เอเอฟพี – ลึกเข้าไปในหุบเขาที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ทางการจีนอยากให้ผู้คนลืมเลือน นั่นก็คือหมู่บ้านตักเซอร์ หรือที่เรียกว่า หงย่า ในภาษาจีน ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของทะไล ลามะ
หมู่บ้านตักเซอร์ อยู่ในเขตอัมโดซึ่งเป็นดินแดนวัฒนธรรมทิเบต ห่างไกลจากลาซาหลายร้อยกิโลเมตร เดิมอัมโดเป็นแคว้นใหญ่ทางภาคตะวันออกของทิเบต ชิงไห่ ได้กลายเป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐจีน ในปี 2471 ผู้คนสามารถเดินทางเข้ามายังหมู่บ้านตักเซอร์จากซีหนิงเมืองเอกของมณฑลโดยรถยนต์ในเวลาราว 2 ชั่วโมงไปบนท้องถนนที่ไม่มีแม้แต่ป้ายชื่อหมู่บ้านปรากฎอยู่
ย้อนกลับไปเมื่อ 73 ปีที่แล้ว เด็กชายลาโม ดอนดุป ได้ถือกำเนิดในหมู่บ้านนี้ ต่อมาผู้คนรู้จักเขาเด็กชายคนนี้ในฐานะทะไล ลามะ องค์ที่ 14 และผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต เกียรติยศและชื่อเสียงที่ได้มาในภายหลังได้ส่งผลให้เขาต้องลี้ภัยออกจากบ้านเกิดเมืองนอน แถมยังถูกทางการจีนเรียกว่า “หมาป่าในผ้าเหลือง”
จีนได้กล่าวหาว่า ทะไล ลามะ คือผู้สร้างความแตกแยกที่ต้องการอิสระภาพในดินแดนทิเบต รวมถึงพื้นที่อื่นทางภาคตะวันตกของจีน อย่างเช่น ตักเซอร์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวทิเบต แต่องค์ทะไล ลามะ ปฏิเสธข้อหานี้ โดยบอกว่า ท่านแค่ต้องการให้ทิเบตเป็นเขตปกครองตนเองอย่าวมีความหมายมากขึ้นภายใต้การดูแลของจีน แต่ก็ทำให้ผู้นำจีนต้องโกรธเคืองเมื่อท่านไปเป็นประธานในพิธีรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในทิเบต
ในสภาวการณ์เช่นนี้ ตักเซอร์กลับอยู่เหนือข้อจำกัด แม้รัฐบาลจีนพยายามรณรงค์ไม่ให้ชาวทิเบตทำความเคารพรูปทะไล ลามะ ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งระหว่างจีนและทิเบต แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่ดั้นด้นเดินทางไปบนถนนขรุขระ เพื่อเดินทางไปเยี่ยมบ้านเก่าของทะไล ลามะ และแท่นบูชาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสถานที่ทั้ง 2 แห่งนี้ได้รับการดูแลจากญาติๆ ของทะไล ลามะ
ก่อนที่โอกาสครบรอบ 50 ปีที่ชาวทิเบตพ่ายแพ้ในการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลจีน จนทำให้ทะไล ลามะ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ จะมาถึงในวันนี้ (10 มีนาคม) มีตำรวจจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปรักษาการณ์อยู่ที่บ้านเก่าของทะไล ลามะ ทำให้นักข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีไม่สามารถเข้าไปใกล้บ้านหลังนั้นได้
“ที่นี่ไม่ใช่สถานที่สาธารณะ” ตำรวจรายหนึ่งได้บอกกล่าว ระหว่างที่เรียกให้รถหยุดเป็นเวลา 10 นาทีเพื่อตรวจสอบพาสปอร์ตของชาวต่างชาติ
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำลายสัญญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าชาวทิเบตยังสนับสนุนทะไล ลามะ
ยกตัวอย่างเช่นรูปภาพของผู้นำทางจิตวิญญาณ ซึ่ง รอบบี้ บาร์เนตต์ นักวิชาการด้านทิเบตศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ค ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2537 รัฐบาลจีนในสมัยประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ได้สั่งห้ามไม่ให้นำรูปภาพทะไล ลามะ เข้ามาในจีน และข้อห้ามนี้ได้บังคับใช้ในลาซา อดีตเมืองหลวงของทิเบต ในปี 2539 และอีก 2 ปีต่อมารัฐบาลจีนก็ได้สั่งห้ามไม่ให้มีภาพของทะไล ลามะ ในชุมชนชาวทิเบตทุกแห่งที่อยู่ภายในประเทศจีน ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวทิเบตที่ยังถือว่าองค์ทะไล ลามะ เป็นผู้นำศักดิ์สิทธิ์ของตน
“คำสั่งห้ามดังกล่าว ถือเป็นก้าวย่างที่ล้าหลังที่สุดในบรรดานโยบายทั้งหลายแหล่ที่ผู้นำจีนมีต่อทิเบต มันเป็นการยั่วยุอารมณ์โดยไม่จำเป็น และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้” บาร์เนตต์ ระบุ
เหตุการณ์จลาจลเกิดขึ้นที่เมืองลาซาเมื่อวันที่ 14 มีนาคมปีที่แล้ว หลังจากชาวทิเบตได้ประท้วงอย่างสันติเป็นเวลา 4 วันเพื่อรำลีกโอกาสครบรอบ 49 ปีที่ชาวทิเบตลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของจีนเมื่อปี 2502 และการจลาจลในครั้งนั้นก็ได้ลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเมืองลาซา โดยมีภาพปรากฎสู่สาธารณะว่า ในเหตุการณ์จลาจลครั้งนั้นพระสงฆ์บางรูปได้ยกรูปภาพขององค์ทะไล ลามะ ขึ้นมากวัดแกว่งเพื่อป้องกันตัวจากการถูกปราบปราม
อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามของรัฐบาลจีนก็ไม่ได้รับความสนใจจากชาวทิเบตเท่าใดนัก เพราะในวัดแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองซีหนิงเท่าใดนัก ได้แขวนภาพขนาดใหญ่ที่เป็นภาพองค์ทะไล ลามะ สมัยหนุ่มๆ ไว้ในวัด
“เวลาที่ทางการมาตรวจ เราก็จะปลดภาพที่แขวนไว้ลงมา” พระองค์หนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ขณะที่กลุ่มทิเบตเสรี (Free Tibet) ที่มีฐานอยู่ในกรุงลอนดอน ได้วิจารณ์การสอนแนวคิดใหม่ของรัฐบาลจีน ที่ทำให้บรรดาพระและแม่ชีต้องกล้ำกลืนกับการถูกสั่งให้ประณามองค์ทะไล ลามะ
“ปัญหาที่เกิดในทิเบตจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย หากรัฐบาลจีนไม่ยอมรับสิทธิของชาวทิเบตและปล่อยให้พวกเขารักผู้นำทางจิตวิญญาณของเขาต่อไป” นั่นเป็นความเห็นจากกลุ่มทิเบตเสรี