปสงค์กลับตกลงอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็ร่วงลงมาเหลือ 40 เหรียญสหรัฐ
ธุรกิจขนส่งสินค้าของคาเธ่ย์เบาบางลงในช่วงไตรมาสหลัง เนื่องจากความต้องการสินค้าที่ผลิตจากทางตอนใต้ของจีนลดลง อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปริมาณขนส่งสินค้าตกลง 1.6% เหลือ 1.6 ล้านตันเท่านั้น
จากสัญญาณความต้องการที่ลดต่ำลง ทำให้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาทางสายการบินได้ระงับแผนการสร้างอาคารสินค้าใหม่ที่สนามบินนานาชาติฮ่องกงเป็นเวลา 2 ปี นอกจากนี้คาเธ่ย์ฯ ยังวางแผนขายเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 5 ลำ และจะไม่มีการต่อสัญญาเช่าซื้อเครื่องบินแอร์บัส 3 ลำของดรากอนแอร์เมื่อหมดสัญญาในปีนี้ เครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง 3 ลำก็หยุดให้บริการเนื่องจากความต้องการขนส่งสินค้าลดลง
ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อยักษ์สายการบินของเอเชีย โดย สิงคโปร์ แอร์, เอเอ็นเอ ของญี่ปุ่น และแควนตัสของออสเตรเลียล้วนตัดสินใจลดเส้นทางบิน ขณะที่ความต้องการเดินทางโดยตั๋วชั้นธุรกิจและชั้นหนึ่งก็ลดน้อยลง จนทำให้สายการบินต่างๆ รวมทั้งคาเธ่ย์ฯ ต้องปรับลดค่าธรรมเนียม อย่าง ตั๋วไปกลับ ฮ่องกง-ปารีสหรือลอนดอน ปัจจุบันราคา (ไม่รวมภาษี) ไม่ถึง 3,000 เหรียญฮ่องกงเท่านั้น